ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทันตแพทย์ห่วงบุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนัก เด็ก 13-15 ปี ติดบุหรี่กว่า 37 ล้านคน เตือนพ่อแม่บุหรี่ไฟฟ้าแปลงร่างเป็น "Toy Pod"  ชี้คนสูบบุหรี่เสี่ยงสูญเสียฟันมากกว่าคนไม่สูบ 2 เท่า เสี่ยงป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 2-4 เท่า  สสส.-สพฐ. รณรงค์ “รักเพื่อน เตือนกัน ไม่สูบ” ป้องกันนักสูบหน้าใหม่ 

วันที่ 30 พ.ค. 2567 ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี โครงการเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบ โดย ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ปี 2567 ภายใต้แนวคิด “รักเพื่อน เตือนกัน ไม่สูบ” หวังกระตุ้นเยาวชนให้กล้าปฏิเสธบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อถูกชักชวน โดยมี ทพ.อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา นายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ในฐานะผู้จัดการโครงการเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบ  นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  และ ผศ.ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ ผู้จัดการโครงการศึกษาพัฒนาขยายผลการเฝ้าระวังและจัดการความรู้ผลิตภัณฑ์เสี่ยงสุขภาพ ร่วมเสวนาด้วย

ทพ.อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา นายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ในฐานะผู้จัดการโครงการเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบ สนับสนุนโดย สสส.  กล่าวว่า การศึกษาระยะยาวพบว่า ผู้สูบบุหรี่จะมีการสูญเสียฟันถึง 2 เท่าของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองมีการสูญเสียฟันมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ จึงเชิญชวนเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลกนี้ ขอให้ประชาชนเลิกผลิตภัณฑ์นิโคตินทุกชนิด เพราะเป็นสารเสพติดที่มีผลต่อทั่วร่างกายโดยเฉพาะ สมอง หัวใจ และหลอดเลือด และมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะโรคซึมเศร้า เพื่อการมีสุขภาพช่องปากและสุขภาพร่างกายโดยรวมที่ดี  ซึ่งจากการสำรวจโดยทันตบุคลากร ปี 2566 พบเด็กในกรุงเทพฯ เคยสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าถึง 9% หรือพบทุก 1 ใน 10 คน สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่พบอายุเฉลี่ยของผู้เริ่มสูบบุหรี่มีอายุน้อยลง มีเด็กอายุ 13-15 ปี ติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าถึง 37 ล้านคนทั่วโลก และที่น่ากังวลคือเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มวัยที่มีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงมากกว่าวัยอื่นๆ

“ขณะนี้เด็กและเยาวชนไทยเข้าถึงบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าที่ระบาดในเด็กระดับประถมศึกษา เนื่องจากกลยุทธ์การตลาดของผู้ผลิตที่มุ่งเป้าเด็กและเยาวชน ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีสีสันสวยงาม มีการแต่งกลิ่นดึงดูดใจ เพื่อร่วมรณรงค์เนื่องในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก ปี 2567 ภายใต้คำขวัญ ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า วิชาชีพทันตแพทย์ และภาคีเครือข่าย จึงขอให้รัฐบาลได้คำนึงถึงโทษของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชน โดยคงกฎหมายห้ามการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าและจัดจำหน่าย (Totally Ban) เช่นเดียวกับ สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง ต่อไป” ทพ.อดิเรก กล่าว

ทพ.อดิเรก กล่าวอีกว่า สำหรับข้อมูลทางทันตแพทยศาสตร์ พบว่าไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลให้เสียสมดุลของจุลินทรีย์ในช่องปาก จุลินทรีย์ดีลดลง เพิ่มจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคในช่องปาก เพิ่มโรคปริทันต์ ส่งผลต่อการยึดติดของรากฟันเทียม การใส่ฟันปลอมถอดได้ และการจัดฟัน นอกจากนี้ ยังพบว่าเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคฟันผุ  Streptococcus mutans เพิ่มขึ้น พบความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับการมีเลือดออกเวลาแปรงฟัน  และพบรอยโรคในช่องปาก เช่น เพดานปากอักเสบ ลิ้นเป็นฝ้า และการอักเสบบริเวณมุมปาก

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันที่สำคัญเพราะเครือข่ายทันตแพทย์ต้านภัยยาสูบ โดยมีการรวมทันตแพทย์ที่สนใจที่จะป้องกันเรื่องของนักสูบหน้าใหม่ได้มาร่วมมือกัน เพราะทันตแพทย์มีการกระจายกันอยู่ทั่วประเทศ และสามารถที่จะกระจายมาทำงานร่วมกันและเชื่อมโยงกับเครือข่ายของโรงเรียนในสังกัดของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยต้องมีการรณรงค์ปกป้องเยาวชนและลูกหลานของเราที่จะเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า ที่สำคัญบุหรี่ไฟฟ้าเป็นส่วนที่ทำให้เยาวชนต่างๆคิดว่าไม่มีอันตรายเพราะมีกลิ่นหอมและมีรูปลักษณ์ที่อาจจะเหมือนของเล่นทำให้เด็กเข้าไปทดลองได้ง่าย อีกทั้งมีเพื่อนและรุ่นพี่ชักชวน ทั้งนี้ทางเครือข่ายทันตแพทย์ได้เห็นความสำคัญในเรื่องของการป้องกันต่างๆ และที่สำคัญคือบุหรี่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากและฟัน แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด 2-4 เท่า เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด 25 เท่า แต่ละปีมีประชากรโลกเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ประมาณ 8 ล้านคน ขณะที่ข้อมูลภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย ปี 2562

โดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ พบว่า การสูบบุหรี่ทำให้เกิดการสูญเสียปีสุขภาวะ (DALYs) 2,817,347 ปี คิดเป็น 14.6% ของการสูญเสียทั้งหมด และเป็นสาเหตุสำคัญต่อการเสียชีวิตของคนไทย 15.6% โดยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากที่สุด 26.1% ที่น่าห่วงคือ การแพร่ระบาดของ "บุหรี่ไฟฟ้า" ที่กำลังเป็นกระแสนิยมมากขึ้นในเด็กและเยาวชน จากผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย ปี 2565 (Global Youth Tobacco Survey : GYTS) พบเด็กและเยาวชนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 17.6% จากเดิมอยู่ที่ 3.3% ในปี 2558 เพิ่มขึ้น 5.3 เท่า ทั้งนี้ หากเด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน เริ่มสูบบุหรี่จะมีแนวโน้มสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้น 5 เท่า และมีแนวโน้มสูบบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า

"สสส. สนับสนุนกลไกเครือข่ายควบคุมยาสูบทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนทางนโยบาย/มาตรการควบคุมยาสูบ หนุนเสริมระบบ/กลไกการสร้างเสริมสุขภาพ สร้างกระแสทางสังคมและความรอบรู้ด้านการควบคุมยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า หนึ่งในนั้นคือ การสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบ ช่วยให้ผู้ป่วยเลิกบุหรี่และป้องกันนักสูบหน้าใหม่มาตั้งแต่ปี 2548 พบว่าประสบความสำเร็จ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการช่วยเลิกบุหรี่ ตลอดจนพัฒนารูปแบบการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับภารกิจ ของ สสส. ที่ต้องการผลักดัน กระตุ้น สนับสนุน และร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพโดยรวมที่ดี ลดอัตราการเจ็บป่วย และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

 

ด้าน ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า การเริ่มสูบบุหรี่ในเด็กจะทำให้เสพติดและเลิกได้ยากมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพช่องปาก สุขภาพร่างกาย และสติปัญญา ทันตบุคลากรจึงให้ความสำคัญการป้องกันผู้สูบบุหรี่หน้าใหม่ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้ช่วยผู้ป่วยเลิกบุหรี่ในคลินิกทันตกรรมสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สามารถชักชวนผู้สูบบุหรี่ให้เข้าร่วมโครงการได้ 51.32% จากผู้สูบ 26,109 ราย และมีผู้ที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ 1,272 ราย คิดเป็น 9.5% ขอขอบคุณ สสส. สนับสนุนกิจกรรมช่วยเลิกบุหรี่ในคลินิกทันตกรรม และการรณรงค์ป้องกันนักสูบหน้าใหม่มาตลอด ทั้งนี้วันงดสูบบุหรี่โลกปีนี้ ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดการประกวดโครงงานดีเด่น เรื่องกิจกรรมเสริมหลักสูตรทักษะการปฏิเสธบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา มีผู้ได้รับรางวัล 13 รางวัล จากผลงานทั้งหมด 80 โรงเรียน และการประกวดวาดภาพระบายสี และจัดทำคลิปวิดีโอ TikTok ในหัวข้อ “รักเพื่อน เตือนกัน ไม่สูบ” มีผู้ได้รับรางวัลประเภทละ 15 รางวัล 

ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมมือกับเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบ โดยมีภารกิจสำคัญในการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาพร้อมทั้งค้นหานวัตกรรมการใหม่ ๆ  เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้และสร้างค่านิยม ทัศนคติที่ถูกต้อง ของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ตลอดจนส่งเสริมให้สถานศึกษาในสังกัดทุกระดับนำมาตรการในการป้องกันและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา ไปดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องตลอดไป ทั้งนี้ สพฐ. มีความห่วงใยต่อปัญหาบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนในระยะยาวจึงได้ร่วมกับโครงการเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบ ทั้งด้านวิชาการ และการจัดกิจกรรมรณรงค์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เด็กและเยาวชนรู้จักการปฏิเสธบุหรี่มวนแรก มีภูมิคุ้มกันทางจิตใจ และป้องกันปัญหาการเสพติดในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน
 

ขณะที่ ผศ.ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ ผู้จัดการโครงการศึกษาพัฒนาขยายผลการเฝ้าระวังและจัดการความรู้ผลิตภัณฑ์เสี่ยงสุขภาพ กล่าวว่า  ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าได้ปรับเปลี่ยนรูปโฉมของสินค้าบุหรี่ไฟฟ้ารุ่นใหม่ให้ห่างไกลจากบุหรี่มวน โดยใช้การตลาดการ์ตูน ปรับรูปร่างหน้าตาจากบุหรี่ไฟฟ้าแบบเดิม มาเป็นบุหรี่ไฟฟ้า Gen 5 ‘toy pod’ หรือบุหรี่ไฟฟ้าตุ๊กตา ที่ผลิตเลียนแบบตุ๊กตา ของเล่น ตัวการ์ตูนฮิต อาร์ตทอย ทำเหมือนกล่องขนม ขวดน้ำผลไม้ ไปจนถึงเครื่องเขียน ชนิดเลียนแบบได้เหมือนสมจริงทั้งรูปร่างหน้าตา ขนาด และสีสัน และมีขนาดเล็ก ซึ่ง toy pod ใช้นิโคตินปรับโครงสร้างหรือนิโคตินสังเคราะห์ทำให้สูบง่ายไม่ระคายคอ 

นอกจากนี้ ยังผลิตเลียนแบบตัวการ์ตูนตุ๊กตายอดฮิต โดราเอมอน Super Mario โปเกม่อน บางรุ่นเลียนแบบอาร์ตทอยชื่อดังอย่างตุ๊กตา Molly ตุ๊กตา plush หรือตัวการ์ตูนเจ้าหญิงดิสนีย์ บางรุ่นสร้างตัวการ์ตูนขึ้นมาเองเป็น brand character เช่น การ์ตูนโจรสลัด โดยขายสินค้าผ่านการผจญภัยของตัวการ์ตูนและเหล่าสมุน บางรุ่นทำเหมือนของเล่นเลโก้ และผลิตออกมาเป็นคอลเลคชั่นคล้ายของสะสม แต่ละชุดมี 10-12 ตัว มีชื่อเรียกแต่ละชุด มีสีแตกต่างกันเพื่อบอกรสชาติ กลิ่นหอม รสชาติผสมผสานกันทั้งผลไม้ ความเย็น และลูกกวาด เช่น รสแตงโม พีช มิ้นท์  ปัจจุบันการตลาดล่าเหยื่อเด็กนี้ประสบความสำเร็จ จากการมีข่าวว่ามีการระบาดในกลุ่มนักเรียนระดับประถม ทั้งพบเด็ก ป.1 พกบุหรี่ไฟฟ้าติดตัว ดังนั้นพ่อแม่ ครูและโรงเรียน ควรต้องคอยเฝ้าระวังบุหรี่ไฟฟ้าแปลงร่างเหล่านี้ที่เป็นอันตรายต่อเด็ก เพราะ toy pod ออกแบบช่วงปากสูบให้กลมกลืนไปกับตัวตุ๊กตา จนอาจไม่ทราบว่านี่คือบุหรี่ไฟฟ้า หากนำมาวางปนกันกับของเล่น อาจแยกไม่ออกว่าอันไหนคือของเล่นจริง อันไหนคือบุหรี่ไฟฟ้า