ผู้แทนกลุ่มผู้ให้บริการ-กลุ่มผู้รับบริการ-ผู้แทน อปท. สรุปข้อเสนอกองทุนบัตรทอง ปี 67 อาทิ "จัดระบบออกใบส่งตัว-ปรับเกณฑ์ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิ-ทบทวนรูปแบบการจ่าย-เพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพประจำปี-มีคลินิกเยาวชนเฉพาะ-มีห้องน้ำสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ" หวังพัฒนา “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ในการประชุม สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เพื่อพัฒนาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2567 จัดโดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งได้ดำเนินการตาม มาตรา 18(13) แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2567 ทั้งนี้ได้แบ่งการสรุปข้อคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องเป็น 3 กลุ่ม โดยทางผู้แทนกลุ่มได้นำเสนอ คือ ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการและ กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยทาง สปสช. จะทำการรวบรวมเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ต่อไป
นพ.อนุชิต หิรัญกิตติ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว รพ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ตัวแทนกลุ่มผู้ให้บริการ สรุปข้อเสนอต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่า ในเรื่องมาตรฐานบริการสาธารณสุข มีประเด็นนำเสนอ คือ 1. เสนอให้มีเกณฑ์การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่ได้คุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สนับสนุนงบประมาณตามศักยภาพการบริการ สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ 2562 และมีระบบการจ่ายชดเชยตามศักยภาพการให้บริการ 2. เสนอให้จัดระบบออกใบส่งตัว แยกค่าใช้จ่ายตามศักยภาพการให้บริการ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับหน่วยบริการ สนับสนุนการตรวจสอบก่อนจ่าย สร้างความมั่นใจบริการที่คลินิกเวชกรรมเพื่อลดความแออัดใน รพ. เมื่อเกินศักยภาพของคลินิกไม่ต้องขอใบส่งตัวซ้ำ และให้แยกการจัดสรรงบบริการแบบ Global budget ระหว่างคลินิกและโรงพยาบาลออกจากกัน 3. ปรับโมเดล 5 เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ มีข้อกำหนดการส่งทุติยภูมิที่ชัดเจน ในพื้นที่ กทม. ให้สื่อสารทำความเข้าใจการเข้ารับบริการตามสิทธิ 5. ให้สื่อสารทำความเข้าใจแก่ประชาชนและผู้ให้บริการ ในการรับบริการตามสิทธิ ในแนวทางเดียวกัน
6. ให้ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก เพื่อการเกิดโรคเรื้อรังและโรคต้นทุนสูง สร้างแรงจูงใจและตระหนักรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชน มีการจัดแพ็คเกจในระบบปฐมภูมิ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของหน่วยบริการปฐมภูมิ 7.บูรณาการดูแลสุขภาพผู้ป่วยไต ตั้งแต่คัดกรอง ชะลอการเจ็บป่วยและฟอกไต 8. เสนอให้บริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น (กปท.) ให้มีประสิทธิภาพและให้จัดบริการตามกลุ่มอายุ 9.เสนอให้มีบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่สอดคล้องกับภาวะสังคมสูงวัย เพิ่มศักยภาพหน่วยบริการ
นวัตกรรม เช่น ร้านยาชุมชนอบอุ่น เพื่อช่วยในการดูแลเบื้องต้นและเชื่อมโยงระบบบริการ
นพ.อนุชิต กล่าวอีกว่า ในด้านบริหารจัดการสำนักงาน ให้ทบทวนเงื่อนไขการออกจากระบบให้มีความเหมาะสม เช่นกรณีคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ต้องการออกนอกระบบแต่ติดเงื่อนไข 180 วัน ส่วนการบริการจัดการกองทุนฯ มี 4 ข้อเสนอย่อย คือ 1.ทบทวนระบบการจ่าย อัตราการจ่าย และจัดงบประมาณให้เหมาะสมแก่คลินิกชุมชนอบอุ่น เช่น ใช้รูปแบบการจ่ายแบบเดียวกับหน่วยบริการนวัตกรรม รวมทั้งจัดกระบวนการตรวจสอบการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่ได้มีการส่งตัว ให้มีการตรวจสอบระหว่างกันได้ว่าการเบิกจ่ายถูกต้องหรือไม่ 2. คลินิกชุมชนอบอุ่นเสนอปรับค่าใช้จ่ายเหมาจ่ายรายหัวเป็น 1,000 บาท/ประชากร และมีกองทุนมารองรับภาระการตามจ่ายกรณีส่งต่อผู้ป่วยนอก 3. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ขอให้โอนงบผู้ป่วยนอก และงบสร้างเสริมสุขภาพฯ 100% ไปยัง รพ.สต. โดยตรงตามจำนวนประชากรพื้นที่ และ 4. อัตราเหมาจ่ายสร้างเสริมสุขภาพฯ ใน กทม. ขอให้ได้รับเช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ และขอให้เพิ่มค่าใช้จ่ายด้วย
และสุดท้าย ประเด็นเรื่องนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เนื่องจากเกรงว่านโยบายดังกล่าวอาจสร้างค่านิยมให้ผู้รับบริการเรียกร้องให้โรงพยาบาลปฐมภูมิส่งตัวไปโรงพยาบาลขั้นสูงเลย จึงเสนอให้ทบทวนรูปแบบการจ่าย เป็นระบบการจ่ายแบบปลายเปิดแทน
ด้าน น.ส.ศิริวรรณ อาษาศรี มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน ตัวแทนผู้รับบริการ กล่าวว่า ในประเด็นเกี่ยวกับประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข เสนอให้ 1. เพิ่มสิทธิประโยชน์คัดกรองตรวจสุขภาพประจำปีในกลุ่มอาชีพเสี่ยงและแรงงานนอกระบบ เช่น กลุ่มที่สัมผัสสารเคมี 2. เสนอให้มีคลินิกเยาวชนเฉพาะ ที่จัดบริการให้กลุ่มเยาวชนและวัยรุ่น 3. จัดบริการให้คำปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์กรณีการตั้งครรภ์ไม่พร้อม และเพิ่มให้มีบริการคลินิกเพื่อนใจวัยรุ่นและขยายไปในหน่วยบริการ ในการให้บริการด้านสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชน พร้อมทั้งเสนอให้มีวัคซีนป้องกันโรคในเด็กและเยาวชนทุกคนในประเทศ 4. ปรับกลไกในการจัดซื้อยาต้านไวรัส ลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก 5. เพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อยืนยันเพศในกลุ่มหลากหลายทางเพศ ครอบคลุมผ่าตัดเปลี่ยนเพศ ยา รวมถึงการดูแลหลังผ่าตัด 6. เสนอให้การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสิทธิของคนทุกคนไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะกลุ่มเสี่ยง 7. เพิ่มสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มความหลากหลายและคัดกรองมะเร็งทวารหนัก 8. กรณีมีอุบัติเหตุที่ต้องได้รับการตกแต่งอวัยวะเพศ เสนอให้เป็นสิทธิประโยชน์เรื่องการรักษาพยาบาล
น.ส.ศิริวรรณ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนด้านมาตรฐานบริการสาธารณสุข มีข้อเสนอให้หน่วยบริการเพิ่มความระมัดระวังในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้รับบริการ ขณะที่ด้านการบริหารจัดการสำนักงาน สปสช. นั้น ให้ทบทวนกระบวนการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางค่าเบี้ยประชุมค่าพาหนะและค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องให้กับภาคประชาชนอย่างรวดเร็วภายใน 1 ถึง 2 วัน ด้านการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ระบบสาธารณสุขเป็นระบบเดียวมาตรฐานเดียวและให้ สปสช.เป็น Clearing House นอกจากนี้ให้เพิ่มหน่วยบริการสำหรับกลุ่มความหลากหลายทางเพศให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ที่ปัจจุบันมีเฉพาะใน กทม.
ขณะที่การบริหารจัดการ กปท. มีข้อเสนอ 4 ข้อ ประกอบด้วย 1. ให้คลินิกและโรงพยาบาลมีสิทธิในการพิจารณาผู้ที่ต้องได้รับผ้าอ้อมผู้ใหญ่ 2. ให้สามารถปรับเปลี่ยนชนิดผ้าอ้อมให้เหมาะสมกับผู้รับบริการเฉพาะราย 3. เพิ่มศักยภาพคณะกรรมการ กปท. ให้ได้รับรู้และเข้าใจหลักการระบบหลักประกันสุขภาพ โดยระบุเป็นแผนการสร้างการรับรู้สิทธิหลักประกันสุขภาพ 4. มีการกำหนดวงเงินงบประมาณที่ชัดเจนที่สนับสนุนภาคประชาชนในการดูแลบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ หรือ กปท. เช่น 10%
ในด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและการรับรู้การคุ้มครองสิทธิ น.ส.ศิริวรรณ กล่าวว่า มี 5 ข้อ คือ 1. มีกลไกติดตามและป้องกันการถูกเรียกเก็บเงินจากบริการฟอกไตของผู้ติดเชื้อเอชไอวี HIV และเพิ่มหน่วยฟอกไตให้เพียงพอ 2. เพิ่มการประชาสัมพันธ์ศูนย์คุ้มครองสิทธิ์บัตรทอง เพื่อให้ประชาชนและหน่วยบริการรับทราบเนื่องจากเพิ่งมีการเปลี่ยนชื่อใหม่ 3.ให้มีกลไกการทำงานคุ้มครองสิทธิร่วมกันระหว่างหน่วยนวัตกรรม ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง หน่วยมาตรา 3 ตามแนวทางของระบบหลักประกันสุขภาพ 4.เสนอให้มีกลไกคุ้มครองสิทธิกระจายครบทุกตำบล และ 5. ปรับปรุงเกณฑ์การเบิกจ่ายชดเชย ม.41 กรณีเด็กคลอดและเสียชีวิตจากเดิม 37 สัปดาห์เป็น 32 สัปดาห์
"ส่วน 30 บาทรักษาได้ทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ให้เพิ่มการสื่อสารประชาสัมพันธ์นโยบายบัตรประชาชนใบเดียว และเชื่อมโยงบูรณาการฐานข้อมูล ให้ผู้ให้บริการรู้ประวัติการรักษาของรับการผู้รักษา" น.ส.ศิริวรรณ กล่าว และว่า สุดท้ายมีข้อเสนออื่นเพิ่มเติม คือ ให้มีห้องน้ำสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในหน่วยบริการและในโรงเรียน ให้มีตึกผู้ป่วยในเฉพาะกลุ่มความหลากหลายทางเพศ เพิ่มแพทย์เฉพาะทางให้คำปรึกษาในระดับโรงพยาบาลชุมชนเฉพาะโรงพยาบาลที่เข้าโครงการ และประชาสัมพันธ์การใช้คำนำหน้านามเป็น "คุณ" หรืออื่นๆ แทนการเรียกคำว่า นาย นาง หรือนางสาว
ด้าน นายธีรนันต์ ปราบราย ปลัดเทศบาลตำบลนาชะอัง อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กล่าวถึงข้อเสนอว่า ในด้านการบริหารจัดการกองทุน กปท. เสนอให้เพิ่มเงินงบประมาณมากกว่า 45 บาท/คน และการขอเงินเพิ่มเติมระหว่างปี ทาง อปท.ไม่ต้องสมทบ หรือจ่ายสมทบในสัดส่วนที่น้อยกว่า สปสช. นอกจากนี้ สปสช. ควรมีโครงการตัวอย่าง มีพี่เลี้ยง หลักสูตร และหนุนเสริมกำกับติดตามระดับจังหวัด และ เสนอให้ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) เป็นผู้กำกับดูแลติดตามการดำเนินการกองทุนเสนอ และให้ปรับราคาผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้มากกว่า 9.5 บาท และเพิ่มจำนวนชิ้นผ้าอ้อมผู้ใหญ่จาก 3 ชิ้นเป็น 5 ชิ้น
ประเด็นกองทุนระบบการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงด้านสาธารณสุขระยะยาว (Long Term Care) เสนอทบทวนเงื่อนไขระเบียบและให้สาธารณสุขอำเภอช่วยกำกับติดตาม รวมทั้งให้ สปสช. ประสานงานร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อขับเคลื่อนนโยบายระดับประเทศ ส่งเสริมให้เกิดศูนย์ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ มีการจัดทำมาตรฐานหลักสูตรอบรม Care Giver ให้ครบถ้วนและแนวทางปฏิบัติและตรวจสอบที่ชัดเจน สอดคล้องทั้งระเบียบของกรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นและของ สปสช.
“ส่วนการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปสู่ อบจ. ควรมีกองสาธารณสุขให้ครบทุกแห่ง และ สปสช. ควรมีกองทุนสร้างเสริมสุขภาพฯ ที่จัดสรรให้ รพ.สต. โดยเฉพาะ รวมทั้งควรมีนโยบายระดับประเทศส่งเสริมให้เกิดศูนย์ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุครอบคลุมทุกพื้นที่ และประเด็นเรื่องบัตรประชาชนใบเดียวเสนอให้ยกเลิกการยืนยันตัวตนเนื่องจากประชาชนบางคนทำไม่ได้จึงเกิดปัญหาในการรับบริการ" นายธีรนันต์ กล่าว
- 138 views