กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 10 (ปธพ.10) กรุงเทพมหานคร เครือข่ายภาคเอกชนและจิตอาสา จัดโครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ บริการ 10 คลินิกเฉพาะทาง ดูแลชาว กทม. เขตพระโขนง เขตบางนา และเขตประเวศ รวม 420 ราย ส่วนใหญ่ป่วยโรคเรื้อรัง
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ ทรู ดิจิทัล ปาร์ค เขตพระโขนง กทม. นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการพาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ประธานคณะนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 10 (ปธพ.10) นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร พล.อ.ท.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหาร เข้าร่วม
โครงการพาหมอไปหาปชช. ให้บริการแล้วกว่า 1.18 ล้านคนใน 68 จ.
นายกองตรี ธนกฤต กล่าวว่า โครงการนี้ จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร หรือพื้นที่ที่มีการอาศัยอยู่หนาแน่น มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์เฉพาะทางได้มากขึ้น สามารถค้นหาโรคและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ช่วยลดการป่วยและเสียชีวิต ตลอดจนลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2567 เป็นต้นมา ได้ออกให้บริการประชาชนแล้ว 77 ครั้ง ใน 68 จังหวัด มีผู้รับบริการ 1,189,158 ราย โดยสัปดาห์นี้ จัดขึ้นอีก 3 แห่ง ที่จังหวัดสมุทรสงคราม หนองบัวลำภู และ กทม.
คนกทม. ส่วนใหญ่ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน
“การป่วยที่สำคัญลำดับต้นๆ ของชาว กทม. คือ กลุ่มโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน หลอดเลือดสมอง โครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ วันนี้ จึงเน้นการจัดคลินิกเฉพาะทางที่สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพของประชาชนในเขตพระโขนงและพื้นที่ใกล้เคียง ให้ได้รับการตรวจสุขภาพ คัดกรองโรค ได้รับการดูแลรักษาได้อย่างทันท่วงที ส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สามารถทำงานสร้างรายได้ให้ตนเองและประเทศต่อไป” นายกองตรี ธนกฤต กล่าว
นายกองตรี ธนกฤต กล่าวต่อว่า การดำเนินงานในวันนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยงานและภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน และจิตอาสา อาทิ สำนักงานเขตสุขภาพที่ 13 กรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสุขภาพจิต กรมอนามัย มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ โดยนักศึกษา ปธพ.10 โรงพยาบาลสิรินธร สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักงานเขตพระโขนง กทม. องค์การเภสัชกรรม
บริษัท จีนอส ซอฟท์แวร์ อินเทลลิเจ้นซ์ จำกัด บริษัท ทรู ดิจิทัล พาร์ค จำกัด บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) SCG บริษัทซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) บริษัทหัวเหว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จํากัด (มหาชน)
ทั้งนี้ มีบริการเฉพาะทาง 10 คลินิก ได้แก่ ตรวจสุขภาพ, คัดกรองมะเร็งเต้านม, ทันตกรรม, จักษุ, หู คอ จมูก, กายภาพบำบัดและนวดแผนไทย, กระดูกและข้อ, เสริมภูมิคุ้มกัน, สุขภาพจิต และคัดกรองมะเร็งปากมดลูก คาดว่าจะมีประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะฝั่งตะวันออก ได้แก่ เขตพระโขนง เขตบางนา และเขตประเวศ เข้ารับบริการประมาณ 420 ราย
- 238 views