เปิดตัวเลข 10 ปี เด็กไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด รวม 26,930 คน คาดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กรมควบคุมโรค ขับเคลื่อนวิทยากรมืออาชีพจัดการความปลอดภัยทางถนน พัฒนาหลักสูตร "วัคซีนจราจร" ปรับทัศนคติ ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย จัดการความปลอดภัยของรถนักเรียน
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพวิทยากรมืออาชีพเพื่อจัดการความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชน (Thailand Road Safety Team) เพื่อขับเคลื่อนวิทยากรมืออาชีพ เพื่อจัดการความปลอดภัยทางถนน ในกลุ่มเด็กและเยาวชน (Thailand Road Safety Team) ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่
นพ.ดิเรก กล่าวว่า เนื่องจากปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน จากข้อมูลศูนย์ความร่วมมือด้านข้อมูลการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด ซึ่งในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2554 - 2563) มีเด็กและเยาวชนช่วงอายุ 10 - 19 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวน 26,930 คน หรือเฉลี่ยปีละ 2,693 คน และคาดการณ์แนวโน้มว่าจะเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
คณะผู้จัดการประชุมประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมควบคุมโรค กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายรวม 13 องค์กร ได้มีข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยใช้ชื่อโครงการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชน “Thailand Safe Youth Program” (TSY Program) และโครงการจัดตั้งชมรมวัคซีนจราจรในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
นพ.ดิเรก กล่าวต่อว่า การประชุมในครั้งนี้ได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็กและเยาวชน หรือเรียกว่า “วัคซีนจราจร” เน้นการปรับทัศนคติสร้างกระบวนการคิดด้านความปลอดภัย ทักษะการประเมินความเสี่ยงและคาดการณ์ต่อการเกิดอุบัติเหตุ และการพัฒนาวิธีการจัดการเรียนรู้แนวใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ เป็นการที่จะร่วมกันจัดการความปลอดภัยของสถานศึกษาในประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะ “วัคซีนจราจร” และการส่งเสริมพฤติกรรมความปลอดภัย ทั้งการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย การจัดการความปลอดภัยของรถรับ - ส่งนักเรียน การจัดการระบบจราจรบริเวณหน้าสถานศึกษาหรือบริเวณทางข้าม และการขับขี่รถจักรยานยนต์ เป็นต้น
การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการได้จัดทั้งสิ้นจำนวน 4 ครั้ง ในประเทศประกอบด้วย ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคอีสาน จังหวัดอุดรธานี และภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรวมทั้ง 4 ภาค จำนวน 1,120 คน โดยมีเครือข่ายเข้าร่วม ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านความปลอดภัยทางถนน ในกลุ่มเด็กและเยาวชนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ครูแกนนำด้านความปลอดภัยทางถนน ที่จะรวมพลังกันเป็น Thailand Road Safety Team เพื่อความปลอดภัยเด็กและเยาวชนไทย
- 430 views