เครือข่ายงดเหล้าฯ หวั่นรัฐบาลไฟเขียวขายเหล้าสนามบินนานาชาติ “5 วันพระใหญ่” จุดเริ่มก่อนขยายพื้นที่อื่น กังวลสุด! ปมการรถไฟแห่งประเทศไทย เสนอขอผ่อนปรน ติงสมควรหรือ ย้อนอดีตเหตุเศร้าเด็กหญิงถูกคนเมาล่วงละเมิดจนเสียชีวิต ไม่ควรอนุญาตขายในรถไฟทุกกรณี เตรียมรวบรวมข้อมูลผู้ใช้บริการรถไฟกรณีข้อเสนอดังกล่าว
ตามที่คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ มี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ร่วมประชุมเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา เห็นชอบปรับปรุงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558
โดยไฟเขียวจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ใน 5 วันพระใหญ่ คือ วันอาสาฬหบูชา วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา แต่จำหน่ายได้เฉพาะท่าอากาศยานนานาชาติของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต หาดใหญ่ จากเดิมที่อนุญาตขายเพียง ร้านค้าปลอดอากรเท่านั้น แต่ยังไม่เห็นชอบกรณีการรถไฟแห่งประเทศไทยเสนอขอจำหน่าย โดยให้ไปทบทวนมาตรการป้องกันก่อน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า แม้การอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน “ 5 วันพระใหญ่” โดยโฟกัสที่สนามบินนานาชาตินั้น หากพิจาณาจะเห็นว่า เป็นการทำตามนโยบายแรกเริ่มของรัฐบาลที่เน้นเรื่องทุนเป็นหลัก เห็นได้จาก ข้อเสนอของรัฐบาล 8 ข้อควบคู่การปรับแก้ไขร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เข้าสู่สภา ตั้งแต่อยากให้ผ่อนคลายนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การขยายเวลาเปิดผับถึงตี 4 ซึ่งตั้งแต่ครั้งนั้นทางเครือข่ายฯ ไม่เคยเห็นด้วย เพราะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงอุบัติเหตุ และเสียชีวิต ชัดเจนจากผลการศึกษาของนพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ประธานคณะทำงานวิชาการ ภายใต้อนุกรรมการวิชาการ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าการขยายเวลาเปิดผับบาร์ส่งผลกระทบอุบัติเหตุ เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
“จากผลกระทบที่ผ่านมา ล่าสุดรัฐบาลยังยกเลิกห้ามขายเหล้าในวันพระใหญ่ ซึ่งมีเพียง 5 วัน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความต่อเนื่องในการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ นโดยบายรัฐบาลชัดเจน เน้นส่งเสริมการท่องเที่ยว และเป็นนโยบายที่เอื้อให้นักท่องเที่ยวดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยง่าย และเป็นการอำนวยความสะดวก เพราะเห็นว่าต่างประเทศทำ ทั้งที่ความจริง บางประเทศก็มีการห้าม อย่างสวีเดน ก็ห้ามขายวันอาทิตย์” นายธีระ กล่าว
นายธีระ กล่าวอีกว่า ประเด็นการกำหนดห้ามขายวันพระใหญ่ ไม่ใช่เกี่ยวกับศาสนา แต่เป็นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ โดยให้หยุดกินเหล้าแค่ 5 วัน ซึ่งเข้าใจว่า ตอนนี้เปิดเพียงสนามบินนานาชาติ แต่ที่กังวลคือ จะมีการขยายพื้นที่อื่นหรือไม่ เห็นได้จากการรถไฟ ยังเสนอขอผ่อนปรนด้วย ซึ่งไม่ควรมีข้อเสนอเหล่านี้ออกมาจากทางการรถไฟเลย ปัญหาที่เกิดขึ้นควรต้องมองผลกระทบ อย่างข้อมูลขณะนี้พบว่า 1.8 ล้านคนต้องได้รับการบำบัดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งอุบัติเหตุ และป่วยกว่า 2 หมื่นคนต่อปี อีกทั้ง ยังเป็นภาระค่าใช้จ่ายสุขภาพ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทำงานเพิ่มขึ้น ประเด็นคือ อย่ามองแอลกอฮอล์ เป็นสินค้าธรรมดา
เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่จากสนามบิน จะไปที่อื่นๆ นายธีระ กล่าวว่า กังวลแน่นอน เห็นได้จากการรถไฟยังเสนอขอยกเว้นให้จำหน่ายได้ ต้องถามกลับไปว่า ลืมแล้วหรือไม่ ก่อนหน้านี้เคยมีเหตุการณ์สลดทั้งประเทศ ที่คนเมาก่อเหตุล่วงละเมิดเด็กหญิงและโยนออกจากรถไฟจนเสียชีวิต จนนำมาสู่มาตรการควบคุมต่างๆ เรื่องแบบนี้การรถไฟควรเสนอให้ผ่อนปรนอีกหรือ
ด้านนายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ (ครปอ.) กล่าวว่า ที่ต้องระวังคือ กรณีข้อเสนอของการรถไฟ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทางเครือข่ายทั้งหมดไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง มีความกล้าได้อย่างไรที่จะให้ดื่มเหล้าเบียร์ในรถไฟได้ และมาอ้างกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งๆที่ผ่านมามีกรณีเหตุการณ์เศร้าใจที่เด็กหญิงถูกคนเมาล่วงละเมิดและทำให้เสียชีวิต
“เร็วๆนี้ทางเครือข่ายจะมีการรวบรวมข้อมูลผู้ใช้บริการรถไฟ ถึงมาตรการที่การรถไฟเสนอขอผ่อนปรนขายเหล้าเบียร์ว่า คิดเห็นอย่างไร เราจะเอาข้อมูลมายัน แม้พวกคุณจะบอกว่ามีข้อมูลป้องกัน แต่ถามว่าจากอดีตที่ผ่านมาตั้งแต่การขยายเวลาเปิดผับบาร์ มาตรการป้องกันต่างๆ ทำได้จริงกี่เปอร์เซ็นต์ อันนี้คือของจริง ที่ขอความร่วมมือทำไม่ได้จริงเลย มีแต่อุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 100กว่าเปอร์เซ็นต์ มีคนเจ็บคนตาย นี่คือสิ่งที่ต้องทบทวน ไม่ใช่มาเสนอขอผ่อนปรนขายเหล้าเบียร์เพิ่มอีก ถ้าทำแบบนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า เป็นการรุกคืบขยายโอกาสให้นายทุนหรือไม่ เพราะถ้าอนุญาตให้การรถไฟจำหน่ายเหล้าเบียร์ได้ ถึงที่สุดจะมีคนเข้าไปขอสัมปาทาน แบบนี้ชัดเจน ขอให้รู้สึกอายกันบ้าง ไม่ควรมีข้อเสนอแบบนี้ ทางเครือข่ายฯจะนำข้อมูลและจะไปหาไปทวงถามกระทรวงคมนาคม และการรถไฟอย่างแน่นอน” นายชูวิทย์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อเสนอของรัฐบาลก่อนหน้านี้ มี 8 ข้อ ในการดำเนินการควบคู่การปรับแก้ไขร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่กำลังอยู่ในสภาฯ ขณะนี้ ประกอบด้วย 1.การยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดเวลาการขยายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งแต่เวลา 11.00 – 14.00 น. และตั้งแต่เวลา 17.00 – 24.00 น. 2.การอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม หรือสถานบริการที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา
3.การอนุญาตให้ขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกิจกรรมที่จัดขึ้นในสถานที่ของทางราชการที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมควบคุมโรค เพิ่มเติมจากบริเวณที่จัดไว้เป็นร้านค้าหรือสโมสร เช่น งานแสดงดนตรี ที่จัดขึ้นในสนามกีฬาของทางราชการ 4.ผู้มีอำนาจในการกำหนดวันและเวลาห้ามขายเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ ซึ่งปัจจุบันพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 กำหนดเป็นอำนาจของรัฐมนตรีผู้รักษาการ ตามคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ (ปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้)
5.การแก้ไขผู้รักษาการตามกฎหมายจากนายกรัฐมนตรีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 6.การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุญาตให้ทำการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ทำการตลาดออนไลน์เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งกรณีที่ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นผู้สนับสนุนการจัดกิจกรรมต่าง ๆ
7.การกำหนดรายละเอียดข้อความที่ระบุบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยต้องไม่มีข้อความในลักษณะที่เชิญชวนให้บริโภค และ 8.การยกเลิกการควบคุมวิธีการหรือลักษณะการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เช่น การใช้เครื่องขายอัตโนมัติ การเร่ขาย การลดราคา เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย และการเสนอให้สิทธิในการเข้าชมการแข่งขัน การแสดง การให้บริการ การชิงรางวัล หรือประโยชน์อื่นใดเป็นการตอบแทนผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
- 245 views