“สมศักดิ์” ห่วงน้ำท่วม”จันทบุรี-ตราด” มอบ”ผู้ตรวจกระทรวง สธ.” ลงพื้นที่ด่วน สั่ง โรงพยาบาล เตรียมพร้อมช่วยประชาชน เผย จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในศูนย์พักพิง 3 แห่ง -จัดทีมสหวิชาชีพเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดเตียง-แจกยาที่จำเป็น-ป้องกันโรคระบาด
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากเหตุอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด ตนได้มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ จึงมอบหมายให้ นพ.มณเฑียร คณาสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 ลงพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และ อสม.ที่ปฏิบัติงานอย่างหนัก โดยในปีนี้ มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปีที่ผ่านมา จึงทำให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ซึ่งจังหวัดตราด มีอำเภอที่ได้รับผลกระทบมาก 2 อำเภอคือ อำเภอเมือง และอำเภอเขาสมิง รวม 12 ตำบล 85 หมู่บ้าน 1,450 ครัวเรือน 3,840 คน เป็นผู้สูงอายุ 760 คน ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 520 คน ผู้ป่วยติดเตียง 15 คน ส่วนจังหวัดจันทบุรี มีอำเภอที่ได้รับผลกระทบ ในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง, มะขาม, ขลุง, โป่งน้ำร้อน, ท่าใหม่, นายายอาม, เขาคิชฌกูฏ และแก่งหางแมว รวม 34 ตำบล 200 หมู่บ้าน 14,120 คน ผู้ป่วยติดเตียง 35 ราย
“มาตรการและความช่วยเหลือ ที่ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการ คือ 1.จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว 3 แห่ง 2.จัดทีมสหวิชาชีพเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ โรคเรื้อรัง และกลุ่มเปราะบาง ให้การดูแลตามปัญหา รวมถึงการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต 3.แจกยาที่จำเป็นสำหรับรักษาการป่วยเบื้องต้นรวมทั้งยาป้องกันน้ำกัดเท้า 4.ดูแลสิ่งแวดล้อมในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง เพื่อป้องกันโรคระบาด และ 5.ติดตามสถานการณ์น้ำต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อมยาและเวชภัณฑ์รองรับประชาชน” รมว.สาธารณสุข กล่าว
นายสมศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า การดูแลปฏิบัติตนในช่วงที่ประสบอุทกภัย มีคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุข คือ 1.เฝ้าระวังป้องกันความเจ็บป่วยด้วยโรคที่มากับอุทกภัย ได้แก่ โรคตาแดง อุจจาระร่วง น้ำกัดเท้า ไข้หวัด 2.ระวังการเกิดอุบัติเหตุจากไฟฟ้าดูด/ไฟฟ้าช็อต และ 3.ระวังอุบัติเหตุจากการจมน้ำ และการบาดเจ็บจากสัตว์มีพิษ โดยตนยังได้เน้นย้ำให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วนแล้ว เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้ได้มากที่สุด
- 86 views