“ปานเทพ- หมอธีระวัฒน์ -รสนา” แท็กทีมยื่นข้อเสนอล่าสุด “รมว.สมศักดิ์” ร่างประกาศกัญชา ทวงถามทำไมเอากัญชงเป็นยาเสพติด ทั้งที่ใช้ประโยชน์เส้นใย ขณะที่ “ฟ้าทะลายโจร” ถูกถอดออกจากคู่มือเวชปฏิบัติทางการแพทย์รักษาโควิด19 ด้าน “ธนกฤต” รับเรื่องมอบให้กรมการแพทย์รวมข้อมูลใน 1 สัปดาห์กรณีเหตุผลถอดฟ้าทะลายโจร ส่วนข้อเสนอร่างกัญชาเสนอหน่วยงานเกี่ยวข้องนำไปพิจารณา
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 กรกฎาคม ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรม และระบบประสาท ในฐานะที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา เข้ายื่นหนังสือถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เพื่อยื่นข้อเสนอ 2 ข้อ คือ
1. ยื่นข้อเสนอใหม่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ให้กัญชาเป็นยาเสพติดแบบมีเงื่อนไข โดยขอให้ทบทวนฉบับคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด
2. ยื่นหนังสือสอบถามรายงานการประชุมและการวิจัยอันเป็นสาเหตุของการถอดฟ้าทะลายโจรออกจากเวชปฏิบัติโรคโควิด-19 แต่ยังคงฟาวิพิราเวียร์อยู่
ทั้งนี้ โดยมีนายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข รับเรื่องดังกล่าว พร้อมกล่าวหลังรับเรื่องว่า กรณีฟ้าทะลายโจร ทางกรมการแพทย์จะนำข้อมูลเอกสารที่ทางผู้ร้องขอเอกสาร โดยจะเร่งให้ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ส่วนเรื่องร่างประกาศกระทรวงฯ เรื่องกัญชาที่มีการเพิ่มเติมแก้ไขเข้ามานั้น โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามสมควร และ2.ในส่วนของตนจะพิจารณาตรวจสอบว่า ข้อเสนอขัดกับประมวลกฎหมายยาเสพติดหรือไม่ เพราะศักดิ์กฎหมายไม่เท่ากัน จะไปขัดกับกฎหมายใหญ่ไม่ได้ ซึ่งประมวลกฎหมายยาเสพติด เมื่อระบุว่าเป็นยาเสพติด ก็ต้องเป็นยาเสพติด แต่กรณีที่ว่าต้องมีเงื่อนไข จะทำได้หรือไม่ ก็ต้องพิจารณาข้อกฎหมายก่อน
นายปานเทพ กล่าวว่า วันนี้(16ก.ค.) มายื่น 2 เรื่อง คือ ฟ้าทะลายโจร และกัญชากัญชง โดยทั้งหมด ถือเป็นสมุนไพรมีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่วันนี้นโยบายกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างไรไม่ทราบ จะเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดแบบไม่มีเงื่อนไข ขณะที่ฟ้าทะลายโจร อยู่ในคู่มือเวชปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 2564 แต่ล่าสุดคู่มือเวชปฏิบัติฉบับที่ 28 ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2567 ประกาศในเว็บไซต์กรมการแพทย์ กลับถอด “ฟ้าทะลายโจร” ออกเป็นครั้งแรก จึงต้องมาสอบถามเรื่องนี้
นายปานเทพ กล่าวว่า ตนได้ยื่นข้อเสนอใหม่ เป็นร่างประกาศรายชื่อยาเสพติดให้โทษ ซึ่งเป็นการใช้กัญชา กัญชง อย่างมีเงื่อนไขเพื่อให้ผู้ที่ใช้อย่างถูกต้องอยู่เดิม สามารถใช้ได้อย่างถูกกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดพ.ศ.2564 ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตว่า มีการล็อกสเปกให้กับกลุ่มทุนใหญ่ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีการกีดกันแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน รวมถึงแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่ให้จ่ายสารสกัดกัญชา รวมถึงกัญชง เนื่องจากใน พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ในมาตรา 40 ระบุว่าจะต้องมีเภสัชกรดูแลตั้งแต่กระบวนการผลิต นั่นคือการปลูก ซึ่งต่างจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 และ 8 ที่เปิดช่องให้แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน รวมถึงแพทย์แผนปัจจุบัน สามารถดำเนินการในส่วนนี้ได้
ดังนั้น เมื่อมีการกำหนดเรื่องดังกล่าวขึ้นมาแล้ว ผู้ที่จะทำได้ คือจะต้องเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลเอกชน ฟาร์มปิดขนาดใหญ่ กลุ่มทุนเพราะค่าจ้างเภสัชกรเดือนละหลักแสนบาท ตนจึงมองว่าเรื่องนี้เป็นการล็อกสเปคให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ อีกทั้ง ในร่างประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่กำหนดว่าห้ามนำเข้าสารสกัดกัญชากัญชง แสดงว่ามีอะไรหรือไม่
“นี่คือการล็อกเปกกลุ่มทุนผูกขาดทางการแพทย์ไม่กี่รายใช่หรือไม่ ถ้าไม่แก้ไข ผมจึงเสนอร่างกฎหมายวัดใจรัฐมนตรีว่า ท่านมีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะถ้าผมแก้ไขปัญหาที่สังคมห่วงใยได้ก่อนเวลา ด้วยเงื่อนไขไม่ผูกขาดทางการแพทย์ ท่านต้องรับร่างประกาศที่ผมเสนอ ระบุยาเสพติดให้โทษแบบมีเงื่อนไข หลักการคือคุ้มครองคนที่ทำถูกกฎหมายทั้งหมด ทั้งผลิตภัณฑ์ ทั้งวิชาชีพการแทพย์ทุกประเภท ไม่มีการล็อคสเปควิชาชีพทางการแพทย์ และผู้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายสมุนไพรควบคุม ตราบใดที่เขาปฏิบัติตามกฎหมายก็ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดให้โทษ ท่านกล้าให้หรือไม่ถ้าไม่คิดผูดขาดจริง วัดใจกันตรงนี้” นายปานเทพ กล่าว
นายปานเทพ กล่าวว่า ข้อเสนอร่างกัญชา มีการปรับปรุง โดยขอให้สารสกัดจากกัญชาที่ปลูกภายในประเทศเฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดที่ไม่ใช่สารสกัดตาม (ก) และ (ข) ซึ่งมีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล(tetrahydrocannabinol,THC) ไม่เกินปริมาณร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก และเพื่อให้ มีความหมายว่า แพทย์ทุกสาขาอาชีพที่มีกฎหมายรองรับและผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนตามกฏหมายแล้วย่อมต้องมีความปลอดภัย สามารถใช้และจ่ายยาสารสกัดกัญชาที่ปลูกในประเทศ แม้มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล(tetrahydrocannabinol,THC) เกินปริมาณร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักได้โดยไม่เป็นยาเสพติด ซึ่งจะสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของการรักษาที่มีอยู่ในประเทศไทย
และแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 2(3) (ก) ให้ครอบคลุมเพิ่มเติมมากขึ้นรวมถึงการใช้ช่อดอก ยาง หรือสารสกัดที่ถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการรักษาของผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ขั้น1 ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์ ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5
(ข่าวเกี่ยวข้อง : “ปานเทพ” ยื่น 5 แนวทางคุม “กัญชา” เป็นยาเสพติดแบบมีเงื่อนไข หวัง “สมศักดิ์” รับดีลยุติขัดแย้ง)
เมื่อถามกรณีกัญชง เพราะแยกยากเนื่องจากมีสาร THC นายปานเทพ กล่าวว่า กัญชง มีTHC ต่ำ และไม่เอามาสูบ ไม่เหมือนกัญชา สภาพความซีเรียสปัญหาไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่มี CBD และใช้เส้นใยเป็นสำคัญ
ผู้สื่อข่าวถามว่ารมว.สธ.บอกว่าข้อเสนอร่างประกาศฯอันใหม่ให้หารือกับข้าราชการ และดูเหมือนยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงว่า จะยังไม่เสนอต่อคณะกรรมการป.ป.ส. นายปานเทพ กล่าวว่า ชัดเจนว่าเป็นไปไม่ได้ที่เห็นด้วยกับข้อเสนอตน เพราะถ้าได้รับความใส่ใจจริง จะต้องดึงกลับไปยังคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษพิจารณาทบทวน ต้องมีคำสั่งชัดเจนก่อนจะเสนอบอร์ดป.ป.ส.
“วันนี้จะเอาร่างเดิมเข้าป.ป.ส.ร่างเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นร่างที่ไม่มีเงื่อนไขอะไร อย่างร่างอื่น หรือร่างประกาศที่ผมเสนอนั้น ก็ยังไม่ผ่านประชาพิจารณา และยังไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดเลย หากจะส่งไปให้ป.ป.ส.พิจารณา ก็เหมือนไม่ได้พิจารณา เพราะไม่ผ่านขั้นตอน เรียกว่าเป็นแท็กติกหนึ่งในการปฏิเสธ” นายปานเทพ กล่าว
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ทำไมถึงเอา “กัญชง” เป็นยาเสพติด ทั้งๆที่ทั่วโลกรู้ว่าไม่มีผลทางจิตประสาท แต่ร่างประกาศใหม่กลับจะเอากัญชงมาเป็นยาเสพติด ตรงนี้แสดงให้เห็นทั้งฟ้าทะลายโจร กัญชง กัญชา เป็นการมองมุมเดียว อย่างกัญชา มองแค่การควบคุมไม่ดีของกัญชา และไม่ตระหนักข้อมูลวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง นี่คือเรื่องใหญ่ แบบนี้ไม่ได้อาศัยข้อมูลวิทยาศาสตร์แท้จริง
อย่างไรก็ตาม กัญชาที่ผ่านมา เหมือนพยายามหาข้อติ หาว่าใช้ไปแล้วเด็กสมองเสื่อม เรียนต่อไม่ได้ ไอคิวต่ำ อย่างข้อมูลที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2016 ที่ New York Academy of Sciences เชิญนักวิทยาศาสตร์สมอง อย.สหรัฐ ป.ป.ส. ถกประเด็นนี้จริงหรือไม่ และปี 2017-2018 โดยศึกษาในคู่แฝดที่สติปัญญาใกล้เคียงกันหลายพันคู่ มีการเลี้ยงดูในครอบครัว สิ่งแวดล้อมเดียวกัน โดยเทียบให้คนหนึ่งใช้กัญชาแบบสูบ อีกคนไม่ใช้ เพื่อศึกษาดูว่ากัญชามีผลต่อสติปัญญาหรือไม่ ปรากฎว่าเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ทั้งคู่ แสดงว่ากัญชาไม่มีผลต่อสติปัญญา และลักษณะการติดกัญชาไม่ง่ายเหมือนบุหรี่และแอลกอฮอล์ ทั้งการเลิกกัญชาก็สามารถเลิกได้โดยไม่มีอาการลงแดง ส่วนกรณีที่ระบุว่าผู้ใช้กัญชาแล้วทำร้ายคน ก็ไม่มีการพิสูจน์ว่าผู้นั้นใช้ร่วมกับยาเสพติดอื่นด้วย เป็นการโทษกัญชาอย่างเดียว ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลกับสังคมที่ไม่ชัดเจน
นายปานเทพ กล่าวว่า ส่วนฟ้าทะลายโจร น่าจะมีพิรุธที่ถอดออกจากเวชปฏิบัติ เนื่องจากมียาคู่เทียบ คือ ฟาวิพิราเวียร์ ที่ใช้ในช่วงโควิด เพียงแต่ฟาวิฯ เคยถูกทักท้วงจากสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยว่า ไม่ควรใช้กับกลุ่มอาการสีเขียว หรือกลุ่มที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการยา เพราะทำให้เชื้อดื้อยา แต่ฟ้าทะลายโจร มีข้อมูลจากกรมการแพทย์แผนไทยเองว่า ลดการอักเสบได้ถึง 94% มีข่าวว่ามีนักวิจัยบางคนมีเจตนาจะถอดฟ้าทะลายโจรออก โดยงานวิจัยที่ไม่สมบูรณ์ เพราะงานวิจัยไปใช้ในช่วงโอมิครอน ซึ่งเป็นเชื้อที่หายเองได้ และกลุ่มตัวอย่างเล็ก แต่กลับใช้งานวิจัยนี้ไปถอดฟ้าทะลายโจรออก
น.ส.รสนา กล่าวว่า ช่วงโควิดระบาดมีการใช้ฟ้าทะลายโจรอย่างแพร่หลาย หมอแผนปัจจุบันก็ยังใช้ แต่มาถึงวันนี้ โควิดเริ่มจางลง กลายเป็นว่า ถอดฟ้าทะลายโจรจากการรักษาในเวชปฏิบัติ เข้าหลักคำพังเพย ว่า เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่า “ฟ้าทะลายโจร” ดังนั้น คณะกรรมการฯ ที่ออกหลักเกณฑ์เวชปฏิบัติเช่นนี้ต้องตอบคำถามประชาชน และขอให้นำเอกสาร ข้อมูลต่างๆ จากการประชุมพิจารณาการถอดฟ้าทะลายโจร โดยนำออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ให้ชัดเจน
ข่าวเกี่ยวข้อง : นักวิชาการจี้กรมการแพทย์ระงับคู่มือเวชปฏิบัติล่าสุด เหตุถอด “ฟ้าทะลายโจร” การรักษาโควิด
- 437 views