สปสช. ลงพื้นที่ รพ.สุราษฎร์ธานี รับฟังการใช้งาน “ถุงทวารเทียมในบัญชีนวัตกรรมไทย” ผู้ป่วยมะเร็ง พบยังต้องปรับปรุง พร้อมสะท้อนปัญหาถึงผู้ผลิต เน้นการพัฒนาโดยยึดคุณภาพ-มาตรฐานตอบสนองการใช้งานผู้ป่วย
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย นพ.ดุสิต ขำชัยภูมิ รองเลขาธิการ สปสช. นายธงชัย สิทธิยุโณ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 11 สุราษฎร์ธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เพื่อติดตาม และรับฟังความเห็นการดำเนินงาน “การใช้อุปกรณ์เก็บของเสียจากลำไส้ในผู้ป่วยผ่าตัดเปิดทวารเทียม (Colostomy Bag) หรือถุงทวารเทียมจากยางพารา ผลิตภัณฑ์จากบัญชีนวัตกรรมไทย” สำหรับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ณ โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีคณะผู้บริหารโรงพยาบาล และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ
นายไสว พรพิรัก ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ระยะที่ 3 อายุ 59 ปี เปิดเผยว่า หลังจากได้รับการผ่าตัดแล้วได้มีการใส่ถุงทวารเทียมบริเวณหน้าท้องมาแล้วราว 8 เดือน โดยได้รับถุงทวารเทียม และแป้นสำหรับยึดเกาะจำนวนอาทิตย์ละ 5 ชุด ซึ่ง 1 ชุดสามารถใช้ได้เต็มที่ 5 วัน และต้องคอยทำความสะอาดอยู่ตลอดเวลาเพื่อสุขอามัย รวมถึงป้องกันถุงหลุดหากรับน้ำหนักมากเกิน
อย่างไรก็ดี จากการใช้งานถุงทวารเทียมจากบัญชีนวัตกรรมไทยพบว่ากาวที่แปะอยู่ตรงบริเวณผิวหนังหน้าท้องอาจจะมีรอยหลุด รวมถึงรู้สึกว่าถุงค่อนข้างแตกง่าย หากเทียบกับของเดิมที่เคยใช้ ซึ่งส่วนนี้คิดว่าอาจเป็นเพราะยังไม่เข้าใจการใช้งาน
น.ส.รัตนา ใจรักษ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ เฉพาะทางด้านการดูแลแผล และทวารเทียม โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ต้องใช้ถุงทวารเทียมส่วนมากจะเป็นผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ระยะที่ 3 และระยะที่ 4 แต่ก็ยังมีผู้ป่วยกลุ่มโรคอื่น เช่น กะเพราะอาหารทะลุ เกิดอุบัติเหตุรุนแรงที่จะมีโอกาสได้ใช้ถุงทวารเทียมบ้าง แต่ก็จะเป็นลักษณะชั่วคราว ต่างจากผู้ป่วยมะเร็งที่จะอาจจะต้องใช้ตลอดชีวิต
อย่างไรก็ตาม มองว่าถุงทวารเทียมที่ตอบโจทย์กับผู้ป่วยนั้น กาวของแป้นจะต้องเหนียว และติดกับพื้นผิวหนังได้ทุกที่ มีตัวล็อกระหว่างถุงกับแป้นแน่นหนา ไม่หลวมเพื่อให้ผู้ป่วยมั่นใจในการใช้ชีวิต รวมถึงอุปกรณ์สำหรับการปิดปากถุงควรจะต้องแน่นหนา ที่ผ่านมาก็ได้มีเสียงสะท้อนจากผู้ป่วยว่าควรจะเป็นลักษณะของตีนตุ๊กแก ซึ่งจะทำให้การปิดปากถุงแนบสนิท และแน่นมากขึ้น และสุดท้ายควรจะมีตัวดับกลิ่น เช่น ผงถ่าน เพื่อดับกลิ่นไม่พึงประสงค์
“ที่ผ่านมาถุงทวารเทียมจากบัญชีนวัตกรรมไทยก็ได้มีการพัฒนาน่าจะ 2 ครั้งแล้ว ซึ่งก็จะเห็นได้ว่ามีการพัฒนา เช่น แป้นที่ติดกับผิวบางลง” น.ส.รัตนา ระบุ
นางไปยดา หาญชัยสุขสกุล รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือทีเซลส์ กล่าวว่า ทีเซลส์ ได้ดำเนินการร่วมกับ สปสช. ในการรับฟังความเห็นการใช้งานว่ามีปัญหา หรือติดขัดในส่วนใดเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้บัญชีนวัตกรรมตอบโจทย์กับผู้ใช้งาน ทั้งผู้ป่วย พยาบาล และผู้ดูแล เช่น กระบวนการปรับปรุงการผลิต
“ส่วนของถุงทวารเทียม ทีเซลส์ จะเข้าไปสนับสนุนการติดตามประเมินผลเชิงระบบ ติดตามการบริหารจัดการ การกระจายผลิตภัณฑ์ และการวิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์” นางไปยดา กล่าว
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้รับฟังความคิดเห็นจากพยาบาลเฉพาะทางด้านการดูแลผู้ป่วยทวารเทียม ซึ่งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยได้สะท้อนภาพการใช้งานของผู้ป่วยที่เคยใช้ถุงทวารเทียมรุ่นก่อนหน้าที่ผลิตจากต่างประเทศ เปรียบเทียบกับการใช้งานถุงทวารเทียมจากบัญชีนวัตกรรมไทยว่ายังมีความแตกต่างกัน เช่น ความนิ่ม การปิดปากถุง การดับกลิ่น ซึ่ง สปสช. ได้รับข้อเสนอส่วนนี้และจะสะท้อนไปยังผู้ผลิต รวมถึงติดตามว่าจะมีการปรับปรุงอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ใช้งานมากที่สุด
“สปสช. ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะคุณภาพและมาตรฐานยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ สปสช. ห่วงใย ซึ่งทุกความเห็นที่สะท้อนมา จะรวบรวมเพื่อให้ผู้ผลิตนำไปพิจารรณาในการปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานถุงทวารเทียม ซึ่งให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อไปว่า ถุงทวารเทียมจากบัญชีนวัตกรรมไทย เริ่มดำเนินการใช้ในปีงบประมาณ 2567 เพราะด้านหนึ่งสามารถลดงบประมาณจากการนำเข้าของต่างประเทศได้ เฉลี่ยราคาเดิมจะอยู่ที่ 250-300 บาท ซึ่งผู้ป่วยรายหนึ่งต้องใช้ 5-10 ชุดต่อเดือน ขณะเดียวกันราคาถุงทวารเทียมจากบัญชีนวัตกรรมไทยที่ผลิตจากยางพารามีราคาอยู่ที่ 190 บาท
มากไปกว่านั้น สปสช. ได้มีการออกกติกาเพิ่มเติม เฉพาะผู้ป่วยที่มีมีอาการแพ้ถุงทวารเทียมจากบัญชีนวัตกรรมไทยตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ สามารถใช้ถุงทวารเทียมตามระบบเดิมได้ จากเดิมที่ระบุว่าจะต้องใช้จากบัญชีนวัตกรรมไทยทั้งหมด ฉะนั้นในการดูแลถุงทวารเทียมสำหรับผู้ป่วยจะมี 2 ระบบในขณะนี้
อนึ่ง สปสช. ได้บรรจุการใช้ถุงทวารเทียมเป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 หรือปีงบประมาณ 2562 ด้วยมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องใช้ถุงทวารเทียม โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่เข้าไม่ถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นเหล่านี้ ส่งผลต่อสุขอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดี และด้วยในวันนี้มีผลิตภัณฑ์ “แป้นปิดรอบลำไส้แบบเรียบ” และ “ถุงเก็บสิ่งขับถ่ายจากลำไส้” ได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีนวัตกรรมไทยแล้ว มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดี เพื่อเป็นการสนับสนุนนวัตกรรมของไทยตามนโยบายรัฐบาล จึงได้เสนอต่อบอร์ด สปสช. และมีมติเห็นชอบตั้งแต่ พ.ค. 2566
- 166 views