ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สาธารณสุข เปิดอบรมแผนพัฒนาบุคลากรสาธารณสุข รพ.สต.ถ่ายโอนไป อบจ. หวังเชื่อมภารกิจสุขภาพปฐมภูมิ ชูแพทย์แผนไทยฯ ทางเลือกบำบัดดูแลสุขภาพ แต่บุคลากรน้อย  ส่วนถ่ายโอนรพ.สต.ยังต้องทำตามนโยบาย แต่ต้องสมัครใจ เดินหน้าแก้ปัญหากลุ่มไม่ถ่ายโอน ต้องไปอยู่ สสอ. เตรียมหาแนวทางโอนไปกรมต่างๆ เช่น กรมแพทย์แผนไทยฯ เพื่อเสริมภารกิจ พร้อมหนุนงานวิจัยใบมะละกอช่วยเรื่องมะเร็ง เป็นทางเลือก ไม่ใช่ทางหลัก

 

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่โรงแรม ที.เค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น ถนนแจ้งวัฒนะ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรพัฒนาศักยภาพด้านการแพทย์แผนไทยให้กับบุคลากรกองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัด และ สอน./รพ.สต. ที่ถ่ายโอนภารกิจไปองค์การบริหารส่วนจังหวัด รุ่นที่ 1 พร้อมปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสาธารณสุขใน รพ.สต. ที่ถ่ายโอนภารกิจไปองค์การบริหารส่วนจังหวัด” และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และ ดร.ชูพงศ์ คําจวง นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมี รพ.สต. ทั่วประเทศ 9,082 แห่ง ในจำนวนนี้ได้ถ่ายโอนภารกิจตามแผนการกระจายอำนาจมาสังกัด อบจ. แล้ว 4,276 แห่ง มีข้าราชการ 16,072 คน การจัดทำแผนพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ถ่ายโอนมาจึงเป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยให้ความมั่นใจว่า เมื่อภารกิจสุขภาพปฐมภูมิไปอยู่กับท้องถิ่นจะมีคุณภาพมาตรฐานเหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิม โดยต้องเชื่อมโยงการทำงานระหว่างเครือข่ายหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และ อบจ. เพื่อบูรณาการงานด้านสุขภาพให้กับประชาชนอย่างมีคุณภาพและมาตรฐานเหมือนเดิม

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ปัจจุบันกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้จัดทำมาตรฐานการฝึกอบรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยโครงการนี้ มีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับสมาคมฯ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยในหน่วยบริการสุขภาพ พัฒนาศักยภาพด้านการใช้ยาสมุนไพร      ตามองค์ความรู้การแพทย์แผนไทยให้กับแพทย์แผนไทยและบุคลากรกองสาธารณสุข อบจ., สอน./รพ.สต. ภายใต้การกำกับของ อบจ. รวมทั้งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิชาการและบูรณาการการใช้องค์ความรู้การแพทย์แผนไทยและการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกัน เป็นระยะเวลา 1 ปี

หนุนแพทย์แผนไทยฯ บุคลากรน้อย ต้องเพิ่มศักยภาพ ความก้าวหน้า

นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์หลังเปิดงานว่า สำหรับแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกถือเป็นทิศทางหนึ่งของประเทศ และได้รับการยอมรับความสนใจของ อบจ. โดยนำองค์ความรู้ต่างๆที่มีอยู่มาบูรณาการ และให้ความชัดเจนในการนำไปใช้ และการขยายผล อย่างมีเป้าหมายว่า กรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกมีอายุ 22 ปี แต่บุคลากรในกรมฯ ยังน้อยมาก จะทำอย่างไรให้เติบโต ขณะที่ อบจ.มีการรับโอน รพ.สต. จากการถ่ายโอนภารกิจไป ซึ่งถ่ายโอนไปแล้วกว่า 4 พันแห่งทั่วประเทศ โดยอบจ.ให้ความสนใจกับความรู้ต่างๆ จากการใช้บริการของแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก เรามีเป้าหมายในปี 2570 ว่า ในธุรกิจทางด้านสมุนไพรตรงนี้มูลค่า 1 แสนล้านบาท แต่ตนคิดว่ายังน้อยไป เพราะมีภาคีเครือข่ายมากขึ้น จึงต้องเติบโตขึ้น ประกอบกับทุกวันนี้คนเข้าออกโรงพยาบาล หรือผู้ป่วยนอกจำนวนมากเฉลี่ย 300-400 ล้านครั้งในปี 2564 หากตัวเลขพุ่งสูงเรื่อยๆ ไม่มีตัวช่วยให้ปริมาณคนเข้ารพ.ลดน้อยลงได้ หากยังปล่อยไว้ก็จะเอาไม่อยู่

“ดังนั้น การมีแพทย์แผนไทยฯจะเป็นอีกทางช่วยส่งเสริมสุขภาพ เหมือนตอนโควิด19 มีการใช้ฟ้าทะลายโจรมาช่วยกับฟาวิพิราเวียร์ จากการพัฒนาเรื่อยๆ ก็ทำให้เห็นว่า แพทย์แผนไทยฯเข้ามาช่วยได้มาก อย่างโรคมะเร็งจะป้องกันได้หรือไม่ หรือมีแนวทางอย่างไร ก็ต้องศึกษวิจัยและขยายเพิ่มขึ้น ต้องสนับสนุนแพทย์แผนไทยเพิ่มตัวเลขให้ได้มากกว่า 1-2 แสนล้านบาท รวมทั้งการสนับสนุนเมดิคอล เซอร์วิส ฮับ และ เวสเนส ฮับ ต้องดึงแพทย์แผนไทยเข้าไปด้วย” นายสมศักดิ์ กล่าว

"น้ำต้มใบมะละกอ" ศึกษาเรื่องมะเร็ง เป็นทางเลือก ไม่ใช่ทางหลัก

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะให้มีการศึกษาวิจัยน้ำต้มใบมะละกอในเรื่องโรคมะเร็งเพิ่มเติมหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กรมแพทย์แผนไทยฯ มีการทำอยู่แล้ว มีผลการศึกษาของหลายประเทศ และของมหาวิทยาลัย แต่การจะตีพิมพ์ก็ต้องพิจารณา แต่จริงๆ ต้องมาดูว่าใบมะละกอช่วยโรคอะไรอีก น่าจะมีโรคไต  ซึ่งตรงนี้ก็ต้องให้ทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ ดำเนินการ

เมื่อถามต้องให้ศึกษาในระดับคลินิกเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะเมื่อข่าวว่าใบมะละกอต้มช่วยเรื่องมะเร็ง อาจทำให้คนเสียโอกาสการรักษาแพทย์แผนปัจจุบัน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เอาตอนที่แพทย์แผนปัจจุบันรักษาไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าต้องไปใช้ครั้งแรกที่ป่วย นี่คือ เป็นทางเลือก ไม่ได้บอกว่าเอาตั้งแต่แรก

 

ถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.ไปอบจ.ยังต้องทำ

เมื่อถามว่า ความพิเศษของโครงการนี้จะช่วยทำให้ไร้รอยต่อการบริการทางการแพทย์แผนไทยที่ถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.ไป อบจ.หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากความร่วมมือของโครงการนี้ก็จะทำให้การทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์แผนไทยฯ และทางอบจ. ทำงานร่วมกันได้ดี โดยเฉพาะประเด็นการถ่ายโอนภารกิจไป ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังมีการร้องเรียนบ้าง อะไรที่เป็นปัญหาก็จะหารือร่วมกัน แก้ไขกันไป

ผู้สื่อข่าวถามว่าการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปอบจ. ยังคงต้องดำเนินการต่อไปใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ก็ต้องทำ เพราะเป็นนโยบายรัฐบาล แต่ทั้งหมดอยู่ที่ความสมัครใจ ไม่ได้บังคับ แต่ไปแล้วกลับไม่ได้ ก็ต้องพิจารณา  อย่างวันนี้ มีคนบอกว่า ข้าราชการไปกองรวมกันอยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ที่ไม่ประสงค์จะไปทำงานในรพ.สต.  ก็มีจำนวนหนึ่ง ตนก็มองว่า ลองหาดูว่าจะช่วยอย่างไร โอนไปทางกรมไหน อย่างกรมการแพทย์แผนไทยฯ ก็น่าจะได้ หรือจะขอไปช่วยราชการ อันนี้ต้องไปพิจารณากฎหมายด้วย