ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. ร่วมกับภาคีเครือข่าย เตรียมจัดวันงดสูบบุหรี่โลกปี 67 หวังให้เยาวชน-ผู้ปกครอง รู้เท่าทันอันตรายบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ ด้าน"หมอประกิต" ชี้ค่ารักษาพยาบาลจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่ารายได้จากภาษีบุหรี่ถึง 3 หมื่นล้านบาท พบค่ารักษาเพิ่มเกือบ 2 เท่า ย้ำหากการรณรงค์เกิดผลสำเร็จช่วยลดงบประมาณค่ารักษาพยาบาลได้

วันนี้ 29 พฤษภาคม 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย Dr. Jos Vandelaer ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ศ.ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ ผู้อำนวยการ WHO FCTC Knowledge Hub for Article และภญ.สุวิมล วรเกษมสุข ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด องค์การเภสัชกรรม ร่วมแถลงข่าวรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2567 โดยมี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค คณะผู้บริหารและภาคีเครือข่าย เข้าร่วม

นพ.โอภาส กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก โดยในปี 2567 นี้ ประเทศไทยได้กำหนดประเด็นรณรงค์ คือ “บุหรี่ไฟฟ้า หยุดโกหกได้แล้ว” เพื่อย้ำเตือนให้เยาวชน ผู้ปกครองและประชาชนทุกเพศทุกวัย ได้ตระหนักรู้เท่าทันอันตรายจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีการแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้นในกลุ่มวัยเรียน เยาวชน เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ ที่ดึงดูดความสนใจด้วยภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่เป็นตัวการ์ตูน และเพิ่มรสชาติให้หลากหลายเพื่อเย้ายวนให้ลิ้มลอง รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงและการเสพติด ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดนักสูบหน้าใหม่จากผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่และบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

นักสูบหน้าใหม่โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สำหรับประเทศไทย นักสูบหน้าใหม่โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุสำคัญหนึ่งมาจากปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้น หากไม่มีมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง อาจส่งผลให้อัตราการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในภาพรวมกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 ที่ผ่านมา จึงมีมติเห็นชอบ 5 มาตรการในการป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า
ในประเทศไทย ได้แก่ 1.การพัฒนาและจัดการองค์ความรู้ 2.การสร้างความตระหนัก/รับรู้โทษ พิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า แก่เด็ก เยาวชน รวมถึงสาธารณชน 3.การเฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 4.การพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกัน ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า และ 5.การยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า โดยมอบหมายให้หน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและ
ภาคประชาสังคม ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวทั้งในระดับส่วนกลางและระดับพื้นที่ 

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับกิจกรรมรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลกปีนี้ จะจัดวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ณ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาโปรดให้ พลเอก ศิวะ ภระมรทัต กรมวังผู้ใหญ่ประจำวังศุโขทัย เป็นผู้แทนพระองค์ไปเป็นประธานเปิดงานและมอบรางวัล World  No Tobacco Day Award 2024 และโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่บุคคล รวมถึงหน่วยงานที่มีผลงานยอดเยี่ยมและให้การสนับสนุนการดำเนินงานควบคุมยาสูบด้วยดีตลอดมา โดยภายในงานยังมีกิจกรรมประกวดวงดนตรี World No Tobacco Day Music Awards 2024 รอบชิงชนะเลิศ โดยมีเยาวชน วัยเรียน วัยรุ่นจากทั่วประเทศเข้าร่วมแข่งขันชิงโล่และเงินรางวัล จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า อย่างยั่งยืน             
                            
 

ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า นโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย คือ การห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย สำหรับประเทศรายได้ปานกลางและรายได้น้อย ตามคำแนะนำของสหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ ซึ่งการห้ามขายจะควบคุมได้ง่ายกว่าในประเทศที่ขาดความพร้อมในการควบคุมยาสูบ ส่วนที่เครือข่ายบริษัทอ้างว่า การยกเลิกการห้ามขาย จะทำให้ชาวไร่ยาสูบไทยขายใบยาได้มากขึ้น เพื่อให้ผู้ผลิตนำไปสกัดนิโคตินทำน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า หรือใช้ใบยาสูบทำบุหรี่ไฟฟ้าชนิดใช้ความร้อนนั้น ปัจจุบันบริษัทบุหรี่ใช้นิโคตินและวัสดุสังเคราะห์ในการผลิตบุหรี่ไฟฟ้าชนิดต่างๆ แทนการใช้ใบยาสูบ ชาวไร่ยาสูบไทยจึงไม่ได้ประโยชน์จากการเปิดให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายแต่อย่างใด

ส่วนประเด็นที่อ้างว่า การเปิดให้บุหรี่ไฟฟ้าขายได้ถูกกฎหมาย จะทำให้รัฐบาลไทยเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าได้ปีละ 6 พันล้านบาทนั้น หากดูตัวอย่างจากประเทศฟิลิปปินส์ ที่กฎหมายให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าได้ ในปีพ.ศ. 2564 เก็บภาษีบุหรี่มวนได้ 108,750 ล้านบาท ขณะที่เก็บภาษีจากบุหรี่ไฟฟ้าได้เพียง 236.8 ล้านบาท หรือ 0.21% ของภาษีจากบุหรี่ทุกประเภท จึงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลไทยจะเก็บภาษีจากบุหรี่ไฟฟ้าได้มากตามที่กล่าวอ้าง และขณะนี้บุหรี่มวนที่กฎหมายให้ขายได้ ก็มีถึง 25% ที่เป็นบุหรี่หนีภาษี ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีถึงปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท ดังนั้น หากบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จะมีเปอร์เซ็นบุหรี่ไฟฟ้าที่ผิดกฎหมายสูงกว่าบุหรี่มวนแน่นอน เนื่องจากเด็กและเยาวชน นิยมบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าบุหรี่มวน

งบฯการป้องกันการสูบบุหรี่ถูกกว่าการรักษา

เมื่อถามว่า การสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าสร้างภาระงบประมาณด้านสุขภาพมากน้อยแค่ไหน ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า ที่มีการวิจัยไว้ พบค่ารักษาพยาบาลเบิกจ่ายตรงมากกว่า 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งมากกว่าภาษีบุหรี่ที่เก็บได้เพียงปีละ 5 หมื่นกว่าล้านบาท หากเปรียบเทียบงบประมาณประเทศไทยปีนี้ 3.71 ล้านล้านบาท ซึ่งอเมริกามีค่ารักษาโรคจากบุหรี่ปีละ 5.7 ล้านล้านบาท จะเห็นได้ว่าค่ารักษาเพิ่มเป็นเกือบ 2 เท่า ของงบประมาณประเทศไทย ฉะนั้นจึงไม่คุ้มภาษีที่เก็บได้  ส่วนในการรณรงค์งด เลิก สูบบุหรี่ ต้องดูว่าจะได้ผลแค่ไหนในแต่ละปี แน่นอนว่าถ้ารณรงค์เรื่องนี้สำเร็จจะช่วยลดงบประมาณได้อยู่แล้วเพราะการป้องกันถูกกว่าการรักษา

"ยกตัวอย่าง หากเราใช้งบประมาณปีละ 300 ล้านบาทในการรณรงค์ แต่ค่ารักษาผู้ป่วยมะเร็งปอดที่เกิดจากการสูบบุหรี่อย่างปีละ 10,000 คน ใช้งบฯ 1 หมื่นบาทต่อคน ก็จะเกิดค่ารักษาหมื่นล้านบาท ซึ่งการรณรงค์ป้องกันจะถูกกว่ากันเยอะมาก และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเด็กเยาวชนเริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่ 10 ขวบ"  ศ.นพ.ประกิต กล่าว

ด้าน นพ.วันชาติ กล่าวเสริมว่า บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่ต้องมีการพัฒนาอวัยวะและร่างกายให้สมบูรณ์เพื่อเป็นกำลังของชาติในอนาคต เพราะนิโคตินที่อยู่ในบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากเป็นสารเสพติดแล้ว ยังเป็นสารเคมีที่สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดการระคายเคืองและร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้าน เกิดการอักเสบของเส้นเลือดและเกิดการอุดตัน ส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ขาดเลือด หย่อนสมรรถภาพในการทำงาน และเกิดโรคต่างๆ ตามมา ทั้งทางสมอง สติปัญญาบกพร่อง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคไต และอื่นๆ ได้ทุกอวัยวะ จึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันปกป้องประชาชนและลูกหลานไม่ให้ข้องแวะกับบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และขอให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาบรรจุความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในหลักสูตรของนักเรียนทุกระดับชั้นต่อไป