ปลัดสธ.เผยสถานการณ์แก้ปัญหาอัตรากำลัง ติดกฎระเบียบ ก.พ. หลายส่วนมองกระทรวงฯให้ความสำคัญแต่พยาบาล ไม่ดูแลวิชาชีพอื่นๆ ชี้ไม่จริง! เหตุระเบียบปัจจุบันทำไม่ได้ ต้องมีกฎหมายเฉพาะ ขณะนี้เร่งเดินหน้าพ.ร.บ.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข กฎหมายจะเขียนจำนวนข้าราชการที่จำเป็นต้องมีจำนวนเท่าไหร่ เบื้องต้นประมาณการว่า 8 แสนคน
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ที่ โรงแรมเซนทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการรางวัลศรีสังวาลย์ “ผลงานดี วิชาการเด่น สมคุณค่า พยาบาลไทย ครั้งที่ 7: Sculpting the Future of Thai Nursing in Healthcare System (ปั้นแต่งอนาคตการพยาบาลไทยในระบบสุขภาพ)” พร้อมมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลศรีสังวาลย์ ประจำปี 2565 ประกอบด้วย นางธีรพร สถิรอังกูร สาขาผู้นำการพยาบาลระดับนโยบาย รศ.ดรุณี รุจกรกานต์ สาขาผู้นำการพยาบาลระดับนโยบาย นางประหยัด พึ่งทิม สาขาการพยาบาลในสถานบริการ และนางพันนิภา นวลอนันต์ สาขาการพยาบาลในชุมชน
นพ.โอภาส บรรยายในหัวข้อ Thailand Healthcare System Foresight ตอนหนึ่งว่า ระบบสาธารณสุขในประเทศไทยมีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น แนวโน้มสังคมผู้สูงวัย เด็กเกิดน้อย เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น พบปัญหาสุขภาพจิต ปัญหายาเสพติด และยังต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับโรคติดต่อและโรคระบาดครั้งใหญ่ เช่น โควิด-19 รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น โลกร้อน ภัยแล้ง และน้ำท่วม
ระบบดิจิทัล IPD Paperless ช่วยลดภาระงาน เพิ่มความแม่นยำ
ในอนาคตระบบสาธารณสุขต้องมีการปรับตัวอีกครั้ง โดยโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เปลี่ยนระบบบริการ จัดการโรงพยาบาลเป็นระบบดิจิทัล (Digital Hospital) เชื่อมต่อด้วยออนไลน์ การเข้าถึงประวัติคนไข้ง่ายขึ้น ลดเวลารอคอยไปได้เยอะ ลดกำลังคนไปได้เยอะ ช่วยให้มีเวลาไปดูแลคนไข้มากขึ้น หรือการเปลี่ยนเป็นระบบ IPD Paperless ลดเวลาทำเอกสาร
"ผมได้ไปโรงพยาบาลกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย เปลี่ยน IPD เป็นดิจิทัลหมด พยาบาลบอกว่า ไม่ต้องจดออเดอร์ ไม่ต้องเขียนใบสั่งยาแล้ว เข้าระบบดิจิทัลเลยประหยัดเวลาไปได้เยอะ ลดเวลาทำเอกสารได้ประมาณ 10% แปลว่า ถ้าทำระบบ IPD Paperless เป็นดิจิทัลทุกโรงพยาบาล จะได้พยาบาลกลับคืนไปทำงานได้ 10% ลดความผิดพลาด ทำให้ระบบมีความแม่นยำมากขึ้น มีเวลาไปดูคนไข้มากขึ้น ที่เราต้องการพยาบาล 50,000 คน หากปรับเป็น Paperless ก็เป็น 10% กระทรวงสาธารณสุขมีพยาบาลประมาณแสนคน ก็เหมือนเพิ่มพยาบาลได้หมื่นคน หากเพิ่ม IPD Paperless อย่างนี้เป็นต้น ระบบดิจิทัลน่าจะถูกทาง เป็นการปฏิวัติการทำงาน"
นอกจากนี้ ยังต้องมี Connection เมื่อระบบดิจิทัลเชื่อมโยงจะสามารถส่งต่อคนไข้ได้ ส่วนการยกระดับ คือ การพัฒนาระบบและยกระดับบริการให้ประชาชน ได้แก่
1.ปรับภูมิทัศน์โรงพยาบาล ตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลศูนย์ทั่วไป เพราะคนภายนอกจะเห็นรูปโฉมโรงพยาบาล
2.เสริมบริการ ต้องบริการด้วยหัวใจ เสริมเรื่องของการสื่อสาร สร้างความเข้าใจกับญาติ
3.เพิ่มศักยภาพในการให้บริการ สิ่งสุดท้ายที่คนต้องการ คือ การบริการอย่างสุดความสามารถด้วยเทคโนโลยีที่มีอย่าง Telemedicine รวมถึงเทคโนโลยีที่ดูแลโรคที่เป็นปัญหาสำคัญ คนไทยเสียชีวิตเป็นลำดับต้น ๆ เช่น ศูนย์ดูแลโรคหัวใจและหลอดเลือด ศูนย์ดูแลโรคสมอง และศูนย์มะเร็ง ให้การดูแลรักษามะเร็งอย่างครบวงจร
"เมื่อวานนี้ (24 มิ.ย.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ก็ได้เปิดเรื่องทีมไกล่เกลี่ย เมื่อเกิดปัญหาข้อผิดพลาดในการรักษา ทุกวันนี้กระทรวงสาธารณสุขดูแลผู้ป่วยนอกประมาณ 1 ล้านคน ผู้ป่วยในประมาณ 1 แสนคน มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 5 แสนคน ระบบสาธารณสุขจะข้องเกี่ยวทั้งผู้ป่วย ญาติ เจ้าหน้าที่ รวม 2-3 ล้านคนต่อวัน การทำงานอาจมีความบกพร่องเกิดขึ้น ความบกพร่องเชิงระบบเกิดขึ้นได้ ทำยังไงให้สามารถแก้ไข ทำความเข้าใจได้" นพ.โอภาส กล่าว
บุคลากรถ่ายโอน รพ.สต. อยากย้ายกลับ
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า มีเรื่องที่ต้องจัดการ เรื่องการถ่ายโอน รพ.สต. ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย บางคนอยากกลับมา ต้องดูเป็นราย ๆ ไป สิ่งสำคัญ คือ ต้องดูแลเรื่องระบบสาธารณสุขและการบริการคนไข้ ตามนโยบายที่ รมว.สธ. ในเรื่องของการบริการปฐมภูมิ ตามที่กฎหมาย พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิฯ เป็นการรวมบุคลากร แพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ มารวมตัวกันเพื่อให้บริการประชาชน โดยกฎหมายจะยึดประชาชนเป็นฐาน คิดรวมกันหมื่นคน แล้วมีหน่วยบริการในการดูแลปฐมภูมิ โดยไม่ยึดพื้นที่มากเกินไป จะเชื่อมโยงกับระบบสาธารณสุขและพยาบาล
ขาดพยาบาล 5 หมื่นคน รอบรรจุอีก 6,000 คน
นพ.โอภาส เพิ่มเติมว่า ช่วงเช้าได้มีการพูดคุยกันว่า การขาดพยาบาล 50,000 คน ทำอย่างไรจะเพิ่มได้ภายใน 10 ปี และยังมีพยาบาลที่ยังไม่ได้บรรจุอีก 6,000 คน รวมทั้งต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
"การแก้ปัญหาเรื่องคน ภายใต้กฎระเบียบ ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) แก้ไม่ได้ เพราะบุคลากรสาธารณสุขในเชิงจำนวนมีอยู่ถึง 4 แสนคน มีสาขาวิชาชีพเยอะ บางคนว่าผม ทำไมดูแลแต่พยาบาล ไม่ดูแลวิชาชีพอื่น บอกว่า Conflict of interest ไม่ใช่ครับ ดูทุกวิชาชีพ หากใช้ระเบียบ ก.พ. ปัจจุบันทำไม่ได้ ต้องการระเบียบเฉพาะของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้กำลังร่าง พ.ร.บ.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขขึ้น กฎหมายจะเขียนจำนวนข้าราชการที่จำเป็นต้องมีจำนวนเท่าไหร่ เบื้องต้นประมาณการว่า 8 แสนคน ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 4-5 แสน ไม่ถึงครึ่ง"
นอกจากจำนวนข้าราชการที่จำเป็นต้องมี ยังมีเรื่องค่าตอบแทนที่เหมาะสม ความก้าวหน้าในวิชาชีพ การพัฒนา เดิมไม่สามารถทำได้ แต่ถ้ามีก็จะทำให้การทำงานสะดวกขึ้น โดยเรื่องบุคลากรมีแผนทั้งระยะสั้นและระยะกลาง ส่วนเรื่องการเงินที่เข้าสู่ระบบ ในกระทรวงสาธารณสุขยังไม่เพียงพอ แต่จะจัดสรรเงินให้เหมาะสมอย่างไร ถ้าเทียบกับประเทศอื่นค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขน้อยมาก แต่สิ่งที่ต้องแสดงให้เห็น คือ เงินแค่นี้ทำได้คุ้มค่า ประสิทธิภาพที่บุคลากรสาธารณสุขและระบบสาธารณสุขทำได้เท่าไหร่ หากเติมงบประมาณให้จะได้อะไรเพิ่มมากขึ้น โจทย์ตอนนี้ คือ ทำอย่างไรให้เงินที่มีอยู่กระจายได้อย่างเหมาะสมและคุ้มค่าที่สุด
เตรียมออกระเบียบให้พยาบาลเกษียณ กลับมาดูแลผู้ป่วยในชุมชน
นพ.โอภาส เพิ่มเติมว่า สำหรับพยาบาลที่เกษียณอายุราชการแล้ว ต้องออกระเบียบให้พยาบาลที่เกษียณแล้วมาทำงานโฮมวอร์ด เติมพยาบาลมาได้ส่วนหนึ่ง
"ถ้าเป็นดิจิทัลก็เหมือนได้พยาบาลมาหมื่นคน ถ้าเกษียณแล้วปีละอีก 3,000 คน ถ้ามาช่วยดูแลในชุมชนที่ไม่หนักเกินไป ให้มาช่วยงานที่เหมาะสมกับสุขภาพ ก็จะเติมได้อีก 3,000 คน ที่เหลือก็ผลิตเพิ่ม ซึ่งภาระงานของพยาบาลสำคัญมาก คนที่ลาออกเพราะงานหนักจนชีวิตเสียไป ทำอย่างไรให้ภาระงานลดลง ทุกเรื่องสอดคล้องกันหมด ต้องการเงิน ผลิตพยาบาลเพิ่มขึ้น ลดภาระงานลง สวัสดิการ ส่วนเรื่องการบรรจุพยาบาลอีก 6,000 ตำแหน่ง ก็จะไปเร่งรัด ก.พ.ต่อไป"
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีการลงทุนเรื่องเทคโนโลยี ลดความผิดพลาด ลดความแออัด แต่ก็ต้องเพิ่มกำลังคนให้เพียงพอ จัดบริการที่เหมาะสมกับชีวิตบุคลากร ให้มี Work-life Balance นอกจากนี้ ยังมีเรื่องบ้านพักทั้งระบบที่ต้องการประมาณแสนยูนิต แต่ที่เร่งด่วน คือ 20,000 ยูนิต ต้องเร่งดำเนินการให้มีบ้านพักอย่างเพียงพอ
ที่ผ่านมา นโยบายที่สำคัญ คือ การดูแลผู้ป่วยยาเสพติด ได้มีการยกระดับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ให้มีหอผู้ป่วยจิตเวชทุกโรงพยาบาล สามารถดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิต โรงพยาบาลชุมชนก็มีกลุ่มงานจิตเวช มีพยาบาลจิตเวชดูแล จึงแก้ปัญหาเรื่องนี้ไปได้ แต่ก็ต้องปรับตัวและพัฒนา
ด้านนางอัมราภัสร์ อรรถชัยวัจน์ ผู้อำนวยการกองการพยาบาล และเลขานุการรางวัลศรีสังวาลย์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 27 มิถุนายน 2567 ได้รับการสนับสนุนวิทยากรจาก สภาการพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลภูมิพล โรงพยาบาล BNH วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา สถาบันโรคผิวหนัง สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี และกองการพยาบาล นอกจากการบรรยายวิชาการและการอภิปรายที่มุ่งเน้นการวางทิศทางอนาคตการพยาบาลไทยในระบบสุขภาพ ตามแผนกลยุทธ์การพยาบาลและการผดุงครรภ์ ด้านกำลังคน ด้านการศึกษา ด้านภาวะผู้นำ และด้านการให้บริการการพยาบาล ยังเปิดโอกาสให้พยาบาลวิชาชีพและนักวิชาการได้นำเสนอผลงานวิจัยทางวาจา (Oral Presentation) 3 ประเภท ได้แก่ การบริหารทางการพยาบาล การบริการพยาบาลในโรงพยาบาล และการบริการพยาบาลในชุมชน รวม 63 ผลงาน ซึ่งจะเป็นการยกระดับการบริการพยาบาลให้มีคุณภาพมาตรฐานยิ่งขึ้น
สำหรับ “รางวัลศรีสังวาลย์” เป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดสำหรับพยาบาลผู้มีผลงานดีเด่นระดับประเทศ จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2552 โดยได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระนามาภิไธย “ศรีสังวาลย์” เป็นชื่อรางวัลและได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญอักษรย่อพระนามาภิไธย “ส.ว.” ประดิษฐานบนโล่รางวัล ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556 เพื่อรำลึกในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงมีต่อวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และเริ่มการสรรหาคัดเลือกและตัดสินผู้สมควรได้รับรางวัลศรีสังวาลย์ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา
- 9729 views