ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายอีกฉบับของ สธ. “ร่างพ.ร.บ.สุขภาพจิต (ฉบับที่..) พ.ศ...” ผ่านทางเว็บไซต์ LAW ระบบกลางทางกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.-8 ส.ค.นี้ ประเด็นสำคัญเพิ่มอำนาจหน้าที่สุขภาพจิตและยาเสพติด ตั้งกองทุนสุขภาพจิตแห่งชาติ

จากนโยบาย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งปรับภารกิจยาเสพติดจากกรมการแพทย์ไปกรมสุขภาพจิต โดยต้องการให้เกิดการทำงานบูรณาการร่วมกัน ให้การรักษาผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดไม่ติดขัด พร้อมเดินหน้ากองทุนยาเสพติดฯ หวังใช้เงินยึดทรัพย์จาก ป.ป.ส. และมอบให้กรมสุขภาพจิตดำเนินการทางเอกสารข้อกฎหมายต่างๆ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สมศักดิ์ สั่งควบภารกิจยาเสพติด “กรมแพทย์ ไป กรมจิต” พร้อมเดินหน้ากองทุนฯ ใช้เงินยึดทรัพย์ป.ป.ส.)

 

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ LAW ระบบกลางทางกฎหมาย เผยแพร่ (ร่าง) พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) สุขภาพจิต ฉบับที่.. พ.ศ...  โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. จนถึงวันที่ 8 ส.ค.2567 โดยประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.ดังกล่าว หน่วยงานรัฐและเอกชน สามารถเข้าแสดงความคิดเห็นครั้งนี้ได้

โดยความเป็นมา สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 มีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ปัญหาสุขภาพจิตเกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติดและเป็นปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น นิยามความผิดปกติทางจิตจึงต้องหมายรวมถึงยาเสพติดด้วย การดำเนินงานแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตและยาเสพติดจำเป็นต้องมีกองทุนสุขภาพจิตแห่งชาติเพื่อประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตและยาเสพติด เพิ่มองค์ประกอบของคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ให้สามารถบูรณาการงานร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

รวมทั้งเพิ่มหน้าที่และอำนาจให้ครอบคลุมการสร้างเสริมสุขภาพจิตและพัฒนาการตามวัย การป้องกันและการควบคุมปัจจัยที่คุกคามสุขภาพจิต การคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต  การบำบัดรักษาทางสุขภาพจิตและการฟื้นฟูสมรรถภาพ ตลอดจนเพิ่มการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ มาตรฐาน และการควบคุมกำกับให้หน่วยงานของรัฐและเอกชนดำเนินงานสุขภาพจิต และเพิ่มการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่ออื่นใด เพื่อไม่ให้เป็นปัจจัยที่คุกคามสุขภาพจิตด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญของร่างกฎหมาย คือ

แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 ดังต่อไปนี้

                  (1) ปรับปรุงนิยามคำว่า “ความผิดปกติทางจิต” ให้รวมถึงอาการผิดปกติของจิตใจที่เกิดจากยาเสพติดด้วย (ปรับปรุงมาตรา 3)

                  (2) ให้มีกองทุนสุขภาพจิตแห่งชาติ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานสุขภาพจิต ตามพระราชบัญญัตินี้ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 3 และเพิ่มหมวด 3/1 มาตรา 41/2 ถึงมาตรา 41/5)

                  (3) แก้ไขเพิ่มเติมให้เพิ่มกรรมการโดยตำแหน่งที่มีความสำคัญในการดำเนินงานสุขภาพจิตแบบบูรณาการ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5 วรรคหนึ่ง (3))

                  (4) แก้ไขเพิ่มเติมให้เพิ่มหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ในการเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนสุขภาพจิตระดับชาติ เกี่ยวกับเรื่องพัฒนาการตามวัย การบำบัดรักษาทางสุขภาพจิต และการฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ มาตรฐาน และการควบคุมกำกับ ให้หน่วยงานของรัฐและเอกชน ดำเนินการเรื่องดังกล่าว ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่ออื่นใด เพื่อไม่ให้เป็นปัจจัยที่คุกคามสุขภาพจิตด้วย (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 10)

                  (5) ให้มีการดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพจิตและพัฒนาการตามวัย การป้องกันและการควบคุมปัจจัยที่คุกคามสุขภาพจิต (เพิ่มหมวด 2/1 มาตรา 20/2 ถึงมาตรา 20/4)

                  (6) แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษ กรณีมีผู้ฝ่าผืนคำสั่งอธิบดีที่ออกตามมาตรา 20/4 (เพิ่มมาตรา 50/2)

เข้าแสดงความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.สุขภาพจิต ได้ที่ คลิก เว็บไซต์ LAW