สัมภาษณ์พิเศษ : นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์  ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) กับทิศทางงานวิจัยขับเคลื่อนระบบสุขภาพปฐมภูมิ ยุคเปลี่ยนผ่านถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.สู่ อบจ. ชูงานวิจัยตอบปัญหา ทั้งการบริหาร จัดสรรงบประมาณ  การบริการประชาชน ปัญหาบุคลากร รวมทุกสิ่งสืบค้นข้อมูลได้ในระบบ HSIU : Health  systems Intelligence Unit

 

นอกจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย จนหลากหลายประเทศต่างยอมรับในการเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง แต่ขณะเดียวกันการรักษาอย่างเดียวไม่ได้ตอบโจทย์แท้จริง สิ่งสำคัญจึงต้องมีการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ ทั้งการดูแลรักษาตนเองเบื้องต้น การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทาง ลดความแออัดในสถานพยาบาล การพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิจึงเป็นอีกแนวทางสำคัญ

นับตั้งแต่ปี 2560 ในรัฐธรรมนูญระบุถึงสิทธิด้านสุขภาพ อยู่ในหมวดปฏิรูปมาตรา 258 ช.(5) กำหนดให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม  ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจัดทำนโยบายมีแนวทางดำเนินการต่างๆ ทั้งการจัดคลินิกหมอครอบครัว มีหมอประจำบ้านหรือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว กำหนดสัดส่วน 1 ต่อประชากร 10,000 คน โดยคลินิกหมอครอบครัวจะมีทีมสหวิชาชีพในสัดส่วน 1 ทีมต่อประชากร 30,000 คน จากนั้นก็มีการขับเคลื่อนและผลักดัน พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562  ขึ้น โดยหลักต้องทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะท้องถิ่น  พูดง่ายๆ จะไม่ใช่แค่ระทรวงสาธารณสุข จากส่วนกลางเท่านั้น แต่ต้องเป็นระดับพื้นที่เป็นสำคัญ

ช่วงที่ผ่านมาจึงเกิดคำถามในแวดวงสาธารณสุข ว่า  การจัดทีมคลินิกหมอครอบครัว นโยบายสามหมอ ของกระทรวงสาธารณสุข  ตอบโจทย์บริการสุขภาพปฐมภูมิได้มากน้อยแค่ไหน  โดยเฉพาะช่วงรอยต่อของการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)  ช่วงปี 2565-2566 มีการถ่ายโอน รพ.สต.กว่า 3 พันแห่ง และบุคลากรจากกระทรวงสาธารณสุขถ่ายโอนไปอีกกว่า 2 หมื่นคน

....กลายเป็นคำถามว่า เมื่อกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ระบบสุขภาพปฐมภูมิที่กระทรวงสาธารณสุข และมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ จะสามารถทำงานร่วมกันได้มากน้อยแค่ไหน...

“หมอศุภกิจ” ผอ.สวรส.กับทิศทางงานวิชาการหลังถ่ายโอนรพ.สต.

สำนักข่าวออนไลน์ Hfocus มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ  นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ จากอดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สู่ตำแหน่ง ‘ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)’  หน่วยงานสนับสนุนการศึกษาวิจัย ข้อมูลวิชาการต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ และแก้ปัญหาให้ประเทศไทย เรียกว่า เป็นหน่วยงานที่ใช้ข้อมูลวิชาการเป็นฐานในการแก้ปัญหาของประเทศ..

นพ.ศุภกิจ  เล่าถึงภาพกว้างก่อนว่า การกระจายอำนาจฯ มีการถ่ายโอนประมาณปี 2551 โดยถ่ายโอนภารกิจไปประมาณ 80 กว่าแห่ง ซึ่งจากปี 2551 จนวันนี้ จึงเกิดคำถามว่า เพราะอะไรจึงถ่ายโอนได้น้อยมาก  ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(ก.ก.ถ.)  มีการพิจารณาให้ถ่ายโอนภารกิจไป อบจ. เพราะมีสเกลใหญ่กว่า น่าจะตอบโจทย์ และแก้ปัญหาต่างๆ ได้ 

ถึงเวลาร่วมกันคิดหาแนวทางเคลื่อนระบบสุขภาพปฐมภูมิหลังถ่ายโอนฯ

หลังจากมีการถ่ายโอนรพ.สต.ไปอบจ. ทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้นไปแล้วกว่า 40%  แน่นอนว่า เกิดข้อกังวลว่า อาจกระทบถึงโครงสร้างระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มีการวางไว้ก่อนหน้านี้ แต่ไม่ได้บอกว่าจะเป็นปัญหา เพียงแต่ต้องมาคิดและหาแนวทางเพื่อทำให้ทุกอย่างราบรื่น เพราะเรื่องนี้เป็นการบริหารจัดการ  รวมไปถึงการเข้ารับบริการของประชาชน จากเดิมไปรักษา รพ.สต.ใกล้บ้านด้วยอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย และหากเจ็บป่วยมากขึ้นต้องส่งต่อไปรพ.ระดับสูงกว่า อย่างรพ.ชุมชน รพ.จังหวัด ทั้งรพ.ศูนย์ และรพ.ทั่วไป ซึ่งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข แต่ตอนนี้ในพื้นที่ที่ รพ.สต.ถ่ายโอน จะกลายเป็น 2 สังกัด

“ต้องมาหาแนวทางเพื่อให้การทำงานร่วมกันด้วยดี เพราะถ้าแยกส่วนกันแล้ว หากคุยกันไม่ได้ ไม่มีแนวทางที่เป็นมาตรฐานกลางให้ปฏิบัติก็จะเกิดปัญหา  วันนี้เราไม่มาเถียง หรือมาพูดว่า จะไปหรือไม่ไป แต่เราต้องเตรียมการให้พร้อม ต้องมีแนวทางชัดเจน หากไม่มี ในอนาคตมีปัญหาต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิแน่นอน เพราะเราเชื่อว่า ระบบสุขภาพปฐมภูมิตอบโจทย์การดูแลสุขภาพคนในพื้นที่ได้จริง และในรัฐธรรมนูญก็ระบุชัดว่า เป็นสิทธิที่คนไทยต้องได้รับบริการปฐมภูมิที่ดี” นพ.ศุภกิจ กล่าว

สวรส.สนับสนุนงานวิจัยหาแนวปฏิบัติ รพ.สต.ถ่ายโอนฯ

สวรส.มองว่า งานวิจัยต่างๆจะมาช่วยตอบโจทย์ตรงนี้ อย่างการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.ไปอบจ. ปรากฎว่า ยังมีคำถามถึงการบริหารจัดการต่างๆ อีกมาก  เช่น หน่วยงานใดจะควบคุมมาตรฐาน หรือใครจะพัฒนาศักยภาพการให้บริการ หน่วยงานไหนจะติดตามกำกับ อย่างเดิม รพ.สต. อยู่ภายใต้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) ซึ่งมีอยู่ทุกอำเภอ จะทำหน้าที่คอยติดตามกำกับ รพ.สต.ในแต่ละพื้นที่ เช่น สสอ. 1 อำเภอจะคอยติดตามกำกับดูแล รพ.สต.ประมาณ 13-14 แห่ง เป็นต้น แต่เมื่อมีการถ่ายโอนภารกิจไป อบจ. จึงจำเป็นที่ต้องมีการหากลไกดังกล่าว ว่า จะทำอย่างไรให้มีการติดตาม มีนิเทศก์งาน เป็นต้น

หนุนงานวิจัยจัดซื้อจัดจ้างแบบไหนเหมาะกับ รพ.สต.ถ่ายโอน

ยังมีประเด็นการจัดซื้อเวชภัณฑ์  แน่นอนว่า ในอนาคตจะต้องจัดซื้อจัดจ้างเอง แต่การซื้อยาจะแตกต่างจากสินค้าอื่นๆ เพราะมีความสลับซับซ้อน ต้องดูคุณภาพ ดูหลายปัจจัย อาจต้องมีเภสัชกร มาทำหน้าที่กำกับดูแล ซึ่งกรณีนี้ สวรส. ให้ทุนวิจัยเรื่องนี้เช่นกันว่า เมื่อถ่ายโอนภารกิจแล้วระบบจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งยาและเวชภัณฑ์ควรเป็นอย่างไร ถ้าผลวิจัยแล้วเสร็จก็จะเป็นอีกแนวทางให้ อบจ.ปฏิบัติได้

หนุนงานวิจัยศึกษารูปแบบการเงินการคลัง รพ.สต.ถ่ายโอนฯ

รวมไปถึงเรื่องการเงินการคลัง  อย่างที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)  เซ็นสัญญากับคู่สัญญาระดับปฐมภูมิ เพื่อบริหารจัดการในรูปแบบเครือข่ายหน่วยบริการ ที่เรียกว่า  CUP หรือ Contracting Unit of Primary care โดยรพ.ชุมชนจะเป็นคนลงนาม ซึ่งจะรับผิดชอบ รพ.สต.ในพื้นที่ของตน สนับสนุนงบประมาณจัดสรรในวงเดียวกัน แต่เมื่อมีการถ่ายโอนแล้ว บางแห่งก็ยังใช้รูปแบบเดิม โดยให้รพ.ชุมชนทำเหมือนเดิม แต่ก็จะติดปัญหาระเบียบใช้เงินอีก ดังนั้น สวรส. จึงต้องทำการศึกษาวิจัยว่า จะต้องทำอย่างไร เช่น หากแยกวงเงินออกไป จะต้องแบ่งสัดส่วนอย่างไร เป็นต้น

“การแก้ปัญหาการจ่ายเงินตอนนี้แบบเฉพาะหน้า คือ การไปตกลงหารือกันเอง จริงๆไม่ใช่วิธีที่ใช้ได้ตลอด เพราะหากตกลงไม่ได้จะกระทบอีก ดังนั้น จึงต้องมีวิชาการมารองรับ ซึ่งสวรส.กำลังศึกษาวิจัยว่า ภารกิจตรงนี้ หากถ่ายโอนไปแล้ว ควรต้องมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ และรพ.ชุมชนที่ต้องดูแลคนไข้รับส่งต่อจะต้องมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ เพื่อให้ได้สัดส่วนตัวเลขที่ทั้งคู่ยอมรับ ” ผู้อำนวยการสวรส. กล่าว

ชูงานวิจัยหลากหลาย ทั้งบุคลากร กำลังคน ใช้ข้อมูลวิชาการรองรับ

งานวิชาการที่ทุกคนยอมรับจะมาตอบโจทย์ได้ทั้งหมด รวมไปถึงเรื่องบุคลากร กำลังคนต่างๆอีก อย่างการถ่ายโอนภารกิจยังเป็นไปด้วยความสมัครใจ อย่างถ่ายโอนรพ.สต. แต่บุคลากรไม่ไป กลายเป็นว่า รพ.สต.ขาดคน ส่วนของเราจะจัดสรรบุคลากรลงตรงไหนจึงจะเหมาะสม ทั้งหมดต้องมีงานวิชาการมาตอบ

ประเด็นการถ่ายโอนฯ มีงานวิจัยที่ สวรส.สนับสนุนแล้วเสร็จ 17 เรื่อง และยังมีอีกหลายเรื่องกำลังศึกษาวิจัย รวมไปถึงมีการวิเคราะห์ข้อมูลว่า ที่ถ่ายโอนไป กับที่ไม่ไป เมื่อมีการประเมิน มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงต้องปรับปรุง หรือดีขึ้น ที่ผ่านมา สวรส.ให้ทุนสนับสนุนทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาว่า จะมีตัวชี้วัดตรงไหนที่ต้องปรับปรุง หรือที่ไหนดีมากขึ้น คล้ายๆ ประเมินเชิงระบบทั้งหมด  ซึ่งอาจดูจากจำนวนการบริการ เช่น เดิมเราดูแลคนไข้เบาหวานกี่คน เมื่อถ่ายโอนแล้วดูคนไข้เพิ่มขึ้นหรือน้อยลง หรือเท่าเดิม

เปิดระบบ  HSIU โมเดลจากโควิด สู่แหล่งรวบรวมข้อมูลทั้งประเทศ

“จริงๆ การถ่ายโอนรพ.สต.นั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่ง สวรส. เราสนับสนุนการวิจัยภาพรวมทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องถ่ายโอนเท่านั้น  เพียงแต่ช่วงที่ผ่านมาจะมีคนถามเรื่องนี้มาก หลักๆ มีถ่ายโอนไปแล้วกี่แห่ง มีคนไปเท่าไหร่ หาตัวเลขที่เป็นข้อมูลกลางไม่ได้ ล่าสุด สวรส. ตั้งระบบที่เรียกว่า HSIU หรือ Health  systems Intelligence Unit รวบรวมข้อมูลตรงนี้ขึ้นมา” นพ.ศุภกิจกล่าว

โดย  HSIU  จุดแรกเริ่มมาจากสมัยที่ นพ.ศุภกิจ  เป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงวิกฤตการณ์โควิดระบาด ได้เกิดไอเดียจัดตั้งระบบ MIU  (MOPH Intelligence Unit) ขึ้น เพราะช่วงโควิดก็มีคำถามทางนโยบายมากมาย ทั้งการเปิดประเทศ การใช้ยา การใช้วัคซีน จึงจำเป็นต้องมีข้อมูลรองรับ แต่งานวิจัยใช้เวลานาน จึงจำเป็นต้องมีการรีวิวเอางานวิชาการทั้งหมดมาประมวลและสรุปออกมาใช้ประโยชน์

ดังนั้น HSIU ก็นำมาจากโมเดลตรงนี้ และหลังจาก นพ.ศุภกิจ มารับตำแหน่งผู้อำนวยการ สวรส. ไม่นาน ก็ได้มีการพัฒนาและทำให้เป็นรูปธรรม  เบื้องต้นจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับภารกิจการถ่ายโอน รพ.สต. รวบรวมข้อมูลมาประมวลและสรุปออกมาให้คนที่สนใจเข้ามาศึกษา ซึ่ง สวรส. อัปเดตข้อมูลผ่านเว็บไซต์ https://hsiu.hsri.or.th/index.php   และในอนาคตจะมีนโยบายสาธารณสุขอื่นๆ เช่น สถานชีวาภิบาล การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยระยะท้าย เป็นต้น  

ทั้งนี้  ข้อมูลการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ใน HSIU แบ่งออกเป็นส่วนๆ ตั้งแต่ประวัติเส้นทางการถ่ายโอน จำนวนรพ.สต.ถ่ายโอน ซึ่งข้อมูลปี 2566 อยู่ที่ 3,263 แห่ง ส่วนปี 2567 มี 931 แห่ง  ข้อมูลบุคลากรถ่ายโอน(สอน./รพ.สต.) รวมทั้งหมด 23,023 คน แบ่งเป็นกลุ่มข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ 15,409 คน หรือ 66.92%  ส่วนกลุ่มพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างทั่วไป 7,614 คน หรือ 33.08%  เราภาพรวมทั้งหมดว่า ถ่ายโอไป อบจ.กี่แห่ง ขนาด S,M และ L  รวมไปถึงข้อมูลเงินโอนจาก สปสช.  ฯลฯ  สามารถเข้ามาติดตามข้อมูลใน HSIU ได้

ยังมีคำถามจากบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขว่า การถ่ายโอนรพ.สต.ไปอบจ.ควรไปหรือไม่ นพ.ศุภกิจ ตอบว่า ใน HSIU จะเป็นข้อมูลภาพรวมทั้งหมด สามารถเข้ามาศึกษาแต่ละพื้นที่ได้ว่า จังหวัดไหนไป เป็นอย่างไร มีงานวิจัยต่างๆอยู่ใน HSIU ซึ่งทั้งหมดทั้งปวง การตัดสินใจก็อยู่ที่บุคลากรเอง เพียงแต่เรารวบรวมข้อมูลวิชาการต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ

“งานวิชาการจะเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ  เราเป็นเพียงหน่วยสนับสนุน โดยยึดผลงานวิชาการเป็นหลัก ไม่ใช่ความรู้สึก..” ผู้อำนวยการ สวรส.กล่าวทิ้งท้าย