บอร์ด สปสช. ปรับหลักเกณฑ์สิทธิประโยชน์ “ถุงทวารเทียม” ให้เป็นการเบิกจ่ายผลิตภัณฑ์ แทนการจ่ายชดเชยเป็นเงินให้กับหน่วยบริการ หลังมีประกาศขึ้นบัญชีนวัตกรรมใหม่ ทั้ง “แป้นปิดรอบลำไส้แบบเรียบ” และ “ถุงเก็บสิ่งขับถ่ายจากลำไส้” ทั้งเพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของไทย พร้อมได้จัดสรรงบดำเนินการ 34.8 ล้านบาท ดูแลผู้ป่วยในปีงบประมาณ 2566 นี้  

วันที่ 13 พ.ค. 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 6/2566 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายรายการอุปกรณ์ใช้เก็บของเสียจากลำไส้ (ถุงทวารเทียม : Colostomy Bag) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” ในปีงบประมาณ 2566 โดยให้เป็นการจัดหาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวซึ่งเป็นบัญชีนวัตกรรมไทย และให้หน่วยบริการทำการเบิกจ่ายแทนการชดเชยเป็นเงิน ภายใต้วงเงิน 34.8 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ได้เคยมีมติเห็นชอบบรรจุสิทธิประโยชน์ถุงทวารเทียมไปแล้ว แต่ให้ สปสช. นำเสนอเรื่องนี้ต่อบอร์ด สปสช. พิจารณาอีกครั้ง หากมีการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อเป็นการสนับสนุน กระทั่งล่าสุดเมื่อพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ทางสำนักงบประมาณได้ประกาศบรรจุให้ “แป้นปิดรอบลำไส้แบบเรียบ” และ “ถุงเก็บสิ่งขับถ่ายจากลำไส้” เป็นผลิตภัณฑ์ในบัญชีนวัตกรรมไทย
 
ดังนั้น สปสช. จึงนำเรื่องนี้เสนอต่อบอร์ด สปสช. อีกครั้ง พร้อมพิจารณาปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายรายการอุปกรณ์ใช้เก็บของเสียจากลำไส้ จากเดิมที่ได้จายชดเชยเป็นเงินกับหน่วยบริการในการจัดหาถุงทวารเทียมกันเอง เป็นการจัดซื้อรวมโดยเครือข่ายหน่วยบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ โรงพยาบาลราชวิถี และกระจายให้กับหน่วยบริการเพื่อใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวดูแลผู้ป่วย 

 
“มติบอร์ด สปสช.วันนี้ ได้เห็นชอบให้ปรับแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษประจำปีงบประมาณ 2566 โดยเพิ่มรายการอุปกรณ์ใช้เก็บของเสียจากลำไส้ฯ ตามบัญชีนวัตกรรมไทย 2 รายการ วงเงิน 34.8 ล้านบาท ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับในปีงบประมาณนี้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว  

 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ขณะเดียวกันยังมอบให้ให้ สปสช. ดำเนินการเพิ่มกลไกการกระจายผลิตภัณฑ์ให้กว้างขวางนอกเหนือจากระบบเดิม เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์อย่างสะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ให้มีระบบกำกับติดตามการใช้ผลิตภัณฑ์ในบัญชีนวัตกรรมผ่านรูปแบบคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามคุณภาพ ผลกระทบต่อผู้ป่วย สำหรับการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์เพื่อให้มีความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยในอนาคตต่อไป

“สิทธิประโยชน์ถุงทวารเทียม สปสช. ได้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ มาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 หรือเริ่มในปีงบประมาณ 2562 ด้วยมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องใช้ถุงทวารเทียม โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่เข้าไม่ถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นเหล่านี้ ส่งผลต่อสุขอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดี และด้วยในวันนี้มีผลิตภัณฑ์ “แป้นปิดรอบลำไส้แบบเรียบ” และ “ถุงเก็บสิ่งขับถ่ายจากลำไส้” ได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีนวัตกรรมไทยแล้ว มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดี เพื่อเป็นการสนับสนุนนวัตกรรมของไทยตามนโยบายรัฐบาล จึงได้เสนอต่อบอร์ด สปสช. และมีมติเห็นชอบในวันนี้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว