ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะแพทย์รามาธิบดี เผยความสำเร็จ ธนาคารชีวภาพ "มะเร็งรามาธิบดี" ได้ ISO 20387: 2018 แห่งแรกในไทย เก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยมะเร็งคนไทย สู่การวิจัยช่วยเพิ่มผลสำเร็จในการรักษา 

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ห้องประชุมอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชั้น 5 อาคารสิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยศูนย์มะเร็ง ภายใต้กลุ่มศูนย์เพื่อความเป็นเลิศ จัดงานแถลงข่าว ธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งรามาธิบดี (Ramathibodi Tumor Biobank) ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 20387: 2018 ด้านธนาคารชีวภาพเป็นแห่งแรกในประเทศไทย พร้อมขยายการเข้าถึงด้านวิจัยต่อเนื่องในทุกระดับ ขึ้น ซึ่งการจัดตั้งโครงการดังกล่าว เพื่อเป็นคลังจัดเก็บตัวอย่างทางคลินิกที่มีคุณภาพสูง พร้อมเป็นศูนย์กลางให้ความช่วยเหลือด้านงานวิจัยชีวการแพทย์ด้านโรคมะเร็งสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ให้สามารถสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการวินิจฉัย รักษาผู้ป่วยมะเร็งชาวไทยได้   

ศ. คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคมะเร็งในประเทศไทยว่า ในแต่ละปี คนไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งรายใหม่ปีละ 1.4 แสนคน เสียชีวิตกว่า 8 หมื่นคน มีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นจำนวนมากกว่า 4,800 รายต่อปี

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดตั้งธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งรามาธิบดีขึ้น เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมตัวอย่างทางคลินิกของผู้ป่วย ที่เหลือจากขั้นตอนการวินิจฉัยและรักษามะเร็ง ไว้ใช้ทำวิจัยในระยะยาว ส่งเสริมให้เกิดการจัดระเบียบการเก็บตัวอย่างทางคลินิกและข้อมูลชีวภาพของผู้ป่วยมะเร็งอย่างมีระบบ พร้อมสนับสนุนให้เกิดการศึกษาวิจัยเชิงลึกทางพยาธิโมเลกุลโรคมะเร็งแบบสหสาขา ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางคลินิกที่ได้จากทะเบียนมะเร็งรามาธิบดี

"การรักษาโรคมะเร็งจัดอยู่ในกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะการรักษาโรคมะเร็งแบบการแพทย์แม่นยำ จำเป็นต้องใช้หลักฐานทางการแพทย์ที่ได้จากการศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการและในระดับคลินิก งบประมาณในการวิจัยสูง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งสูงขึ้นด้วย" ศ. คลินิก นพ.อาทิตย์ กล่าว

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการรับรองมาตรฐาน ISO ในครั้งนี้ว่า ISO 20387 ว่า ด้วยมาตรฐานระบบบริหารคุณภาพและการจัดเก็บตัวอย่างและข้อมูลทางชีวภาพที่เกี่ยวข้อง มีข้อกำหนดที่ครอบคลุมขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อจัดการกับทรัพยากรชีวภาพแต่ละประเภท เช่น การเก็บตัวอย่าง ตั้งแต่การรับ การติดแท็ก การจำแนกประเภท การตรวจสอบคุณภาพ การจัดเก็บ ตลอดจนกระบวนการจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวอย่างทางชีวภาพ การกระจาย การขนส่ง และการทำลายตัวอย่าง มาตรฐานนี้ยังครอบคลุมถึงข้อกำหนดในการปกป้องข้อมูลที่เป็นความลับและการรักษาความเป็นกลางของธนาคารชีวภาพด้วย

หน่วยงานสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ (สมป.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นหน่วยงานที่ให้การรับรองมาตรฐานธนาคารชีวภาพ ISO 20387 อ้างอิงจากมาตรฐานของ Asia Pacific Accreditation Cooperation (APAC) ในประเทศไทย มาตรฐาน ISO 20387 จึงเป็นตัวบ่งชี้ศักยภาพ เพิ่มความมั่นใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อความสามารถของธนาคารชีวภาพในการให้บริการที่ได้มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ และเป็นไปตามข้อกำหนดที่สำคัญของนานาประเทศ
   
ด้าน รศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการดำเนินงานว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง (Ramathibodi Comprehensive Cancer Center) นอกจากจะตรวจดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งแบบครบวงจรแล้ว ยังมีงานด้านวิชาการ งานวิจัย สร้างนวัตกรรมที่มีคุณภาพสามารถจดสิทธิบัตรได้ 

ธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร เป็นการให้บริการวิจัยเชิงลึก ภายใต้ความร่วมมือกับสาขาวิชาเวชศาสตร์ปริวรรต และสำนักงานวิจัย วิชาการและนวัตกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยดำเนินการเก็บรวบรวมตัวอย่างชิ้นเนื้อมะเร็ง ชิ้นเนื้อปกติ องค์ประกอบของเลือด และสารคัดหลั่งต่าง ๆ เช่น เซรั่ม พลาสม่า ที่เหลือจากการวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยมะเร็ง มาเก็บรักษาแบบแช่แข็ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จำนวนตัวอย่างทางคลินิกที่จัดเก็บไว้ในปัจจุบันมากกว่า 40,000 ตัวอย่าง จากผู้ป่วยมะเร็งกว่า 4,000 รายที่ยินยอมเข้าร่วมโครงการ 

นพ.ณรงค์ฤทธิ์ มัศยาอานนท์ รองคณบดีฝ่ายคุณภาพและศูนย์ความเป็นเลิศ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลรามาธิบดี หากต้องการเก็บตัวอย่างทางคลินิกที่เหลือจากการวินิจฉัยและรักษา สามารถปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ หากผ่านเกณฑ์ จะถูกเก็บตัวอย่างทางคลินิกโดยการแช่แข็ง ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่าย ตัวอย่างทางคลินิกเหล่านี้จะถูกนำไปทำการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโดยทีมแพทย์และนักวิจัยจากหลากหลายสาขา นอกจากนี้ยังสามารถนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติคลินิกด้านพยาธิโมเลกุลและจีโนม เพื่อช่วยเลือกการรักษาแบบการแพทย์แม่นยำที่เหมาะสมกับผู้ป่วยได้ด้วย 

ตัวอย่างทางคลินิกจะถูกนำไปทำการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโดยทีมแพทย์และนักวิจัยจากหลากหลายสาขา นอกจากนี้ยังสามารถนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติคลินิกด้านพยาธิโมเลกุลและจีโนม เพื่อช่วยเลือกการรักษาแบบการแพทย์แม่นยำที่เหมาะสมกับผู้ป่วยได้ด้วย 

"การต่อยอดความสำเร็จต่อไป ต้องการเป็นแหล่งให้บริการจัดเก็บตัวอย่างทางชีวภาพมนุษย์ให้กับโครงการวิจัยทางคลินิก  และองค์กรที่สนใจ รวมถึงการจำหน่าย Ramathibodi Tumor Biobank software ภายใต้สิทธิบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการธนาคารชีวภาพ ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล" นพ.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าว

ในระยะยาว จะดำเนินการเปิดเป็นแหล่งบริการเตรียมตัวอย่างทางชีวภาพมนุษย์เพื่องานวิจัย ส่งเสริมงานวิจัยสหสถาบันกับทั้งภายในและนอกประเทศ เพื่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งได้เองในประเทศไทย เช่น การพัฒนาวิธีการตรวจพบโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลสำเร็จในการรักษาให้หายขาด ส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งมีชีวิตยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ลดภาระทางเศรษฐกิจของประเทศ จากค่าใช้จ่ายด้านการรักษามะเร็งในผู้ป่วยที่จะลดลงในระยะยาว

ทั้งนี้ ธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจรรามาธิบดี จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งหวังให้เกิดการสนับสนุนด้านการศึกษาวิจัยเชิงลึกระดับชีวโมเลกุลด้านโรคมะเร็งร่วมกันระหว่างอาจารย์แพทย์คลินิกสาขาต่าง ๆ อาจารย์แพทย์นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อเร่งพัฒนาวิธีการวินิจฉัยและรักษาโรคแบบใหม่ให้กับผู้ป่วยมะเร็ง ก่อประโยชน์ให้เกิดแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งชาวไทยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต อีกทั้งมีความพร้อมที่จะเปิดให้บริการด้านธนาคารชีวภาพกับหน่วยงานและองค์กรที่สนใจ เพื่อสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยมะเร็งแบบสหสถาบันกับองค์กรทั้งในและนอกประเทศ