สมศักดิ์ ชวนอสม.แจ้งเบาะแสยาเสพติด ไร้กังวลปลอดภัย ไม่มีปรากฎชื่อ แต่ยึดทรัพย์ได้รับเงินส่วนแบ่ง 5% ไม่มีใครรู้! พร้อมโปรยยาหอม อสม. ถก 2 ธนาคารหาช่องทางดึงเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ให้ อสม.ใช้ก่อนราว 3 แสนจาก 5 แสนบาท หวังเจรจาปลอดดอกเบี้ยในอนาคต
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ที่ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จังหวัดนนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวตอนหนึ่งในการเปิด “โครงการ อสม. ทั่วไทย ร่วมใจปักหมุดผ่านแอป “พ้นภัย” เพื่อกลุ่มเปราะบาง ว่า ตนได้พูดคุยปรึกษาหารือกับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข โดยจะแบ่งงานให้เป็นเรื่องเป็นราว จะยกเอายาเสพติด หรือการบำบัดฟื้นฟูให้ไปอยู่ใน “กรมสุขภาพจิต” พวกจิตเวชต่างๆ ที่กรมสุขภาพจิตก็ดูแลอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีเกือบ 5 พันเตียง ในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช แต่จะบวกจิตเวชยาเสพติดเข้าไปด้วย
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า โดยจะรวมอยู่ในกรมสุขภาพจิตและยาเสพติด ซึ่งปลัดสธ.ได้ออกคำสั่งอำนาจในการบริหารแผ่นดิน ซึ่งอาจจะมีคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็เป็นเรื่องบริหารจัดการ โดยจะมีการปรับแก้กฎหมายต่อไป ซึ่งในอำนาจประมวลกฎหมายยาเสพติดมีตั้งแต่ป้องกัน ปราบปราม ฟื้นฟู บำบัดรักษา และเรื่องบูรณาการระหว่างประเทศในกลุ่มลุ่มน้ำโขง ที่อยู่ใกล้แหล่งผลิตยาเสพติด และบูรณาการ ซึ่ง 5 มาตรการเป็นเรื่องกฎหมายเก่าที่ถูกยกเลิกไปแล้ว ซึ่งยังมีมาตรการที่ 6 คือ ยึดทรัพย์ เมื่อจับยาได้
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการ ต้องฝากการปกครอง ผู้ว่าฯต้องใช้กระบวนการยึดทรัพย์ด้วย ที่เอามาพูดกับ อสม. เพื่อให้เข้าใจและใช้ข้อมูลของประมวลกฎหมายยาเสพติดอย่างเป็นประโยชน์ ซึ่งการยึดทรัพย์ในอดีตต้องใช้เวลา 8 ปี ทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงจะยึดทรัพย์ได้ และแบ่งรางวัลให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญบางทีถึงศาลฎีกาก็หลุดอีก ดังนั้น มีการแก้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ทำให้การยึดทรัยพ์เร็วมากเพียง 2 ปี ตอนนี้ยึดได้เกือบหมื่นล้านบาท อดีตยึดได้ 20 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเราจะขอให้มาใช้ในกองทุนสุขภาพจิตและยาเสพติด
“ที่ผมอยากบอกคือ ใครแจ้งเบาะแสได้ส่วนแบ่ง 5% หากคนทำคดี ตั้งแต่ตำรวจ ฝ่ายปกครองต่างๆ ได้แบ่ง 25% ซึ่งพวกนี้คนแจ้งเบาะแสไม่ต้องกังวล เป็นความลับหมด เบอร์โทร 1386 ชื่อจะไม่ถูกปรากฎ แต่เวลายึดทรัพย์ได้ จะแบ่งกันในส่วนที่เกี่ยวข้อง และผมจะให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ มี 2 ท่าน ไปอธิบายเรื่องนี้ และจะตั้งคณะกรรมการมารณรงค์เรื่องนี้ และพ.ร.บ.อสม. อย่างกรณีพ.ร.บ.อสม. เมื่อทำมาแล้วความมั่นคงเกิดขึ้น" นายสมศักดิ์ กล่าว
วันนี้ได้เชิญธนาคารออมสินและ ธกส. มาด้วย ได้มาพูดคุยว่าเมื่อเรามีความมั่นคงและมีพรบ.นั้น ต้องคิดว่า ธนาคารไม่กลัวเราลาออก เมื่อมีพรบ.แล้ว อสม.แต่ละคนมีเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ 5 แสนบาทอยู่แล้ว ซึ่งตนได้คุยกับธนาคาร ธกส. และ ธนาคารออม แล้วว่าเอามาใช้ก่อนสัก 100,000 -200,000 บาทดีไหม นี่แหละถึงต้องมีกฎหมาย ถ้ามีกฎหมายความมั่นคงจึงเกิดขึ้น เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ 500,000 บาทถ้าเรามีกฎหมายเรามีความมั่นคงที่ทำให้ธนาคารเชื่อถือได้ วันนี้เรากู้ ธนาคารเอาดอกเบี้ยประมาณ 8% หรือ 67 สตางค์ หากกู้ 20,000 ต้องผ่อนเดือนละ 400 แต่ถ้ามีพระราชบัญญัติเป็นของตัวเราเองความมั่นคงก็จะเกิดขึ้น ธนาคารก็จะเข้าหาเราเอง ถ้ากู้คนละ 200,000 บาท เงินต้นคือ 2 แสนล้านบาท 1 ปี เราต้องเสียดอกเบี้ย 1.6 หมื่นล้านบาท ดูแล้วมันเยอะไป
เพิ่มงานอสม.ช่วยเรื่อง NCDs หวังให้ สปสช.มาจ่ายดอกเบี้ยให้อสม.
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้จะทำยังไงให้ลดลงได้หรือไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเลย เช่น ขอให้รัฐบาลช่วย ขอทำงานเพิ่ม ทำงานเพิ่มให้รัฐบาลเห็นใจ หรือทำงานให้กองทุน สปสช. เห็นใจและเข้ามาช่วย ตนคิดว่าจะทำยังไงให้สปสช. แบ่งเงินมาให้บ้าง มาถึงวันนี้ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2 เดือนกับ 20 วัน ได้เห็นว่าหน่วยงานมีอะไร และที่มองเห็นแล้วว่าให้อสม.มาช่วยได้เพื่อจะแลกกับเงินของ สปสช. ยกตัวอย่างคือ ให้อสม.เข้ามาช่วยเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน-ความดัน เพราะโรคขึ้นอยู่กับเรื่องของการกิน ถามว่าหมอช่วยได้หรือไม่ หมอช่วยรักษาได้ แต่ก่อนรักษาให้อสม.ช่วยก่อน
"ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้วเพื่อดูเรื่องการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs มองว่าเมื่อคนป่วยน้อยลง ต้องคิดแล้วว่าเงินที่ใช้ กับคนป่วยประหยัดได้เท่าไหร่ สมมุติว่าประหยัดได้ 2 หมื่นล้าน เกี่ยวกับเรื่องโรคเบาหวานความดัน โรคไต จะเห็นว่าถ้าทำงานเพิ่มนิดหน่อยก็ทำให้มีเงินเพิ่ม พอได้เงินเพิ่มเอาเงินส่วนนี้ให้ สปสช.ไปจ่ายดอกเบี้ยแทนได้หรือไม่ นี่คือความคิดที่มีต่ออสม.ทุกท่าน ถือเป็นกำลังใจและของขวัญที่ให้ในนามรัฐบาล" นายสมศักดิ์ กล่าว
- 408 views