เปิดเวทีเสวนา “เราจะร่วมกันลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และสร้างเสริมสุขภาวะได้อย่างไร” ถกปัญหา! คนไทยกว่า 8 ล้านคน เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต สสส.ย้ำ! ต้องลดช่องว่างการเข้าถึงองค์ความรู้ เท่าทันต่อการคุกคาม เว็บไซต์ต้องเข้าถึงได้โดยคนพิการ ระบบบริการดิจิทัลมีมาตรฐานด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูล

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2567 ที่โรงแรมเมอร์เคียว ไอบิส สยาม กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) และมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย จัดเวทีเสวนา “เราจะร่วมกันลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และสร้างเสริมสุขภาวะได้อย่างไร” มุ่งเป้าสนับสนุนให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายแนวทางขับเคลื่อนงานลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและการเข้าถึงข้อมูลเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะ
ในกลุ่มเปราะบาง (เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ)

นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า การสนับสนุนการพัฒนาและใช้ประโยชน์ข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ พร้อมคำนึงถึงการลดช่องว่างทางดิจิทัลในการเข้าถึงองค์ความรู้และฐานข้อมูลการสร้างเสริมสุขภาพได้ง่าย การเท่าทันต่อการคุกคามและความปลอดภัยทางดิจิทัลต่อการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นกรอบนโยบายในการจัดทำแผนการดำเนินงาน สสส. โดยมุ่งเน้นการสร้างการเรียนรู้ การสื่อสาร การพัฒนาศักยภาพ และการจัดการที่รองรับการเปลี่ยนแปลงอันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สภาพแวดล้อม และสังคมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพในยุคดิจิทัล 

จากรายงานจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเมืองไทย เมื่อเดือนมกราคม ปี 2567 โดยเว็บไซต์ Datareportal พบอยู่ที่ 63.21 ล้านคน หรือ 88% ของจำนวนประชากรทั้งหมด 71.85 ล้านคน และผู้เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต 8.61 ล้านคน หรือ 12% สะท้อนถึงแนวโน้มของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในกลุ่มประชากรบางกลุ่ม เกิดความไม่เสมอภาคเนื่องจากขาดโอกาสในการเข้าถึงดิจิทัล 

“การจัดกิจกรรมครั้งนี้ มุ่งเน้นการขับเคลื่อนปฏิบัติการทางสังคมด้วยการเสริมสร้าง เชื่อมโยง และเสริมพลังเครือข่าย ผลักดันให้เกิดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายทุกภาคส่วน กำหนดให้การขับเคลื่อนงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและการเข้าถึงข้อมูลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะเป็นวาระแห่งชาติ อาทิ ส่งเสริมและสร้างมาตรฐานการเข้าถึงและใช้งานดิจิทัล เว็บไซต์ต้องเข้าถึงได้โดยคนพิการ ระบบบริการดิจิทัลต้องมีมาตรฐานด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูล การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือในการเข้าถึงและใช้ดิจิทัล ศูนย์เตือนภัยไซเบอร์ กองทุนช่วยเหลือเพื่อการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากดิจิทัล เพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลของประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งคนพิการ เด็ก ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ให้สามารถเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ” นางญาณี กล่าว

หาแนวทางให้ กลุ่มคนพิการ ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง ได้รับประโยชน์จากดิจิทัล 

ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช หัวหน้าโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนงาน ลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและการเข้าถึงข้อมูลเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะ กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide)  พบว่า ตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำหรือความเสมอภาคทางดิจิทัล 9 ด้าน ได้แก่ 

1.ด้านความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและเครือข่าย 

2.ด้านอุปกรณ์ดิจิทัลที่มีคุณภาพมาตรฐานในราคาย่อมเยาเข้าถึงได้ 

3.เนื้อหาข้อมูลสำหรับคนทุกกลุ่มตามความต้องการจำเป็น 

4.การพัฒนาทักษะดิจิทัล 

5.การลดข้อจำกัดของปัจจัยระดับบุคคลเพื่อเข้าถึงดิจิทัล 

6.การส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ให้เข้าสู่ดิจิทัล 

7.นโยบายของรัฐ 

8.เครื่องมือทางกฎหมาย 

9.ความร่วมมือกับนานาชาติ  

ด้วยเหตุนี้จึงได้พัฒนา “4A 1E” ช่วยให้ทุกคนได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากดิจิทัล โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ได้แก่ Accessibility การเข้าถึงดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐาน และเนื้อหาข้อมูล/สื่อ Affordability ความสามารถในการจ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบางด้อยโอกาส Attitude ทัศนคติต่อการใช้ Ability  ความสามารถในการใช้ดิจิทัล ปลอดภัย สร้างสรรค์ และรู้เท่าทัน และ Ecosystem นิเวศสื่อดิจิทัล ทั้งนโยบายส่งเสริมหรือกำกับดูแล กฎหมาย นวัตกรรม การวิจัย การจัดสรรงบประมาณและทรัพยากร ความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ สร้าง Digital Inclusion คือสังคมที่ทุกคน รวมถึงกลุ่มคนพิการ ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบางได้รับประโยชน์จากดิจิทัล 

จากการเก็บกลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม ประกอบด้วย เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ เรื่องทัศนคติและความสามารถในการใช้ดิจิทัล พบว่า ทั้ง 3 กลุ่มมีทัศนคติที่ดีและมีความสามารถในการใช้ดิจิทัล โดยมองว่า อินเทอร์เน็ตมีประโยชน์และมีความจำเป็นต่อชีวิต ใช้ในการสืบค้นข้อมูลที่จำเป็น ใช้ช่องทางออนไลน์ในการทำธุรกรรมการเงิน และเมื่อไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้จะรู้สึกเครียด หงุดหงิด

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเด็กจะมีความตระหนักในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลน้อยกว่ากลุ่มอื่น เพราะไม่รู้ว่าข้อมูลใดเป็นข้อมูลส่วนตัว ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานเชิงรุกกับเด็กนักเรียน เพราะการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลอาจทำให้เกิดความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อทางออนไลน์ได้ เช่น การถูกละเมิด และการแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ 

เนื้อหาข้อมูลที่ให้ความสำคัญ

  • กลุ่มนักเรียน จะให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา รองลงมาเป็นการดูแลสุขภาพ และการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต
  • กลุ่มผู้สูงอายุ จะให้ความสำคัญเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพเป็นอันดับแรก รองลงมาเป็นข้อมูลเกี่ยวกับภัยและการป้องกันภัยออนไลน์ ข้อมูลการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์อย่างปลอดภัย และยังสนใจข้อมูลด้านบริการภาครัฐและสวัสดิการของรัฐด้วย
  • กลุ่มคนพิการ สนใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต การดูแลรักษาสุขภาพ และลำดับ 3 เป็นข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาทักษะอาชีพและการหางาน

ความช่วยเหลือสนับสนุนที่ต้องการ

ในกลุ่มนักเรียนและผู้สูงอายุ ต้องการเรื่องค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงหรือใช้ดิจิทัล รวมถึงอุปกรณ์ในการใช้งาน และการฝึกอบรมพัฒนาทักษะความสามารถในการใช้ดิจิทัลอย่างปลอดภัย สร้างสรรค์ และรู้เท่าทัน

"ในกลุ่มคนพิการ ต้องการอุปกรณ์พิเศษในการเข้าถึงและใช้งานดิจิทัล อยากให้มีตัวช่วยเพื่อให้เข้าถึงและเข้าใจเนื้อหาข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น ล่ามภาษามือ ข้อความบรรยายรูปภาพสำหรับคนหูหนวก เสียงบรรยายภาพ หนังสือเสียง สำหรับคนตาบอด รวมทั้งอยากให้เว็บไซต์ได้มาตรฐานสากลทุกคนเข้าถึงได้"

ยื่น 6 ข้อเสนอเชิงนโยบาย ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

ดร.ศรีดา กล่าวต่อว่า แม้ในแผนแม่บท นโยบายและยุทธศาสตร์ชาติหลายฉบับจะให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเสมอภาคทางดิจิทัล หลักการออกแบบสินค้าและบริการเพื่อทุกคนเข้าถึงและใช้ได้อย่างเท่าเทียม เพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (SDGs) แม้หน่วยงานและกระทรวงต่าง ๆ เร่งดำเนินการเพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล แต่พบว่ายังมีอุปสรรคและข้อท้าทายอีกมาก ซึ่งงานวิจัยนี้มีข้อเสนอเชิงนโยบายหลายข้อ ภายใต้หลักการ 

1.เป็นวาระแห่งชาติ มีการติดตามประเมินผล หนุนเสริม และแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว 

2.เป็นเป้าหมายทางการเมือง นโยบายดิจิทัล/ไอซีทีถ้วนหน้า โดยใช้งานวิจัยเป็นฐาน ติดตามการนำนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเห็นผล 

3.เชื่อมโยงส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น กำหนดในแผนยุทธศาสตร์จังหวัด/พื้นที่ มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน วัดผลได้จริง 

4.ส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินและการคลัง เพื่อจัดสรรงบประมาณ ตอบสนองสถานการณ์ดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงเร็ว 

5.ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม 

6.ส่งเสริมให้เป็นเรื่อง ESG (Environment, Social, Governance) ให้องค์กรและภาคเอกชนได้มีส่วนร่วม เป็นเรื่องประโยชน์ของทุกคน

ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภา DCT กล่าวว่า การลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลคือ การสร้างโอกาส และส่งเสริมให้ทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางเข้าถึงบริการผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และปลอดภัย สิ่งสำคัญคือ การสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน พัฒนาระบบการให้บริการและเครื่องมือในการเข้าถึงตามกรอบมาตรฐานที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Websites & Mobile Apps Accessibility Guidelines) ที่ผ่านมา สภาดิจิทัล ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย พัฒนาโครงการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ (Digital Vaccine) พัฒนาซอฟต์แวร์ชื่อว่า ARAK Internet Security ช่วยสร้างกระบวนการและแนวทางปฎิบัติเพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการเข้าถึงและใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย ลดภาระการลงทุนในซอฟแวร์ต่างประเทศ ขยายผลนำไปสู่โรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถใช้เทคโนโลยีดำเนินชีวิตได้อย่างเสมอภาคและมีประสิทธิภาพ

นายพฤฒิพงศ์ พัวศิริ ผู้อำนวยการกลุ่มขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาคลังความรู้ กองขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อสังคม สดช. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า สดช. มีเป้าหมายเป็นรายยุทธศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับการลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และ สร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึงเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยได้มีการดำเนินงานในปี 2566 ได้แก่ การให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะและบำรุงรักษาโครงข่ายเน็ตประชารัฐ และส่วนต่อขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ไปยังหมู่บ้านหรือโรงเรียน การพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขเพื่อบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพ การพัฒนาศูนย์ดิจิทัลชุมชนและอาสาสมัครดิจิทัล การสำรวจข้อมูลสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและการเข้าใจดิจิทัลประเทศไทย กิจกรรมอบรมยกระดับสมรรถนะประชากรเพื่อให้พร้อมเข้าสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล การส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับคนพิการ การส่งเสริมและฝึกอบรมการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Web Accessibility) ให้กับบุคลากรของหน่วยงานของรัฐและเอกชน ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เพื่อมุ่งหวังการลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้ประชาชนทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม 

น.ส.พรนิภา อ่อนเกิด ผู้อำนวยการกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมกิจการผู้สูงอายุ พม. กล่าวว่า พม. มุ่งยกระดับความสามารถในการเข้าถึง การใช้งาน และการตระหนักถึงภัยคุกคามจากเทคโนโลยีและแพลทฟอร์มดิจิทัลของผู้สูงอายุ ที่ผ่านมา ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย พัฒนา 2 โครงการ 

1.โครงการส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองดิจิทัลด้วยสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล พัฒนาหลักสูตรออนไลน์ อุ่นใจไซเบอร์ สื่อการเรียนรู้สุขภาวะดิจิทัล การจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ส่วนบุคคล การจัดการความเป็นส่วนตัว และการจัดการร่องรอยทางไซเบอร์ 

2.โครงการสูงวัยรู้ทันสื่อ หลักสูตรออนไลน์ หยุด คิด ถาม ทำ ลดอาชญากรรมทางออนไลน์ 

3. โครงการส่งเสริมความร่วมมือเข้มแข็งด้านเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ วัยไฟแรงแซงอายุ ต่อยอดพลัง Soft Power สู่ผู้ประกอบการดิจิทัล 

อบรมกลุ่มผู้สูงอายุสู่ผู้ประกอบการดิจิทัล โดยการใช้เครื่องมือ เทคโนโลยี และองค์ความรู้ทางดิจิทัลเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของผู้สูงอายุ มุ่งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันภัยทางไซเบอร์ สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย มีความรับผิดชอบและสร้างสรรค์ต่อสังคม