ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"หมอสัมฤทธิ์" เผยงานวิจัย นโยบาย "30 บาทรักษาทุกที่เฟสแรก" ตอบโจทย์เพิ่มความสะดวก-ลดเวลารอคอย-ลดภาระค่าใช้จ่าย ให้ปชช.ได้  ชี้นโยบายนี้เป็นโอกาสที่สธ.จะพัฒนาระบบข้อมูลการเบิกจ่าย-การเชื่อมโยงข้อมูล อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต

เมื่อวันที่ 26  มิถุนายน 2567 ผศ.ดร.นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ รองหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี  เปิดเผยบนเวทีการประชุม "สรุปผลและข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2567" ภายใต้ประเด็น "30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว" ว่า ในช่วงที่ผ่านมาทีมวิจัยรามาธิบดีก็ได้รับโอกาสจากสปสช.ให้เข้ามาช่วยทําการประเมินโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเฟสแรกของการดําเนินงานใน 4 จังหวัด ประเด็นหลักๆที่ทําการประเมินคือ จะดูว่าการดําเนินนโยบายนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของนโยบายที่ต้องการเพิ่มความสะดวก เพิ่มการเข้าถึงการบริการ ลดระยะเวลาการรอคอยให้กับประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน ขณะเดียวกันจะมีผลกระทบต่อเรื่องของด้านอื่นๆที่เรากังวลหรือไม่  เช่น เรื่องจะทําให้คนไข้ไปแออัดอยู่ที่โรงพยาบาลใหญ่มากขึ้นหรือไม่ จะทําให้ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิแย่ลงหรือไม่

"เพราะว่าจากนโยบายเดิมที่เราอยากให้ประชาชนไปรับบริการที่หน่วยบริการใกล้บ้านใกล้ใจ ซึ่งในภาพรวมที่ทําการประเมินมา พบว่านโยบายนี้ประสบความสําเร็จในเชิงเป้าประสงค์ ที่ต้องการเพิ่มความสะดวก และลดระยะเวลาในการใช้บริการ ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการใช้บริการคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของบริการหน่วยนวัตกรรม ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนและก็อยู่ใกล้ชิดชาวบ้าน ชาวบ้านสามารถไปรับบริการได้โดยสะดวก ซึ่งเราพบว่าในส่วนของคลินิกพยาบาลและร้านยาที่ตั้งอยู่นอกเมืองที่ไม่ได้อยู่ในตัวอําเภอเมืองก็เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านไปรับบริการได้ค่อนข้างเยอะ พบว่าหน่วยนวัตกรรม 2 แห่งนี้ให้บริการประมาณ 80%  มองว่าเป็นที่พึ่งของคนจนให้สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว " ผศ.ดร.นพ.สัมฤทธิ์

 

รร.แพทย์ กำหนดโควค้ารับผู้ป่วยในแต่ละวัน​ถ้าเต็มก็ไม่รับ​
 

ผศ.ดร.นพ.สัมฤทธิ์ กล่าวต่อว่า อีกประเด็นก็คือ สปสช.อยากรู้ว่าเมื่อมีนโยบายนี้ทําให้คนที่ไม่เคยเข้าถึงบริการอยากมาเข้าถึงบริการได้เพิ่มขึ้นหรือไม่... ทั้งนี้ทีมนักประเมินได้ไปลองดูข้อมูลว่าในช่วง 3 ปีย้อนหลัง มีคนที่ไม่เคยมาใช้บริการแล้วก็มาใช้บริการหลังจากมีนโยบายมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งพบว่ามีเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบประมาณ 10% เป็นการไปใช้บริการที่หน่วยบริการนวัตกรรม ส่วนความกังวลว่าผู้ป่วยจะล้น รร.แพทย์​ ไหม​ คงไม่ง่าย​ เพราะ รร.แพทย์ กำหนดโควค้ารับผู้ป่วยในแต่ละวัน​อยู่แล้วถ้าเต็มก็ไม่รับ​

ส่วนประเด็นที่ 2 จะดูว่านโยบายนี้ทําให้โรงพยาบาลใหญ่มีความแออัดเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของ 3 ปี (65-67) ไม่พบว่ามันมีแนวโน้มทั้งจํานวนและสัดส่วนการใช้บริการเพิ่มขึ้น ก็ทําให้สบายใจขึ้นได้ว่าไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างที่เรากังวล ประเด็นถัดมาที่เรากังวลว่านโยบายที่ประสบความสําเร็จก็คือเรื่องการสํารวจความพึงพอใจโดยใช้ 1330 ในการสำรวจ และสัมภาษณ์คนที่ไปใช้บริการทั้งรพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รพ.ชุมชน รวมถึงหน่วยบริการนวัตกรรม พบว่าความพึงพอใจอยู่ระดับสูงประมาณ 98% โดยประเด็นที่พึงพอใจมากคือ เรื่องลดภาระค่าใช้จ่าย เรื่องการเดินทาง

 

หน่วยบริการนวัตกรรม ทําให้ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ มีเครือข่ายในการเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น

 

สำหรับนโยบายนี้จะทําให้ความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมลดลงหรือไม่ ถึงตอนนี้ก็ยังบอกว่ายังไม่พบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยังฟันธงได้ชัดๆว่าทําให้ตรงนี้แย่ลง ในทางกลับกันพบว่าหน่วยบริการนวัตกรรมที่เข้ามาร่วมให้บริการอาจจะเป็นตัวช่วยทําให้ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ มีเครือข่ายในการเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้นของประชาชน เนื่องจากอย่างที่บอกว่าสะดวกทั้งในเชิงของที่ตั้งและเรื่องระยะเวลาในการมารับบริการของประชาชนอย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากฝากทางสปสช.อาจจะต้องไปทบทวนเรื่องงบเหมาจ่ายรายหัวสำหรับ OP/PP พบว่าสัดส่วนที่จ่ายเป็นรายหัวไปยังหน่วยบริการตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 40% เท่านั้น อีกประมาณ 60% ปัจจุบันสปสช. ก็จ่ายเป็น  Fee Schedule ค่อนข้างเยอะ ซึ่งอันนี้จะเป็นที่กังวลนิดหน่อย ว่าจะทําให้ภาพที่เราบอกว่าอยากให้ระบบสุขภาพปฐมภูมิเป็นหน่วยบริการใกล้บ้านใกล้ใจที่ให้ชาวบ้านไปรับบริการ ซึ่งคิดว่าอาจจะต้องไปทบทวนตรงนี้" ผศ.ดร.นพ.สัมฤทธิ์ กล่าว

เป็นโอกาสที่สธ.ต้องพัฒนาการเชื่อมโยงระบบข้อมูลสารสนเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม
ประเด็นสุดท้าย เรื่องของการบูรณาการเรื่องระบบข้อมูลเพื่อสนับสนุนนโยบายและข้อมูลการเบิกจ่าย จริงๆกระทรวงสาธารณสุขมีแผนยุทธศาสตร์เรื่องการพัฒนาระบบสุขภาพหรือระบบสาธารณสุขดิจิทัลอยู่แล้ว ซึ่งการมีนโยบายนี้ทําให้เป็นหน้าต่างโอกาสที่ทําให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถผลักดันเรื่องการพัฒนาการเชื่อมโยงระบบข้อมูลสารสนเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมและไปอย่างรวดเร็ว มองว่านโยบายนี้ทําให้การก้าวกระโดดของการพัฒนาระบบสารสนเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงมูลได้ไปอย่างรวดเร็วมากขึ้นถือว่าเป็นคอนเซ็ปต์ที่ดีมาก เพราะว่าเป็นการบูรณาการการเบิกจ่ายทั้งหมดของโรงพยาบาลที่มีการให้บริการแล้วก็เป็นการดึงจากฐานข้อมูลจากของโรงพยาบาลเองไม่ต้องให้โรงบาลมานั่งคีย์ต่างหาก

เพราะฉะนั้นถ้าระบบการเชื่อมโยงข้อมูลมีประสิทธิผลตรงนี้ก็จะทําให้ลดภาระของโรงพยาบาลในการบันทึกข้อมูลได้ค่อนข้างเยอะ ขณะเดียวกันเป็นการบูรณาการฐานข้อมูลเพื่อการใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคตด้วย 

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

- “ผอ.รพ.ร้อยเอ็ด- นายก อบจ.กาญฯ” เสนอสธ. ยกระดับ "รพ.ชุมชน" ให้มีศักยภาพรองรับบริการปชช.