เครือข่ายเยาวชนฯ-เครือข่ายแพทย์ ยื่นหนังสือ สธ.หนุนนโยบายให้กัญชาเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 หมอสมิทธิ์ โต้ผลกัญชาติดยากกว่าบุหรี่หรือเหล้า เป็นงานวิจัยเก่า ยืนยันกัญชาติดเร็วกว่า เผยวิจัยใหม่กัญชาทำให้โอกาสติดยา 30 %
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายเยาวชน ไม่นะกัญชาและยาเสพติด (YNAC) นำโดยนายยศกร ขุนภักดี ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ และรศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ สมาคมนิติเวชแห่งประเทศไทย (เครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด) เดินทางมาให้กำลังใจ พร้อมยื่นหนังสือถึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ชี้แจงข้อมูลผลกระทบและแนวทางข้อเสนอแนะของนโยบายกัญชา สนับสนุนนโยบายรัฐบาลให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 เพื่อใช้กัญชาในทางการแพทย์เท่านั้น โดยไม่ควรอนุญาตให้มีการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ และเพื่อที่จะได้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คกก. ป.ป.ส.) อย่างเร่งด่วน โดยมีนายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับหนังสือ
นายยศกร กล่าวว่า ในวันนี้ เครือข่ายฯ เดินทางมาให้กำลังใจ เนื่องจาก สธ. เป็นหัวหลักในการนำกัญชากลับเป็นยาเสพติด และล่าสุด มติคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้กัญชากลับเป็นยาเสพติด เครือข่ายฯ เป็นกลุ่มเยาวชนที่ลงชื่อกัน 2 แสนคน จึงอยากนำกำลังใจมาให้ อยากให้ทุกคนได้ฟังความเห็นจากคนส่วนใหญ่ และจากร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ เป็นร่างที่ประชาชนเห็นชอบด้วยเป็นจำนวนมาก โดยมีประชาชนกว่า 80,000 คน หรือ 80% เห็นด้วยกับการนำกัญชากลับเป็นยาเสพติด จึงขอย้ำว่า เสียงส่วนใหญ่สำคัญที่สุด
รศ.นพ.สมิทธิ์ กล่าวว่า การที่มีพูดกันว่ากัญชาติดยากกว่าบุหรี่หรือเหล้าโดยติดราว 20-30 % ส่วนกัญชาประมาณ 9 % เป็นงานวิจัยเก่าตั้งแต่ปี 2011 และงานวิจัยนี้มีหลายประเด็นและเจอว่ากัญชาแม้ว่าเปอร์เซ็นต์ติดยากกว่าแต่ติดเร็วกว่า คือใช้ไม่กี่ปีแล้วติด แต่ถ้าเป็นบุหรี่ เหล้าต้องใช้นานๆแล้วติด เพราะฉะนั้นกัญชาติดเร็วกว่า สุดท้ายงานวิจัยนี้ถ้าไม่หยิบมาแค่ส่วนเดียว จะพบว่ามีการเขียนไว้ว่ากัญชาต้องควบคุมอย่างเข้มงวด เพราะติดได้เร็วกว่ามาก แล้วมีงานวิจัยใหม่เพิ่งเผยแพร่ในศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่ากัญชาทำให้โอกาสติดยาได้ประมาณ 30 % จะเห็นว่าจาก 9% เพิ่มเป็น 30 %นานแล้ว โดยอ้างอิงงานวิจัยปี 2021-2022 ซึ่งเป็นงานวิจัยใหม่ ดังนั้น งานวิจัยปี 2011 ทิ้งไปได้แล้ว โบราณแล้ว แต่ควรเชื่องานวิจัยใหม่ว่ากัญชาติดได้ประมาณ 30 %
“อย่าพูดว่า ใช้กัญชาไม่ติดไม่บ้า มีงานวิจัยบอกว่า การเริ่มใช้กัญชาในวัยรุ่นมีความเสี่ยงในการติดกัญชา มีปัญหาจิตเวช มีปัญหาเรื่องพัฒนาการ ระบบต่าง ๆ เลยอยากให้กลับไปเป็นยาเสพติดก่อน ในอนาคตเปลี่ยนแปลงอย่างไรค่อยมาพูดคุยกัน ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีเสรี มีพระราชบัญญัติมาก่อน ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่เอากัญชาออกมาก่อน จึงอยากให้กลับไปเป็นยาเสพติด ให้มีการควบคุมก่อน ส่วนการปลดล็อคกัญชาเสรีแบบประเทศอื่น ต้องมีการทำประชามติ ประเทศอื่น ๆ ก็มีการทำประชามติกันก่อน มองว่า ในอนาคต ถ้าไทยจะปลดล็อคต้องออกพระราชบัญญัติก่อน” รศ.นพ.สมิทธิ์ กล่าว
นายกองตรี ธนกฤต กล่าวว่า ตนจะนำหนังสือยื่น รมว.สธ. ต่อไป อย่างไรก็ตาม ทั้งฝั่งที่แสดงความคิดเห็นไม่สนับสนุนกับฝั่งที่แสดงความคิดเห็นเรื่องสนับสนุนนั้น สธ. จะนำข้อมูลทั้ง 2 ฝ่ายมาหาแนวทางเพื่อกำหนดวิธีการ บทบาท หรือหลักเกณฑ์ เพื่อให้ตอบรับกับข้อกฎหมาย ให้หลายฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ นำกัญชามาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด จึงต้องรับฟังทุกด้าน
จากนั้นในเวลา 15.00 น. เครือข่ายเยาวชน ไม่นะกัญชาและยาเสพติด (YNAC) และตัวแทนเครีอข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ได้เดินทางไปสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพื่อยื่นหนังสือ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เรื่อง ขอเชิญชวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด
เรียน ประธานและคณะกรรมการ ป.ป.ส.
ตามที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ซึ่งถือเป็นการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ในวันนี้ทางเครือข่ายฯ จึงเดินทางมาขอเชิญชวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. เห็นชอบร่างประกาศฯ ฉบับนี้ และขอแสดงความขอบคุณล่วงหน้าสำหรับการตัดสินใจที่ถูกต้อง เที่ยงธรรม และกล้าหาญ โดยคำนึงถึงการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเยาวชน ด้วยการยุติการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการโดยไม่มีการควบคุมอย่างชัดเจน
การกำหนดนโยบายกัญชาเช่นนี้ สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทยที่แสดงออกในหลายวาระที่ผ่านมา อาทิเช่น ผลสำรวจประชาชนของนิด้าโพลเมื่อวันที่ 14-15 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ที่พบว่าร้อยละ 75 ของประชาชนต้องการให้นำกัญชากลับเข้าไปเป็นยาเสพติด และกรณีประชาชนกว่า 200,000 คนร่วมลงชื่อกับเครือข่ายเยาวชนไม่นะกัญชาและยาเสพติด เพื่อสนับสนุนให้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดและใช้เพื่อการแพทย์เท่านั้น
นอกจากนี้ ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ เป็นร่างที่ประชาชนเห็นชอบด้วยเป็นจำนวนมาก โดยมีประชาชนกว่า 80,000 คน (คิดเป็นเกือบร้อยละ 80 ของประชาชนที่แสดงความคิดเห็นทั้งหมด) ดังนั้น ร่างนี้จึงควรให้ความสำคัญมากที่สุด ถึงแม้ว่าจะมีนักวิชาการพยายามเสนอร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขอันใหม่ขึ้นมา โดยไม่สนใจเสียงของประชาชนที่สนับสนุนร่างนี้
สุดท้าย ถึงแม้จะมีการใช้ประกาศกระทรวงฉบับนี้ในอนาคต กัญชาก็ยังสามารถใช้ทางการแพทย์ได้ โดยการพัฒนาระบบบริการกัญชาทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข หรือการออกประกาศหรือกฎกระทรวงที่เหมาะสม หรือการแก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติด ตลอดจนการพัฒนากฎหมายกัญชาเป็นการเฉพาะเพื่อออกมาใช้ในอนาคต ซึ่งต้องทำหลังจากนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดก่อนแล้วเท่านั้น เพื่อให้เกิดสภาพการคุ้มครองไม่ให้เกิดโทษจากกัญชากับประชาชนและเยาวชน
ลงชื่อ นายยศกร ขุนภักดี ผู้แทนเครือข่ายเยาวชนไม่นะกัญชาและยาเสพติด
และ รศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ ผู้แทนเครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด
- 337 views