พล.อ.ท.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ชวนมารู้จัก "94 ความเชี่ยวชาญแพทย์ไทย และการแอบอ้างความเชี่ยวชาญ" ชี้ คำว่า "ชะลอวัย ความงาม เสริมสวย" ยังไม่อยู่ใน 94 สาขาความเชี่ยวชาญ เตือน! หมอแอบอ้างเป็นผู้เชี่ยวชาญ โทษหนักจำคุก 1 ปี
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2567 พล.อ.ท.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น “ 94 ความเชี่ยวชาญแพทย์ไทย และการแอบอ้างความเชี่ยวชาญ” โดยระบุว่า แพทยสภาชวนมารู้จักความเชี่ยวชาญของแพทย์ไทย ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนี้
1. แพทยสภาเป็นผู้กำกับดูแล หลักสูตรความเชี่ยวชาญของแพทย์ไทยด้านต่างๆ ผ่านราชวิทยาลัยแพทย์และวิทยาลัยแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ทั้ง 15 แห่ง และ 1 สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันฯ เป็นผู้กำหนดมาตรฐาน โดยมีคณะแพทยศาสตร์และสถาบันฝึกอบรมต่างๆเป็นผู้ จัดการเรียนการสอน ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน
2. แพทยศาสตร์บัณฑิต ที่จบการศึกษา 6 ปี ถือว่าเป็นแพทย์ทั่วไปยังไม่มีความเชี่ยวชาญใดๆ ต้องเข้าโปรแกรมการฝึกอบรมต่อ แพทย์ประจำบ้าน อีก 3 ถึง 7 ปี จึงเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ตามกฎหมาย โดยต้อง สอบผ่านได้รับ บัตรอนุมัติหรือวุฒิบัตรก่อน ถึงจะใช้คำว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ โดยสามารถตรวจสอบ ชื่อและความเชี่ยวชาญ ของแพทย์แต่ละท่าน ได้ที่เว็บไซต์แพทยสภา www.tmc.or.th หัวข้อตรวจสอบแพทย์
3. ปัจจุบันมีความเชี่ยวชาญ ที่ได้รับวุฒิบัตรและบัตรอนุมัติ ตามกฎหมาย 94 สาขา(2567) เป็นสาขาหลัก 41 สาขาและอนุสาขา 53 สาขา ภายใต้อนุกรรมการฝึกอบรมและสอบ ของราชวิทยาลัยและสมาคม (ตามเอกสารแนบ) โดยมีระยะเวลาการ อบรม ตั้งแต่ 3-5 ปี ในสาขาหลัก(สีฟ้า) และเรียนต่ออนุสาขา เพิ่มอีก 2 ปี(สีดำ) ปัจจุบันมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กว่า 40,000 คนจากแพทย์ทั่วประเทศ 76,000 คน โดยจบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญปีละกว่า 2,000 คน
4. การอบรมระยะสั้นหรือฝึกอบรมโดย สถาบันวิชาการต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ที่ไม่ได้รับการรับรองโดยแพทยสภา เป็นการอบรมเพื่อเพิ่มความรู้ นั้น แม้ได้รับประกาศนียบัตรจากองค์กร ไม่สามารถใช้คำว่า เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญเฉพาะสาขาหรือ ผู้เชี่ยวชาญตามกฎหมายได้ เช่นเดียวกับ แพทย์จะโฆษณาว่าทำมานานจำนวนมากรายแล้วจะ โฆษณา เป็นผู้เชี่ยวชาญไม่ได้ ต้องผ่านการอบรมมาตรฐานเท่านั้น
5. การอ้างเป็นผู้ชำนาญการเฉพาะสาขาหรือผู้เชี่ยวชาญถือเป็นความผิด ตามกฎหมาย ทั้งข้อบังคับ จริยธรรมแพทยสภา และพรบ. วิชาชีพเวชกรรม ดังนี้ 5.1 กรณีเป็นแพทย์จะผิดข้อบังคับจริยธรรม ถูกตั้งคณะกรรมการจริยธรรม สอบสวนข้อมูล และมีมติกรรมการแพทยสภาลงโทษ มีโทษตั้งแต่ตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตจนถึงเพิกถอนทะเบียน ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งอยู่ ในอำนาจแพทยสภา และมีลงโทษ แทบทุกเดือน 5.2 ผิดกฎหมายเป็นคดีบ้านเมืองต่อจาก คดี 5.1 คือผิดตามพรบ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 28 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 44 คือจำคุกไม่เกิน 1 ปีและปรับ ไม่เกิน 10,000 บาท และหากมีความเสียหาย ต่อผู้ป่วยจะเป็นคดีแพ่งและอาญาต่อไป จะเป็นการดำเนินคดีโดยตำรวจ หลังผิด 5.1
6. ดังนั้นการอ้าง หรือโฆษณาต่อประชาชน ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ 1 ใน 94 สาขา โดยไม่ได้จบการศึกษาจริง ถือเป็นความผิด และการอ้างสาขา ความเชี่ยวชาญที่ไม่ได้อยู่ใน 94สาขาตาม กฎหมาย โดยตั้งขึ้นใหม่ ตามประสบการณ์ตนเอง เพื่อประโยชน์ ในการโฆษณา เป็นความผิดเช่นกัน เช่นผู้เชี่ยวชาญด้าน ความงาม ผิวพรรณ ร้อยไหม ปรับโครงสร้างใบหน้า ฯลฯ ซึ่งมีผู้แจ้ง เป็นเรื่องร้องเรียนและดำเนินคดีกันทุกเดือน ถ้าพบเห็นส่งหลักฐานแจ้งทางเว็บไซต์แพทยสภาได้ครับ
7. ในการประชุม แพทยสภา ครั้งที่ 7 วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ได้มีมติให้ตรวจสอบ คุณวุฒิแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายรายในโฆษณา รวมถึง ตรวจสอบความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ ของวุฒิสมาชิก ที่ปรากฏในสื่อ หากไม่ถูกต้อง มีมติให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ
8. สำหรับ สาขาที่มีการสอบถาม จาก ประชาชนบ่อยครั้งว่าเป็น สาขาเชี่ยวชาญหรือไม่ เช่น ชะลอวัย ความงาม เสริมสวย เหล่านี้ ยังไม่อยู่ใน 94 สาขาความเชี่ยวชาญ ที่แพทยสภา รับรองตามกฎหมาย จึงไม่สามารถใช้คำว่า เชี่ยวชาญ ด้านความงาม หรือ เสริมสวย หรือ ชะลอวัยได้ คุณหมอโปรดตรวจสอบและระมัดระวังด้วยครับ
- 746 views