เวทีสานพลังชุมชนล้อมรักษ์ เผยปี 66 ผู้ป่วยยาเสพติดกว่า 1.9 ล้านคน แบ่ง 3 สีตามกลุ่มอาการ สีเขียวเยอะสุดกว่า 1.4 ล้านคน กลุ่มรุนแรง 3.8 หมื่นคน ด้าน “สมศักดิ์” แจงความจำเป็น ยาบ้า 1 เม็ด ผู้เสพต้องระบุผู้ขายก่อนบำบัดรักษา พร้อมยึดทรัพย์ตัดวงโคจร ไม่เช่นนั้นสธ.ต้องบำบัดรักษาไม่จบสิ้น ยังไม่รับปากปมผู้พ้นโทษ ทำงานราชการได้ เหตุมีเรื่องข้อกฎหมาย
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดเวทีสานพลังชุมชนล้อมรักษ์ กรุงเทพมหานคร และชี้แจงแนวนโยบายและกระบวนการขับเคลื่อนงานสร้างรูปธรรม ชุมชนล้อมรักษ์ CBTx โดยมี นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต และผู้แทนภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ เข้าร่วม
ปี 66 ผู้ป่วยยาเสพติดกว่า 1.9 ล้านคน แบ่ง 3 สีตามกลุ่มอาการ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในปี 2566 ประเทศไทย มีผู้ป่วยยาเสพติดประมาณ 1,900,000 คน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง ซึ่งมีอาการรุนแรง หรือ ผู้ติดยาเสพติด 38,000 คนหรือประมาณ 2% 2.ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง หรือผู้เสพ 450,000 คน หรือประมาณ 24% และ 3.ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หรือผู้ใช้ยาเสพติด 1,400,000 คน หรือประมาณ 74% โดยชุมชนล้อมรักษ์ หรือ CBTx เป็นกระบวนการสำคัญ ที่ช่วยการดูแลสนับสนุน และฟื้นฟูผู้ป่วยที่ต้องการเลิกยาเสพติด ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้สะดวก ไม่ต้องเดินทางไกล ได้รับการดูแลที่ครอบคลุม และต่อเนื่อง ทั้งทางการแพทย์ สภาพจิต สังคม การศึกษา และการฟื้นฟู พร้อมช่วยเสริมสร้างความรู้ และทักษะในการดูแลตนเอง และผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ยังไม่รับปากปมผู้พ้นโทษยาเสพติด สามารถทำงานราชการได้
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา มีชุมชนซึ่งเป็นฐานในการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติด ประมาณ 10,000 แห่ง และเมื่ออาการดีขึ้น สามารถส่งต่อไปยังศูนย์ฟื้นฟูสถานภาพทางสังคม กระทรวงมหาดไทย 3,258 แห่ง เพื่อรับไปดูแล คืนคนดีสู่สังคม และมีกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ หรือ พชอ. เป็นกำลังสำคัญ ร่วมสร้างชุมชนเข้มแข็ง ป้องกันยาเสพติด ส่วนหนังสือที่ได้มีการยื่นให้กับตนเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติด ก็เห็นตรงกัน แต่สิ่งที่ตั้งคำถามมา เป็นการทำงานแบบตั้งรับ แต่ตนทำงานแบบรุกตั้งแต่อยู่กระทรวงยุติธรรมแล้ว โดยได้แก้กฎหมายประมวลยาเสพติด เพื่อเน้นการยึดอายัดทรัพย์ เพราะในอดีต เราไม่ได้ทำเชิงรุก เป็นการตั้งรับอย่างเดียว ซึ่งในแต่บละปีสามารถยึดทรัพย์ได้ไม่ถึง 20 ล้านบาท ทั้งที่แหล่งผลิตต้นทางมีมูลค่าถึง 7 หมื่นล้านเหรียญ ตนจึงมองว่า การแก้ยาเสพติด ถ้าตั้งรับอย่างเดียวจะเหนื่อยมาก จึงมีการเปลี่ยนแนวทางเน้นการยึดทรัพย์ ให้รางวัลคนแจ้งเบาะแส 5% รวมถึงตนก็เพิ่งเปลี่ยนแนวทางการทำคดี ผู้เสพเหลือ 1 เม็ด แต่ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ด้วยว่า เป็นผู้เสพ พร้อมบอกว่าซื้อจากใคร ซึ่งก็จะได้ 1 ผู้เสพ และ 1 ผู้ขาย
“ส่วนข้อเสนอให้ผู้พ้นโทษจากคดียาเสพติด สามารถทำงานเป็นราชการได้นั้น ผมยังไม่สามารถรับรองได้ เพราะเกี่ยวข้องกับกฎหมาย แต่การให้ทำงาน ผมก็พร้อมสนับสนุน เนื่องจากหากพ้นโทษออกมาแล้วว่างงาน ก็จะกระทำผิดซ้ำอีก โดยเรื่องนี้ เราเห็นตรงกัน ซึ่งตอนผมเป็น รมว.ยุติธรรม ก็ได้ขับเคลื่อนนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ 5 ภาค เพื่อรองรับผู้พ้นโทษจากเรือนจำแล้วไม่มีงานทำ” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ยาบ้า 1 เม็ด ผู้เสพต้องระบุผู้ขายก่อนบำบัดรักษา
ผู้สื่อข่าวถามกรณีครอบครองยาบ้า 1 เม็ดเป็น ผู้เสพ ต้องระบุผู้ขาย นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องผู้เสพ 1 เม็ดต้องระบุผู้ขายนั้น เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ระบุว่า คนจะเป็นผู้เสพ จะต้องมีการสอบสวนเชิงลึกว่า ซื้อมาจากไหน ซึ่งจะทำให้ได้ทั้ง ผู้เสพไปบำบัด และผู้ขายรายเล็ก ที่จะเข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์ ส่วนรายใหญ่จะยาก เพราะอยู่นอกประเทศ อย่างไรก็ตาม กรณีนี้กฎหมายยังให้คำนวณย้อนหลัง ทั้งรายเล็กรายใหญ่ด้วย การปราบในอดีตที่ลักษณะตัดทอน แต่ วันนี้ทำไม่ได้แล้ว จึงต้องใช้การยึดทรัพย์ หากไม่ทำ ก็ต้องมาบำบัดไปแบบนี้ทั้งปีทั้งชาติ จะหายได้อย่างไร
เดินหน้าตั้งกองทุนสุขภาพจิตและยาเสพติด
เมื่อถามว่าเงินจากการยึดทรัพย์ จะนำมาตั้งกองทุนสุขภาพจิตและยาเสพติดเป็นการเฉพาะหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จริงๆ ป.ป.ส. เริ่มดำเนินการมาก่อนแล้วผ่านกองทุนยาเสพติด แต่ยังไม่ได้นำงบประมาณมาใช้ในด้านจิตเวชมากนัก ดังนั้น เรากำลังทำกฎหมาย ให้สามารถนำงบประมาณจากกองทุนยาเสพติด มาสนับสนุนการบำบัดผู้ติดยาเสพติด ผู้ป่วยจิตเวชได้ด้วย ทั้งการบำบัด การซื้อยา ขณะนี้ได้มอบหมายนายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำกฎหมายควบคู่กับกรมสุขภาพจิต โดยจะให้กรมสุขภาพจิตดูเรื่องยาเสพติดควบคู่กันไป ทำเป็นกฎหมายออกมาเลย ขณะนี้ได้สั่งการไปแล้ว
“ส่วนงบประมาณจะเข้ามาในกองทุนมากน้อยแค่ไหน ตอนนี้ยังไม่ทราบ ผมให้ไอเดียเพื่อไปทำงาน ก็ต้องรอว่าจะออกมาเป็นอย่างไร อย่างเงินที่ยึดทรัพย์กี่เปอร์เซ็นต์ หากเอาเข้ามาทำบำบัดรักษาก็จะดี ตรงนี้ยังต้องรอขั้นตอน ต้องผ่านการประชาพิจารณ์อีก” นายสมศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า จะตั้งกรมใหม่เป็นกรมสุขภาพจิตและยาเสพติดด้วยหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ หมายถึงมีกรมสุขภาพจิตให้ดูเรื่องยาเสพติดด้วย เพิ่มเข้าไปอีกได้หรือไม่ คือ เป็นเรื่องภารกิจ
สสส.ร่วมเครือข่ายสร้งพื้นที่ต้นแบบ 25 แห่งทั่วประเทศ
ด้าน นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. มีต้นทุนในการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชน สร้างพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดและเสริมสร้างชุมชนสุขภาวะในระดับพื้นที่/หมู่บ้าน/ชุมชน ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันมีพื้นที่ต้นแบบปลอดภัยจากปัญหายาเสพติด 25 พื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีพื้นที่ต้นแบบสามารถลดจำนวนผู้ติดยาเสพติดได้สำเร็จ เช่น พื้นที่ต.ตาดควัน อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย, พื้นที่ชุมชนบ้านคำเมย ต.ดูน อ.กันทรารมณ์ จ.ศรีสะเกษ และกลุ่มเยาวชนสานฝันบ้านนาคล้อใต้ ต.มะกรูด อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ทำให้เกิดแกนนำเครือข่ายขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดทั่วประเทศ 2,683 คน รวม 1,527 หมู่บ้าน/ชุมชน นำไปสู่การสร้างโมเดลจัดการปัญหายาเสพติดขยายผลสู่ชุมชนอื่น ๆ
“การแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยใช้โมเดลชุมชนล้อมรักษ์ ทำให้มีผู้เข้ารับการบำบัดโดยสมัครใจและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขในชุมชนสังคม โดยที่พวกเขาได้รับโอกาสจากคนในชุมชน นำไปสู่การส่งต่อข้อมูลการบำบัดจนทำให้หลายพื้นที่มีผู้ใช้/ผู้เสพยาเสพติด สมัครใจเข้ารับการบำบัดมากขึ้น ในขณะเดียวกันทำให้ชุมชนเข้มแข็งและมองปัญหายาเสพติดเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข จากเดิมที่หลายคนกลัวไม่กล้ายุ่งเมื่อได้ยินคำว่า ยาเสพติด แต่เมื่อได้ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ก็สามารถปรับเปลี่ยนวิธีคิดคือใช้แนวทางการแก้ปัญหาอย่างละมุนละม่อม การเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย เปลี่ยนผู้ป่วยกลับคืนสู่สังคม ทั้งนี้ สสส. จะเดินหน้าสานต่อกลไกที่สร้างร่วมกันเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดทั่วประเทศอย่างเข้มข้น” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
ยื่น 4 ข้อเสนอแก้ปัญหายาเสพติด
นายรังสรรค์ ชื่นประเสริฐ เครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า เครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง และภาคีสุขภาพกรุงเทพมหานคร ขอยื่นข้อเสนอการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดต่อรัฐบาล 1.สนับสนุนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยให้ชุมเป็นฐานของรัฐบาล โดยขอให้มีความจริงจังต่อเนื่อง 2.เร่งจัดตั้งศูนย์บำบัดแบบปิด ใช้เวลารักษาอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อเพิ่มโอกาสการบำบัดรักษาให้สำเร็จ 3.เร่งรณรงค์ และสนับสนุนมาตรการองค์กรทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ให้โอกาสผู้ที่ผ่านการบำบัดยาเสพติดและผู้ที่พ้นโทษทางกฎหมาย สามารถสมัครเข้าทำงานได้ 4.ขอให้กระทรวงแรงงานได้จัดหาอาชีพ หรือมีกองทุนสนับสนุนการประกอบอาชีพ (คล้ายกับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา) เพื่อรองรับผู้ที่ผ่านการบำบัดยาเสพติดและผู้ที่พ้นโทษทางกฎหมาย ให้สามารถมีอาชีพหรือมีทุนในการประกอบอาชีพได้
- 328 views