“สมศักดิ์” รับมอบ “สรุปผลและข้อเสนอการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปฯ ประจำปี 2567” พร้อมผลักดัน “กองทุนบัตรทอง” ให้เป็นรูปธรรม ชี้คนไทยทุกคนต้องไม่ยากจนหรือล้มละลายเพราะความเจ็บป่วย ด้าน "นพ.เจด็จ" เผย จะนำความเห็นและข้อเสนอไปพัฒนา เพื่อประชาชนเข้าถึงสิทธิ ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดการประชุม สรุปผลและข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2567” โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เป็นประธานในการรับมอบสรุปผลและข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปฯ นี้ ณ โรงแรมเซ็นทราฯ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ แจ้งวัฒนะ กทม.
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดให้ สปสช. จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไป เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการสาธารณสุข ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ที่มีต่อหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในฐานะเจ้าของหลักประกันสุขภาพ โดยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเกิดขึ้นจากความตั้งใจที่คนไทยทุกคนจะต้องมีหลักประกันในการเข้ารับการรักษาพยาบาล ต้องไม่ยากจนหรือล้มละลายเพราะความเจ็บไข้ได้ป่วย รัฐบาลของท่าน นายกเศรษฐา ทวีสิน มีนโยบายที่จะยกระดับหลักประกันสุขภาพ 30 บาท รักษาทุกโรคให้เป็น "30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว" ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกและประสิทธิภาพ การให้บริการแก่พี่น้องประชาชน
"การรับฟังความเห็นในครั้งนี้ ตนเชื่อว่า สปสช. จะได้รับความคิดเห็นและข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ ที่จะนำไปพัฒนาและต่อยอดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขอขอบคุณทุกความคิดเห็น และผมพร้อมจะร่วมผลักดันข้อเสนอเหล่านี้ ไปสู่การดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนต่อไป” นายสมศักดิ์ กล่าว
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่ สปสช.ได้จัดรับฟังความคิดเห็นทั่วไปฯ อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 21 ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยนปี 2567 เพื่อให้การรับฟังความคิดเห็นได้มีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาทาง สปสช. ได้ทำการปฏิรูปการรับฟังความคิดเห็นฯ โดยบูรณาการการรับฟังความคิดเห็นให้เข้ากับงานประจำ เพื่อพัฒนางานแบบมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ พร้อมรับฟังเสียงสะท้อนข้อเสนอแนะจากสื่อหลากหลายรูปแบบ ทั่ง สื่อมวลชน โซเชียลมีเดีย การปรับวิธีการรับฟังเชิงรุก ทั้งในประเด็นเฉพาะ กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ทั้งในระดับพื้นที่และส่วนกลาง
นอกจากการจัดประชุมที่เป็นการระดมความคิดเห็นฯ ทั้งในส่วนของ สปสช.เขตพื้นที่และเครือข่าย การระดมความเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ของ สปสช. แล้ว ยังได้บูรณาการร่วมกับงานประจำที่ทำให้ข้อเสนอมีความใกล้ชิดกับสถานการณ์มากขึ้น ทำให้ในปี 2567 นี้ จึงมีข้อเสนอต่างๆ ที่เข้ามาอย่างมากมาย ตัวอย่างความคิดเห็นและข้อเสนอในปีนี้ ในส่วนประเด็นเฉพาะ “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” อาทิ ปรับจ่ายชดเชยราคายาตามรายการ Fee Schedule โดยแยกราคากลางของร้านยาและราคากลางของโรงพยาบาล, เพิ่มการคัดกรองความเสี่ยงโรคไตที่ร้านยาคุณภาพของฉัน, บันทึกเบิกจ่ายการให้บริการในโปรแกรมเดียว และขยายการบริการของคลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่นมากกว่า 4 กลุ่มโรค เป็นต้น
ส่วนข้อเสนอประเด็นอื่นๆ ตามข้อบังคับ อาทิ การขยายข้อบ่งใช้ ยา Somatropin สาหรับผู้ป่วยเด็กอายุ 0 - 15 ปี ที่มีภาวะโกรทฮอร์โมนกับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ, ให้มีการขึ้นทะเบียนร้านแว่นตาที่มีนักทัศนมาตร อยู่ประจำร้านเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้าน, เพิ่มยานอกบัญชีที่มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องใช้ต่อเนื่องเป็นยาบัญชียาหลัก, เพิ่มอัตราการเบิกจ่ายค่าอัลตราซาวด์, ให้แจ้งทุกเงื่อนไขที่ติดรหัส c ในครั้งเดียว และมีแนวทางการจัดซื้อผ้าอ้อมและแผ่นรองซับที่มีมาตรฐาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอของการขับเคลื่อนสถานชีวาภิบาล ที่มาจากการรับฟังความเห็นกลุ่มเฉพาะ
“ทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็นและข้ออเสนออันทรงคุณค่า ที่สปสช. จะนำมากลั่นกรอง วิเคราะห์ และนำเสนอต่อ บอร์ด สปสช. พิจารณาเพื่อขับเคลื่อนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้เข้มแข็งและยั่งยืนให้กับคนไทยทุกคน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ฃ
- 166 views