บอร์ด สปสช.เห็นชอบ 5 มาตรการช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมเตรียมหารือกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเชื่อมโยง API กับโรงพยาบาลโดยตรงเพื่อยกเลิกการบันทึกข้อมูล
วันที่ 15 ส.ค. 2566 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยมี รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานการประชุมฯ ได้รับทราบมาตรการลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมมีข้อเสนอแนะให้ สปสช. ร่วมหารือกับกระทรวงสาธารณสุขในการเชื่อมโยง API เพื่อยกเลิกการบันทึกข้อมูลอีกด้วย
ปัญหาภาระงานของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มขึ้น
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีปัญหาภาระงานของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น แม้ สปสช. ไม่ได้มีหน้าที่จัดบริการโดยตรง แต่สิ่งที่เป็นข้อกำหนดจาก สปสช. อาจสร้างภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้น สปสช. จึงได้จัดทำแนวทางการลดภาระงาน เบื้องต้นจะมี 5 มาตรการ ประกอบด้วย 1.พัฒนาชุดข้อมูลมาตรฐานสำหรับการเบิกจ่าย 2.เชื่อมโยง API (Application Programming Interface) ยกเลิกการบันทึกข้อมูล 3.ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพด้วยตนเอง 4.จัดให้มีกลไกหารือร่วมกับเครือข่ายผู้ให้บริการ ก่อนขยายสิทธิประโยชน์ และ 5. ขยายบทบาทของ Contact center 1330 ในการประสานหาเตียงและส่งต่อผู้ป่วย
การพัฒนาชุดข้อมูลมาตรฐานสำหรับการเบิกจ่าย
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ในส่วนของการพัฒนาชุดข้อมูลมาตรฐานสำหรับการเบิกจ่ายนั้น ภายใต้มาตรฐานชุดข้อมูลใหม่จะสามารถส่งข้อมูลครั้งเดียวด้วยโปรแกรมเดียว หน่วยบริการสามารถนำข้อมูลในระบบ HIS มาส่งเพื่อเบิกจ่ายได้โดยไม่ต้องบันทึกข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยให้ลดภาระงานในการบันทึกและส่งข้อมูลลงได้ 7 เท่า เบื้องต้นการใช้มาตรฐานชุดข้อมูลใหม่นี้จะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของโรงพยาบาล หากหน่วยบริการไหนยังไม่พร้อมก็สามารถส่งข้อมูลในระบบเดิมได้
ขณะที่ในส่วนของการเชื่อมโยง API ยกเลิกการบันทึกข้อมูล จะเป็นการเชื่อมโยง HIS ระหว่างโรงพยาบาลกับ สปสช. โดยตรงผ่าน API โดยจะนำร่องในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ส่วนโรงพยาบาลอื่นที่มีความพร้อมก็สามารถเชื่อมต่อระบบกับ สปสช.ได้ทันที
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับการตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพด้วยตนเอง จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สปสช. กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในการส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง ทั้งในรูปแบบการดูแลโดยชุมชน (community care) การดูแลตนเอง (Self-Care & Self-Test) และการมีนวัตกรรมนอกหน่วยบริการ เพื่อลดการไปหน่วยบริการโดยไม่จำเป็น
ส่วนการจัดให้มีกลไกหารือร่วมกับเครือข่ายผู้ให้บริการก่อนขยายสิทธิประโยชน์ จะมีหลักการคือในกรณี สปสช.ได้รับข้อเสนอการเพิ่มสิทธิประโยชน์จากเครือข่ายต่างๆ หรือ ก่อนออกประกาศปรับปรุงขยายประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะมีการหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ชมรมแพทย์และสาธารณสุข เครือข่ายผู้ให้บริการ และผู้เกี่ยวข้องก่อน เพื่อเห็นชอบร่วมกัน หรือวางแผนการจัดการภาระงาน ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพบริการและขวัญกําลังใจของผู้ให้บริการ
การขยายบทบาทของ Contact center 1330 ในการประสานหาเตียงและส่งต่อผู้ป่วย
และมาตรการสุดท้าย การขยายบทบาทของ Contact center 1330 ในการประสานหาเตียงและส่งต่อผู้ป่วย เพราะบางครั้งโรงพยาบาลมีปัญหาเตียงไม่พอและมีภาระต้องหาเตียงให้คนไข้ สปสช. จึงให้สายด่วน 1330 ทำหน้าที่ประสานส่งต่อผู้ป่วย พร้อมทั้งมีการทำสัญญากับโรงพยาบาลเอกชนอีก 17 แห่ง เพื่อร่วมเป็นหน่วยบริการตามมาตรา 7 โดยมีเตียงสำรองไว้ 582 เตียง
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้นการนำเสนอนี้ ได้มีความเห็นจากกรรมการในที่ประชุม ในส่วนของการเชื่อมโยง API โดยตรงระหว่างโรงพยาบาล และ สปสช. อาจมีประเด็นในทางกฎหมาย เพราะสถานะนิติบุคคลนั้นอยู่ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้นจึงต้องมีการหารือร่วมกันระหว่าง สปสช.และกระทรวงสาธารณสุขเพื่อพิจารณาในรายละเอียดอย่างรอบคอบไม่ให้เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล โดยทาง สปสช. จะนำเรื่องนี้ไปหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขต่อไป และอาจส่งผลที่ดีโดย สปสช. ไม่ต้องไปเชื่อมต่อระบบทีละโรงพยาบาล แต่เชื่อมต่อระบบกับกระทรวงสาธารณสุขทีเดียว
- 9260 views