“พิสมัยคลินิกกายภาพบำบัด” จ.พังงา เข้าร่วม 30 บาทรักษาทุกที่ พลิกฟื้นชีวิตผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคติดเตียง ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพ รุกให้บริการกายภาพบำบัดผู้ป่วยถึงบ้านกว่า 30 ราย ด้าน ทพ.อรรถพร ระบุ เป็นโครงการเชื่อมต่อระหว่าง คลินิกเอกชน และ โรงพยาบาล อุดช่องว่างกลุ่มผู้ป่วยที่เข้าไม่ถึงบริการ  

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา   ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นายพรศักดิ์ มธุรส รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพังงา (สสจ.พังงา) ลงพื้นที่ติดตามการให้บริการโดยคลินิกกายภาพชุมชนอบอุ่น ภายใต้โครงการ “30 บาทรักษาทุกที่” ที่พิสมัยคลินิกกายภาพบำบัด จ.พังงา โดยมี ก.ภ.พิสมัย บัวทอง นักกายภาพบำบัดประจำคลินิกฯ ให้ข้อมูลบริการ และยังได้ร่วมเยี่ยมผู้ป่วยที่ได้รับบริการกายภาพบำบัดที่บ้าน 

ก.ภ.พิสมัย กล่าวว่า ในช่วงแรกที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ส่วนใหญ่จะเป็นการให้บริการกายภาพบำบัดที่บ้าน เนื่องจากผู้ป่วยกำลังอยู่ในช่วง 6 เดือนแรก ที่ควรได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย (Golden Period) โดยเร็ว ซึ่งจะจะช่วยลดภาวะทุพพลภาพ หรือลดความพิการได้ แต่ยังไม่ได้รับการฟื้นฟูฯ เท่าที่ควร ซึ่งมีจำนวนมีกว่า 30 ราย โดยบางคนเหลือโอกาสที่จะฟื้นฟูในช่วง 6 เดือน เพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น แม้ว่าการให้ทำกายภาพจะให้ประสิทธิผลได้ไม่มาก แต่อย่างน้อยหากทำให้ผู้ป่วยเดินได้ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยเอง และจุดนี้ก็ทำให้คลินิกฯ ได้ผลตอบรับที่ดีจากผู้ป่วย 

ทั้งนี้ การให้บริการภายใต้โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ จะเป็นการประสานงานร่วมกันระหว่าง คลินิกฯ กับ โรงพยาบาล เพื่อช่วยสนับสนุนการให้บริการกายภาพบำบัดแก่ผู้ป่วยในพื้นที่ในส่วนที่มีข้อจำกัดที่เข้าไม่ถึงบริการ เช่น โรงพยาบาลมีผู้ป่วยรอการทำกายภาพบำบัดจำนวนมาก ผู้ป่วยมีปัญหาไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้สะดวก เช่น โรงพยาบาลอยู่ไกล ไม่มีญาติพาไปโรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งคลินิกฯ ก็ได้เข้ามาเติมเต็มในส่วนนี้

 “จากที่ร่วมโครงการฯ และให้บริการผู้ป่วยที่บ้าน ทำให้เราเห็นความทุกข์ยาก และปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้ารับการกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลได้ จึงทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการให้เร็วที่สุด ในช่วงที่เป็นโอกาสก่อนจะกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงหรือพิการ” ก.ภ.พิสมัย กล่าว

นายแระ ผู้ป่วยที่ได้รับการกายภาพบำบัดจนกลับมาเดินได้ กล่าวว่า การมีนักกายภาพบำบัดเข้ามาช่วยเหลือเหมือนสร้างชีวิตใหม่ให้ เพราะเดิมมีอาชีพรับจ้างพายเรือ แต่เป็นโรคความดันสูงและไม่ได้รักษาต่อเนื่อง จนมีอาการมือเท้าชา และหกล้มหมดสติจนต้องเข้าโรงพยาบาล เมื่อรู้สึกตัวก็ไม่สามารถขยับตัวได้แล้ว ซึ่งที่สุดแล้วกลายเป็นมีภาวะติดเตียง จำเป็นต้องกายภาพบำบัดฟื้นฟูฯ แต่ด้วยลูกชายของต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ทำให้ไม่สามารถพาไปทำการฟื้นฟูฯ ที่โรงพยาบาลต่อเนื่องได้ ดังนั้นทางคลินิกฯ จึงได้เข้ามาช่วยกายภาพบำบัดถึงที่บ้าน ซึ่งเมื่อรับบริการครบ 20 ครั้ง ก็ทำให้ตอนนี้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้

“ขอขอบคุณนักกายภาพบำบัด และ สปสช. ที่มีโครงการดีๆ แบบนี้ที่เข้ามาช่วยเหลือ เพราะช่วยลดทั้งภาระค่ารักษาพยาบาล และสะดวกกับผู้ป่วยเอง เพราะด้วยปัจจัยทางครอบครัว ทำให้ไม่สามารถเดินทางกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลได้ อยากขอบคุณมากจริงๆ ” นายแระ กล่าว 

ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ จะเห็นได้ว่า 30 บาทรักษาทุกที่ฯ มีประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก ทำให้จากผู้ป่วยที่ประสบกับภาวะติดเตียง ได้รับบริการถึงบ้าน โดยคลินิกกายภาพบำบัดเอกชนที่ร่วมโครงการฯ และเมื่อได้รับการฟื้นฟูฯ ครบ 20 ครั้ง วันนี้ก็ยืนและเดินเองได้ รวมถึงการทำกิจวัตรต่างๆ ได้เอง สะท้อนให้เห็นได้ว่าการเพิ่มคลินิกเอกชนเข้ามาเป็นผู้ให้บริการในระบบสามารถช่วยประชาชนได้อย่างมาก 

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า สปสช. มองเห็นถึงศักยภาพการช่วยเหลือประชาชนของคลินิกเอกชน จึงขอประชาสัมพันธ์ให้คลินิกเอกชนทุกวิชาชีพมาร่วมเป็นหน่วยนวัตกรรมบริการสาธารณสุขในระบบ เพราะนอกจากช่วยเหลือประชาชนตามเจตนารมณ์ของทุกวิชาชีพแล้ว ยังช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายของประชาชน

“โครงการนี้เป็นการเชื่อมต่อระหว่างคลินิกเอกชนและโรงพยาบาล แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มีมาก อาจทำให้การส่งผู้ป่วยไปรับบริการที่คลินิกฯ ล่าช้า ดังนี้น สปสช. จะมีการทำฐานข้อมูลกลางเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการของคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมโครงการได้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพใดก็ตาม” รองเลขาธิกา สปสช. กล่าว

ขณะที่ นายพรศักดิ์ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน จ.พังงา มีคลินิกเอกชนทุกวิชาชีพเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ถึงจำนวน 30 แห่ง ซึ่งส่งผลดีกับชาวบ้านใน จ.พังงา อย่างมาก เพราะได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากขึ้น ลดความแออัดในโรงพยาบาล และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับผู้ป่วย ขณะที่คลินิกเอกชนก็มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้คลินิกเอกชนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งหากติดปัญหาใด ทาง สสจ.พังงานก็จะเข้าไปช่วยเหลือทำความเข้าใจ โดย สสจ.พังงา มีเป้าหมายจะเพิ่มหน่วยบริการนวัตกรรมให้มากขึ้น เพราะเห็นผลดีที่เกิดกับประชาชน ได้เข้าบริการปฐมภูมิ โดยไม่จำเป็นต้องไปแออัดอยู่เพียงแค่โรงพยาบาลเท่านั้น