ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่มพยาบาลจิตเวชฯ รพ.ชุมชนแห่งประเทศไทย เผย รพ.ชุมชนแต่ละแห่งมีพยาบาลจิตเวชเพียง 2-3 คน ชี้ไม่สอดรับภาระงานที่มีมากขึ้น  วอน สธ. เพิ่มกำลังคน-ความก้าวหน้า-ค่าตอบแทน พร้อมหนุนออกจาก ก.พ.

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2567 นายศุภชัย นวลสุทธิ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ประธานคณะทำงานพยาบาลวิชาชีพ หัวหน้ากลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย เผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขอนุมัติให้มีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด ในโรงพยาบาลชุมชน ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2561 ปัจจุบันมีการจัดตั้งผ่านเกณฑ์แล้วเสร็จ จำนวน 754 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 97.25 ซึ่งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชนต้องรับผิดชอบทั้งเชิงรุกและเชิงรับ บุคลากรสำคัญที่ขับเคลื่อนงานคือพยาบาลวิชาชีพที่มีความชำนาญความเชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาสุขภาพจิตจิตเวช และสาขายาเสพติด นอกจาก คุณสมบัติพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในกลุ่มงานนี้ จบพยาบาลวิชาชีพ 4 ปี ต้องเรียนและอบรมต่อ ในสาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช ระดับปริญญาโททางการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช ระยะเวลา 2 ปี สาขาการพยาบาลยาเสพติด ระยะเวลา 2 ปี   อบรมเฉพาะทาง 4 เดือน สาขาการพยาบาลจิตเวชผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ  การพยาบาลจิตเวชเด็กและวัยรุ่น การพยาบาลยาเสพติด และ การพยาบาลเวชศาตร์ยาเสพติด เพื่อมาปฏิบัติงานในกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดทั่วทุกโรงพยาบาล ทั้งในระดับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน  

ผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดเพิ่มขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่พยาบาลจิตเวชและยาเสพติด

นายศุภชัย กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบัน มีผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดเพิ่มขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่พยาบาลจิตเวชและยาเสพติด ต้องปฏิบัติด้านการพยาบาลในการป้องกันปัญหาสุขภาพจิต/ยาเสพติดในชุมชนทุกกลุ่มวัย การดูแลผู้ป่วยให้การพยาบาลตามบทบาทหน้าที่พยาบาลจิตเวช/ ยาเสพติด ทั้งผู้ป่วยนอก/ ผู้ป่วยใน/ ในชุมชน และการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในการบำบัดยาเสพติดโดยใช้ชุมชนมีส่วนร่วม ชุมชนล้อมรักษ์ (CBTx) การจัดการรายกรณีผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนยุ่งยาก (Case management) เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อตนเอง สิ่งของ และคนอื่น ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสาธารณชน (Coordinate Power & Community Empowerment for Drug Free Society)

อีกทั้งเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยและญาติ รวมถึงการดูแลโรคร่วมทางกาย/ อาการทางจิต การดูแลผู้ป่วยให้ได้รับการฉีดยา ลดอาการกำเริบกลับเป็นซ้ำทางจิตเสี่ยงต่อความรุนแรง ปัญหาวิกฤติสุขภาพจิต (Mental Crisis Assessment Treatment Team) การบำบัดโดยใช้กระบวนการทางการพยาบาลในการบำบัดผู้ป่วยบุหรี่ สุรา การดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวช เด็กและวัยรุ่น การส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วย และครอบครัวในเขตอำเภอ/ การดูแล และช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงและผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ (One Stop Service Crisis Center) งานเยี่ยมบ้าน และงานบูรณาการดูแลกลุ่มวัย และโรคเรื้อรังต่าง ๆ ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับอำเภอ (พชอ.) ทั้งในและนอกระบบกระทรวงสาธารณสุข โดยการใช้กระบวนการทางการพยาบาลที่ได้รับอบรมและศึกษามาอย่างเป็นระบบ เป็นต้น

"กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด เป็นกลุ่มงานเดียวที่มีพยาบาลผู้ปฏิบัติงานเพียงหน่วยละ 2-3 คน ส่วนใหญ่มี 2 คน ซึ่งเป็นอัตราบุคลากรที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับภาระงานที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน มีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้อัตรากำลังการปฏิบัติงานที่เหมาะสมก็จะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วย ลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับครอบครัว และชุมชนได้โดยส่วนรวม ตลอดจนถึงการลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและญาติที่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลจังหวัด/ โรงพยาบาลจิตเวช/ ธัญญารักษ์ ลดภาระค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลชุมชนในการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวชและยาเสพติดได้อย่างเป็นรูปธรรม" นายศุภชัย กล่าว

ขาดบุคลากรในการปฏิบัติงานของกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด

แต่ในปัจจุบันกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดไม่ได้รับการเกลี่ยอัตรากำลังพยาบาลให้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ หลายแห่งมีพยาบาลปฏิบัติงานเพียง 1 คน โดยมีภาระงานมากขึ้น เหตุผลหลัก คือ การขาดแคลนพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลชุมชนมักเลือกคัดสรรบรรจุพยาบาลใหม่ให้กับกลุ่มงานอื่น ๆ เพิ่มเติม เป็นผลให้ขาดบุคลากรในการปฏิบัติงานของกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด ส่งผลให้การเข้าถึงบริการของผู้ป่วยไม่ผ่านเกณฑ์ เนื่องจากภาระงาน/ การประชุม อบรม/ การเจ็บป่วย/ การลางานของผู้ปฏิบัติงานต้องปิดคลินิกให้บริการปรึกษาปัญหา สุขภาพจิต จิตเวช/ การคัดกรองและการบำบัดยาเสพติด

"นอกจากนี้ การขาดบุคลากรยังทำให้ขาดโอกาสเติบโตก้าวหน้าในวิชาชีพทางการพยาบาล สร้างความขัดแยงภายในองค์กรพยาบาลอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน อีกทั้ง ยังไม่สามารถเตรียมคนเข้าสู่การปฏิบัติงานด้านการพยาบาลจิตเวชและยาเสพติดได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากต้องใช้ พยาบาลที่มีคุณวุฒิการศึกษาเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต จิตเวชและการบำบัดยาเสพติด เพื่อที่จะสามารถ ปฏิบัติงานได้และมีทักษะที่จำเป็นเฉพาะของงานจิตเวชและยาเสพติด ต้องแยกประเมินโรคร่วมทางกาย/ทางจิต การบำบัดรักษาฟื้นฟูติดตามอย่างน้อย 1 ปี ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งแตกต่างจากพยาบาลที่ปฏิบัติงานทั่วไปใน โรงพยาบาล ตลอดจน ภาระงานที่มีมากขึ้นในปัจจุบันไม่สัมพันธ์กับอัตรากำลังพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานจริง" นายศุภชัย กล่าว

นายศุภชัย  กล่าวว่า  ได้รับฟังความคิดเห็นถึงความยากลำบากในการปฏิบัติงานของพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนในสถานการณ์ปัจจุบันที่ขาดแคลนอัตรากำลังและมีภาระงานจากผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นหลายเท่า พยาบาลอยู่ในภาวะเครียดสูง ขาดขวัญ พลังและกำลังใจในการปฏิบัติงานมาเป็นเวลานาน รวมทั้ง พยาบาลจิตเวชและยาเสพติดที่เกษียณอายุราชการไม่มีพยาบาลทดแทน ตัวแทนพยาบาลวิชาชีพกลุ่มงานจิตเวช และยาเสพติดโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย จึงมีมติร่วมกันในการเสนอแนวทางการจัดอัตรากำลังให้เพียงพอ ในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นประโยชน์สุงสุดต่อ ประชาชนกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่เกิดปรากฏการณ์บาดเจ็บทางสื่อสังคมของประเทศชาติต่อไป อย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับข้อเรียกร้อง  1. ให้มีการมีการเกลี่ยอัตรากำลังพยาบาลวิชาชีพ โดยเร่งรัดการสั่งการจากระดับกระทรวงไปยังสำนักงานเขตสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลชุมชนโดยตรง โดยเกลี่ยอัตรากำลังพยาบาลวิชาชีพให้กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชนในอัตรากำลังที่เหมาะสมกับภาระงาน อย่างน้อยขั้นต่ำ จำนวน 5 คน เพื่อให้การปฏิบัติงานเชิงรุกและเชิงรับสามารถกระทำได้ตามบทบาทภารกิจ/ ภารงานของกลุ่ม งานจิตเวชและยาเสพติดที่เป็นความจริงตามนโยบายสำคัญแห่งชาติดังกล่าว

2. การเพิ่มขวัญและกำลังใจตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ ให้กับพยาบาลวิชาชีพ ผู้ปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้ากลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดที่กำลังอ่อนล้าทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ในโรงพยาบาลชุมชนทุกระดับ  โดยเสนอการปรับเกณฑ์การก้าวสู่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ ในระดับหัวหน้ากลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด ในโรงพยาบาลชุมชน โดยขึ้นด้วยความเฉพาะในสมรรถนะวิชาชีพการพยาบาลจิตเวช การพยาบาลยาเสพติด โดยไม่นับลูกน้องที่เป็นวิชาชีพพยาบาล ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างน้อย 4 ตำแหน่ง ซึ่ง ก.พ. กำหนดต้องให้มีลูกน้องเป็นตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ อย่างน้อย 4 ตำแหน่ง