ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ราชวิทยาลัยจิตแพทย์-กุมารแพทย์-เครือข่ายหมอ-นักวิชาการ-เยาวชน ตบเท้าพบ “สมศักดิ์” ตีแผ่ข้อมูลผลกระทบ “กัญชา” หลังปลดล็อก กระทบสุขภาพเพียบ! ทั้งซึมเศร้า จิตเวช ทำร้ายตัวเอง มิหนำซ้ำเป็นสารตั้งต้นไปสู่การเสพเฮโรอีน หลังพบข้อมูลเยาวชน 40%ติดเฮโรอีนเริ่มจากกัญชา ขณะที่หมอเด็กเผยใช้รักษาลมชักดื้อยา หาก CBD ผิดสัดส่วนอาการยิ่งรุนแรง   หนุนรัฐบาลนำ “กัญชา” กลับเป็นยาเสพติด ด้าน “หมอบัณฑิต” แนะร่างพ.ร.บ.ฯ หยุดชั่วคราวก่อนค่อยมาพิจารณาจะเดินหน้ารูปแบบใด  ขณะที่สธ.เตรียมรวบรวมข้อมูลทั้งหมดขึ้นเว็บไซต์

 

รับฟังเครือข่ายแพทย์-ราชวิทยาลัยผลกระทบ “กัญชา” ต่อสุขภาพ จิตเวช

เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. วันที่ 1 มิถุนายน 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมรับฟังความคิดเห็นผลกระทบกัญชา จากนักวิชาการ สมาคม ราชวิทยาลัย และเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ได้รับผลกระทบจากปัญหากัญชาในสังคมไทย อาทิ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย  ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศโทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย  สมาคมนิติเวชแห่งประเทศไทย (เครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด) มูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด  มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว  มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก (ประสานเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย) YNAC (Youth Network Against Cannabis)และ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย เป็นต้น

เยาวชนติดเฮโรอีน 40% เริ่มจากกัญชา  

นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมว่า จากการรับฟังเครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ ทำให้ทราบข้อมูลหนึ่งที่น่ากลัวว่า มีเยาวชนติดเฮโรอีน 40% เพิ่มขึ้น พบว่าเป็นกลุ่มที่เริ่มจากกัญชา ขณะที่การรักษาพยาบาล ในช่วงก่อนหน้านี้ ที่กัญชายังเป็นยาเสพติดมูลค่าราว 3 พันล้านบาท  แต่เมื่อปลดล็อกกัญชา พบค่ารักษาพยาบาลพุ่งขึ้น 1.5-2 หมื่นล้านบาท ถือเป็นงบค่ารักษาพยาบาลที่สูงมาก นอกจากนี้ ทางการแพทย์ยังเผยข้อมูลว่าไอคิวเด็กลดลง และรักษาไม่หายอีกเมื่อกระทบสมองแล้ว ที่สำคัญยังพบว่า เสพกัญชายังมีผลเสียทำให้ซึมเศร้าเพิ่มและเสี่ยงทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตายเพิ่มอีก นี่เป็นอีกมุมหนึ่งที่รับฟัง ซึ่งหากมีกลุ่มอื่นเสนอข้อคิดเห็นใดๆ ก็พร้อมรับฟังเช่นกัน

หากฝ่ายเห็นต่างฟ้องศาล ก็เป็นสิทธิตามประชาธิปไตย

ผู้สื่อข่าวถามว่ายังมีกลุ่มเห็นต่างไม่ต้องการให้กัญชากลับเป็นยาเสพติด หากรัฐบาลยังยืนยันจะฟ้องร้องศาล นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลก็ต้องรับในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพียงแต่ต้องดูว่า อะไรสมควรมากกว่ากัน ก็ไม่เป็นไร เราเป็นประชาธิปไตย ก็ต้องดำเนินการทุกด้านให้ครบถ้วน เรายินดีรับฟังทั้งหมด ก่อนเวลาที่จะปรับแก้กฎหมายต่างๆ เรายินดีรับฟัง

 

"กัญชา" เป็นยาเสพติดต้องกลับเข้าบอร์ด ป.ป.ส.อีกครั้ง

ทั้งนี้ ภายในการประชุม นายสมศักดิ์ ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐบาลมีแนวทางที่จะให้นำกัญชากลับมาเป็นยาเสพติด แต่การประกาศเพิ่มเติมให้กัญชากลับมาเป็นยาเสพติดประเภท 5 นั้น เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชาชนและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ สำหรับองค์กรและหน่วยงานที่เชิญมานั้น แต่ละองค์กรมีสมาชิกรวมกันไม่น้อยกว่า 3 หมื่นคน ซึ่งเราต้องรับฟัง และรับฟังแล้วจะได้เป็นข้อมูลให้เราได้ตัดสินใจไม่ผิดพลาด

สำหรับวันนี้ยินดีที่ได้รับฟังข้อคิดเห็นจากนักวิชาการ เครือข่ายทางการแพทย์ ซึ่งได้ทราบข้อมูลความรู้ต่างๆ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณา ไม่เพียงแต่กระทรวงสาธารณสุข แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องระดับสูง โดยตนจะนำข้อมูลไปเสนอต่อคณะรัฐมนตรี อย่างที่ผ่านมาอาจพบว่า 50 ต่อ 50 แต่สิ่งสำคัญต้องมีข้อมูลข้อเท็จจริงทางการแพทย์ด้วย ทั้งนี้ การจะปรับแก้กัญชาให้เป็นยาเสพติด ก็ต้องผ่านคณะกรรมการเกี่ยวข้องต่างๆ ที่สำคัญคือ คณะกรรมการ ป.ป.ส. ซึ่งในอดีตได้ปรับเปลี่ยนให้กัญชา ออกจากบัญชียาเสพติด แต่วันนี้จะเอากลับไปอีก ก็ต้องช่วยกันในการเอาข้อมูลข้อเท็จจริงมาเปิดเผย แต่ก็ต้องรับฟังกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้เช่นกัน

ภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากกัญชา อีกปัจจัยพิจารณา 

ผู้สื่อข่าวถามว่าหลักในการพิจารณานำ กัญชา กลับเป็นยาเสพติด เช่น ค่าใช้จ่ายภาระด้านสุขภาพ เป็นส่วนหนึ่งหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า   เป็นส่วนใหญ่  เพราะวันนี้รัฐบาลให้งานออกมาเยอะ  ได้คุยกับปลัดสธ.อยู่ว่า ทำงานหนักแบบนี้ได้อย่างไร ไม่ได้ดูงบประมาณเลย  ซึ่งวันนี้หากไม่ยอมให้กัญชากลับเป็นยาเสพติด ก็เพิ่มงบประมาณมาให้เราด้วย

เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรกับอีกกลุ่มที่เห็นต่าง ต้องเชิญมาพูดคุยอีกครั้งด้วยหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการเข้าพบ ซึ่งยินดีหากใครหรือส่วนใดๆที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น นำเสนอข้อมูลรอบด้าน  ซึ่งสามารถประสานกับ นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต ในฐานะโฆษกสื่อสารด้านกัญชา

เมื่อถามถึงขั้นตอนการดำเนินงานจากนี้ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า   เรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับเรื่องของพรรคการเมืองด้วย  ที่ท่านทั้งหลายได้สนับสนุน ในอดีตที่ผ่านมาข้อมูลอาจจะแตกต่างกัน เราก็ต้องให้เวลาตกผลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันไม่ได้จบแค่นี้ การที่จะทําให้ตกผลึกนั้น อาจต้องใช้ความเห็นของทั้งหมดที่เป็นส่วนใหญ่ รวมถึงข้อมูลวิชาการ ดังนั้น จึงต้องใช้พลังจากทุกส่วนด้วย นอกจากความรู้อย่างเดียวไม่พอ  ถ้าใน 100 คนมีคนเห็นถูกต้องเป็นข้อมูลที่ดี  3 คน ซึ่งไม่เห็นด้วย แต่คนที่ยกมือ 97 คนยังไงก็ชนะ เพราะเราเป็นประชาธิปไตย   

เมื่อถามถึงไทม์ไลน์กฎกระทรวงจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ช้า อย่างยาบ้า การรวบรวมข้อมูลข้อคิดเห็นสัปดาห์หน้าก็น่าจะได้ครบ จากนั้นก็ดำเนินการตามขั้นตอน เมื่อเสร็จก็จะเข้ามาเรื่องกัญชา

ถามว่ามีข้อเสนอแนวทางการเยียวยา นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การเยียวยาก็มีการพูดถึง แต่ก็ต้องดูกรอบว่าทำได้แค่ไหน เพราะเราคงไม่มีเงินมากมายสำหรับกลุ่มที่ใช้กัญชาแบบไม่ใช่ทางตรง อย่าลืมว่ากระทรวงฯ เรายังมีหนี้บุคลากรทางการแพทย์ตั้งแต่โควิดอยู่เลย ดังนั้น เรื่องนี้ก็ต้องคิดดีๆ แต่ทั้งหมดการจะออกกฎอะไรออกมา เรามีช่วงเวลาให้ปรับตัวประเภทของสินค้า ที่สำคัญไม่ได้ห้ามทางการแพทย์และสุขภาพอยู่แล้ว เพราะประกาศ กฎกระทรวงไม่ได้ปิด 100%  ยังยึดเรื่องทางการแพทย์และสุขภาพ พูดกันมาแบบนี้ตลอด ไม่เคยพูดเรื่องสันทนาการแต่อย่างใด เรื่องนี้ที่ผ่านมาก็ทำให้สังคมสับสน แม้แต่ในสภายังสับสนก็มี

เมื่อถามกรณีจะเปรียบเทียบผลเสียของเหล้า บุหรี่ กัญชา ตามเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทยเสนอหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า อะไรเป็นสิ่งไม่ดี คือ ต้องไม่ทำทั้งหมดอยู่แล้ว แต่เมื่อปล่อยให้ทำมานาน แล้วจะไปลดทีเดียวเป็นศูนย์ สังคมคงไม่ไหว ดังนั้น เราก็ต้องเริ่มทำในสิ่งที่ยังไม่เริ่มก่อน

“จากผลกระทบของกัญชา ที่ทางการแพทย์ได้นำข้อมูลมาให้ในวันนี้ ทางกระทรวงฯ จะรวบรวมข้อมูลและนำข้อเสนอขึ้นเว็บไซต์ ซึ่งเรื่องนี้ได้มอบให้   นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกสื่อสารกัญชา ดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนสามารถมาติดตามข้อมูลตรงนี้ได้” รมว.สาธารณสุข กล่าว

 

 

ราชวิทยาลัยจิตแพทย์-กุมารแพทย์-เครือข่ายแพทย์-เยาวชน   ตีแผ่ข้อมูลผลกระทบ “กัญชา” หลังปลดล็อก  

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมผู้เข้าร่วมได้เสนอข้อมูลพอสังเขป อาทิ

ศ.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย  กล่าวว่า จุดที่เป็นปัญหาหลักก็คือตั้งแต่ปี 65 ปล่อยให้มีการใช้ช่อดอกซึ่งเป็นปัญหามากๆและตัวสำคัญที่เรากังวลคือ THC ที่อยู่ในช่อดอก เราสนับสนุนให้กัญชาเป็นยาเสพติด เพราะจะสามารถลงโทษผู้ค้าได้ แต่ไม่ใช่ลงโทษผู้เสพ เพราะผู้เสพเรายินดีให้การบำบัดรักษา

ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราชวิทยาลัยฯ สนับสนุนให้กัญชาประกาศเป็นยาเสพติด เหมือนประเทศอื่นๆทั่วโลก อย่างประเทศในแถบเอเชียมีแค่ประเทศไทยเท่านั้นที่กัญชาเป็นยาเสพติด   ส่วนประเทศอื่นๆ อย่างยุโรปก็ไม่มี เพราะการให้ใช้เสรี จะห้ามยาก และเด็กจะมองว่าไม่เป็นอันตราย หากเอามาใช้ทางการแพทย์ก็ต้องมีข้อบ่งชี้ชัดเจน  ซึ่งสมาคมกุมารแพทย์อเมริกาคัดค้านการใช้เป็นยาด้วยซ้ำผลเสียมากกว่าผลดี  ที่สำคัญต้องให้ความรู้อย่างถูกต้องอย่างสมองเด็กกำลังพัฒนาช่วงอายุ 20 -25  ปี เมื่อเสพกัญชา ย่อมกระทบสมอง และเมื่อเสียแล้วเสียเลย ขณะที่ประเทศไทย เด็กเกิดน้อยอยู่แล้ว เราต้องการเด็กที่มีคุณภาพ หากเกิดน้อยแล้วคุณภาพด้อยยิ่งไปกันใหญ่ ดังนั้นรัฐบาลต้องให้ข้อมูลถึงข้อเสียของกัญชาอย่างแท้จริง

พญ.ศิโรรัตน์ สุวรรณโชติ ตัวแทนราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะแพทย์ที่ใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคลมชัก ยอมรับว่าการใช้กัญชาในกลุ่มดื้อยากันชักนั้น เป็นเรื่องที่ใช้ยากต้องระมัดระวัง อย่างที่ผ่านมามีการใช้ได้ประโยชน์คือการชักลดลงมากกว่า 50% แต่ไม่ได้หมายความว่าหาย และไม่ใช่ยาตัวแรกที่นำมาใช้ เป็นการใช้เสริม ที่สำคัญโดยสัดส่วนหากเปลี่ยนนิดเดียวมีผลต่อการชักมากขึ้น ต้องควบคุมสาร CBD และการใช้ต้องเป็นกุมารแพทย์ โดยหมอที่เชี่ยวชาญเรื่องลมชักจริงๆ ดังนั้น จึงเป็นการใช้ที่ยาก  จึงเรียกร้องให้รัฐบาลนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเหมือนเดิม  นอกจากนี้ในฐานะที่เป็นแพทย์รักษาเด็กและเยาวชน พบเด็กและเยาวชนที่ถูกนำตัวมารักษาตัวจากปัญหายาเสพติด จากการพูดคุยเด็กระบุว่า สามารถหาซื้อกัญชาได้ง่ายมาก โดยเฉพาะในโซเชียลฯ โฆษณาขายอย่างแพร่หลาย  

ผศ.(พิเศษ) นพ.ปราการ ถมยางกูร ตัวแทนจากสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีการเก็บสถิติพบว่า  คนที่ใช้กัญชามีความพยายามฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ไอคิวลดลงอย่างแท้จริง  มีผลต่อความจำสมาธิการเรียนบกพร่อง อุบัติเหตุทางรถเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังมีอาการหลงผิดหวาดระแวง มีภาพหลอน  อีกทั้ง ยังมีผลต่อผู้หญิงตั้งครรภ์ไปจนถึงเด็กที่อยู่ในครรภ์ และหลั่งออกทางน้ำนมแสดงว่าลูกที่คลอดออกมาได้นมผสมกัญชา  ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยจิตเวช นอกจากนี้ มีข้อมูลศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   พบว่าอัตราต้นทุนการรักษาผู้ป่วยในผู้ป่วยนอก ก่อนการปลดล็อกกัญชา ปี 2562-2564 ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วย ปีละ 3,200 -3,800 ล้านบาท แต่เมื่อปลดล็อกกัญชา ปี 2565 -2566   มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็น 15,000-25,000 ล้านบาท

ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ สมาคมนิติเวชแห่งประเทศไทย (เครีอข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด กล่าวว่า ที่ผ่านมามีคนพูดว่ากัญชาไม่ทำให้คนตาย แต่ไม่จริง เนื่องจากกัญชา มีความเสี่ยงในการกระตุ้นให้เส้นเลือดหัวใจตีบได้แม้จะไม่กระตุ้นทุกคน แต่ก็ทำให้เกิดภาวะเกิดเสียชีวิตได้  แม้ตัวกัญชาอาจไม่เป็นพิษพอทำให้ตาย แต่มีงานวิจัยพบว่าทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเพิ่มมากขึ้นหลายเท่า และเคสในไทยมีหลายเคสแล้วเพียงแต่รายงานชัดเจนได้ยากช่วงแรกๆที่เปิดเสรีมีเคสนึงที่เสียชีวิต ซึ่งเกี่ยวข้องกับกัญชา ทั้งนี้  ตนเคยตรวจหาปัสสาวะจากอุบัติเหตุหรือฆ่าตัวตาย ซึ่งร่วมกับ ป.ป.ส. พบว่าหลังปลดล็อก มีเคสเพิ่มขึ้นที่เกี่ยวข้องกับกัญชา

อาจารย์เกรียงไกร พึ่งเชื้อ มูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด  กล่าวว่า มูลนิธิ ได้ทำการประเมินติดตามผลกระทบเรื่องการเปลี่ยนแปลงนโยบายกัญชาพบว่า จุดจำหน่ายกัญชามีมากกว่า 7,000 กว่าจุดทั่วประเทศ เยาวชนเข้าถึงง่ายมาก แค่ 400 เมตรจากบ้านก็เข้าถึงได้  และ24% เดิน 5 นาทีถึงร้านกัญชา ไม่รวมกับการซื้อขายผ่านโซเชียลมีเดีย   อีกทั้ง ยังมีข้อมูลการศึกษาในภาคตะวันตก พบเยาวชนใช้เฮโรอีนเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าตกใจถึง 40% ที่เข้าไปสำรวจ  โดยพวกเขาเปิดเผยว่า เริ่มมาจากกัญชา ใช้กัญชาของเพื่อนดูดแต่ไม่รู้ว่าเพื่อนแอบโรยเฮโรอีนไว้กลายเป็นว่ากัญชานำไปสู่การติดเฮโรอีน กลายเป็นต้องบำบัดรักษาเพิ่มมากขึ้น  จนตอนนี้คนในพื้นที่พูดว่า หนึ่งตำบลหนึ่งผู้ป่วยจิตเวช  

ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิทยาศาสตร์ Centre for Addiction and Mental Health, Canada  ให้ข้อมูลว่า จริงๆ ควรเอาดอกกัญชากลับเป็นยาเสพติดก่อน หรือดีที่สุดคือ การนำกลับเป็นยาเสพติดทั้งต้น แล้วค่อยไปปลดล็อกบางส่วนภายหลัง   และระหว่างระหว่างนี้ยังไม่ควรพิจารณาเรื่อง พ.ร.บ.กัญชาฯ  ควรหยุดชั่วคราวก่อน เมื่อกัญชาเป็นยาเสพติดก็มาพิจารณาว่า จะเป็นทางการแพทย์และสุขภาพอย่างไร จากนั้นค่อยมาพิจารณาว่าจะทำเป็นกฎหมายอย่างไร จริงๆ แม้กัญชากลับเป็นยาเสพติด ก็ยังใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้

 นายอาทิตย์ เสถียรวารี ตัวแทนเครือข่ายเยาวชน “ไม่นะกัญชาและยาเสพติด” กล่าวว่า ตั้งแต่ปลดล็อกกัญชาเราพบว่า ขาดการควบคุม ขณะที่ประชาชนก็ไม่มีความรู้ ทำให้เกิดปัญหาสังคม เครือข่ายฯจึงได้รณรงค์ให้ความรู้กับเด็กในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ทำให้ทำเห็นสภาพปัญหาในโรงเรียนคือ ระยะแรกที่ปลดล็อก นักเรียนจะอ้างว่าการใช้กัญชาถูกต้อง ขณะที่ครูก็ควบคุมเด็กไม่ได้ หลังจากมีประกาศกฎกระทรวง สธ.ต่างๆ ออกมา แต่สังคมรับรู้ไปแล้วว่ากัญชาไม่ผิดกฎหมาย เยาวชนผลิตบ้องมาสูบเอง    

(ข่าวเกี่ยวข้อง : เครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ 67 คน จี้รัฐนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด พร้อมเหตุผล 4 ข้อ )