ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าขจัดยาเสพติดให้หมดไป เปิดปฏิบัติการ Continue to Zero ทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางรวมน้ำหนักกว่า 20 ตัน จาก 41,800 คดี มีมูลค่าประมาณ 6,456 ล้านบาท มากสุดเป็น เมทแอมเฟตามีน ทั้งชนิดยาบ้าและยาไอซ์ รวมกว่า 19.9 ตัน ด้าน "สมศักดิ์" ลั่นยาบ้า ยาเสพติดต้องยึดทรัพย์ ไม่เช่นนั้นไม่หลาบจำ การบำบัดก็จะไม่ลดลง

 

ปล่อยขบวนรถขนย้าย ยาเสพติด ของกลาง

เมื่อวันที่  26 มิถุนายน ที่ ตึก One Stop Service Center   สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานปล่อยขบวนขนย้ายยาเสพติดของกลาง ครั้งที่ 58 และมอบให้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการทำลายยาเสพติดของกลาง ณ นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ผู้บริหารจากกระทรวงสาธารณสุข ส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2566 กระทรวงสาธารณสุขมีการทำลายยาเสพติดของกลางครั้งใหญ่ น้ำหนักมากถึง 340 ตัน เพื่อเป็นการ Set Zero ยาเสพติดให้สิ้นไป ครั้งนี้เป็นการเดินหน้าปฏิบัติการ Continue to Zero ทำลายเสพติดของกลางครั้งที่ 58 ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ของปีงบประมาณ 2567 มีน้ำหนักรวมกว่า 20,593 กิโลกรัม จาก 41,800 คดี รวมมูลค่าประมาณ 6,456 ล้านบาท

“วันนี้ที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดการถือครองยาบ้าจาก 5 เม็ดเหลือ 1 เม็ด มีผลบังคับใช้แล้ว และกำลังนำกัญชา กลับเข้าเป็นยาเสพติด ซึ่งได้รับฟังความคิดเห็นประชาชนผ่านเว็บไซต์ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน จนถึงวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา มีผู้แสดงความคิดเห็นมากกว่า 100,000 คน ซึ่งในส่วนความเกี่ยวข้องการปราบปราม ยังต้องเน้นเรื่องการยึดทรัพย์ด้วย เพราะจะเน้นบำบัดรักษาอย่างเดียวไม่พอ จึงต้องมีทางออกในเรื่องการยึดทรัพย์เป็นเรื่องหลักด้วย ควบคู่กับการดำเนินการต่างๆ รวมถึงการเผาทำลายยาเสพติดในครั้งนี้ ก็เป็นหนึ่งในกระบวนการปราบปรามยาเสพติดเช่นกัน” นายสมศักดิ์ กล่าว

ไม่ยึดทรัพย์ ไม่หลาบจำ

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า  อย่างสารตั้งต้นมีต้นทุน 1 กิโลกรัม 100 บาท ถ้า 1 ตัน เท่ากับ 10,000 บาทแต่ขายได้ 100,000 บาท เป็นล้านบาท มูลค่าต่างกันมาก  เราจึงต้องจัดการพวกนี้ ยึดทรัพย์ และทำลายยาเสพติดให้หมด นี่เป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับประชาชน ตัวเลขเหล่านี้ทำให้คนค้าไม่กลัวคุก คุกตาราง วิธีการจับไม่หลาบจำ สิ่งสำคัญต้องยึดทรัพย์

“ที่ผ่านมาในเรื่องกฎหมาย หากศาลไม่ตัดสินเราไม่สามารถทำลายได้ แต่วันนี้หากจับกุม และพิสูจน์ว่าเป็นสารยาเสพติดก็สามารถเผาทำลายได้ทันที ซึ่งมีความรวดเร็วในการดำเนินการมากขึ้น  จะเห็นว่าโกดังของ อย. จะโล่งอยู่เรื่อยๆ เพราะเมื่อมีของกลางก็จะเผาทำลายตลอด” นายสมศักดิ์ กล่าว

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการต่อสู้กับยาเสพติด เพื่อไม่ให้มียาเสพติดกลับคืนสู่สังคมอีก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้จัดกิจกรรมทำลายยาเสพติดของกลางครั้งที่ 58 ด้วยการเผาในเตาเผาขยะอันตราย (Hazardous waste Incinerator ซึ่งมีอุณหภูมิสูง 1,200 องศาเซลเซียส โดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NG) พร้อมด้วยระบบควบคุมสารมลพิษที่เหลือจากการเผาทำลาย ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งยาเสพติดที่จะทำลาย ได้แก่ เมทแอมเฟตามีน  (ทั้งชนิดยาบ้าและยาไอซ์) รวมกว่า 19,945 กิโลกรัม เฮโรอีน กว่า 274  กิโลกรัม เอ็มดีเอ็มเอ กว่า 7 กิโลกรัม โคคาอีน กว่า 3 กิโลกรัม ฝิ่น กว่า 48 กิโลกรัม คีตามีน กว่า 312 กิโลกรัม และอื่นๆ 

ยึดทรัพย์เป็นการใช้ยาแรง ลดการบำบัดน้อยลง

นายสมศักดิ์ ยังให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข จะมีส่วนในการอนุญาตนำเข้าสารเคมี สารตั้งต้นบางชนิด หรือเป็นส่วนประกอบในเรื่องผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรืออื่นๆ หากนำเข้ามากเกินไป ให้ตั้งข้อสังเกตตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ อะไรเกินกว่ากฎหมายก็ต้องห้ามนำเข้า หากทำผิดก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย  อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้กระทรวงสาธารณสุข บำบัดรักษาให้น้อยลงได้ หากมาตรการต่างๆ ไม่ครบวงจร การบำบัดก็จะสูงขึ้น

"ยึดทรัพย์จะเป็นการใช้ยาแรงกับผู้ค้า ผู้ผลิต หากเราจัดการได้ การบำบัดก็จะน้อยลง ถ้าเราปล่อยปละละเลย ดำเนินการไม่ครบวงจร ตัวเลขการบำบัดจะมากขึ้น" นายสมศักด์ กล่าวย้ำ

เมื่อถามว่า ยาบ้าเป็น 1 เม็ดจะทำให้ผู้ค้า บอกว่าตนเองเป็นผู้เสพ หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า  ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า เป็นผู้เสพจริง เช่น ตรวจปัสสาวะ และตำรวจก็ต้องสืบหามูลฐานคนเสพว่า เอายามาจากไหน เพราะในกฎหมายให้ดำเนินการ และครม.ก็ย้ำเรื่องนี้