ปลัดสธ. เผยคืบหน้าแผนกำลังคนด้านสุขภาพระดับประเทศ ร่างแรกเสร็จแล้ว เหลือรอปรับปรุงตามความคิดเห็นของโรงเรียนแพทย์ กทม. แพทย์ทหาร และทุกส่วน คาดแล้วเสร็จเร็วสุด มิ.ย.นี้ ขณะที่ รมว.สธ.ให้ความสำคัญกำลังคนด้านสุขภาพ เร่งรัดกฎหมายบุคลากรด้านสาธารณสุข
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวตอนหนึ่งในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตแพทย์ของโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทร่วม 16 มหาวิทยาลัย ว่า สถานการณ์บุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทย ที่มีบุคลากรทางการแพทย์ 50,000 คนอยู่ในสธ.ราว 25,000 คน ที่เหลืออีก 20-30% อยู่ภาครัฐอื่นๆ และอีก 20% อยู่ที่เอกชน ซึ่งความต้องการแพทย์ที่จำนวน 50,000 คน พอหรือไม่ หากเทียบกับ 20 ปีที่แล้วก็ยังไม่ขาดแคลนมากนัก แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะการผลิตแพทย์หนึ่งคนเป็นการสร้างประสิทธิภาพของประเทศ โดยแพทย์หนึ่งคนเทียบกับการใช้งานถือว่าคุ้มค่ามาก โดยในช่วงอายุแพทย์สามารถสร้างผลผลิตเทียบกับตัวเงินเป็นหลายสิบหลายล้านบาท การผลิตแพทย์เพิ่มจึงทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น
คาดหวังอนาคตผลิตแพทย์ได้ปีละ 5 พันคน
ทั้งนี้ นพ.โอภาส ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงการผลิตแพทย์ในแต่ละปี ว่า โรงเรียนแพทย์ผลิตได้ประมาณ 3,500 คนต่อปี สธ.เราร่วมผลิตในชั้นคลินิก 2 พันคน เราได้แพทย์อยู่ในระบบปีละ 1 พันคน ทั้งนี้ อนาคตตามมติ ครม.เห็นชอบผลิต 9 หมอของสถาบันบรมราชชนก (สบช.) มีแผนผลิตบุคลากรแพทย์เพิ่มปีละ 1 พัน ก็รวมเป็น 4,500 คน มหาวิทยาลัยหลายแห่งเพิ่มผลิตแพทย์เพื่อตอบสนองเรื่องเมดิคัล ฮับ เพิ่มขึ้นอีก
“อนาคตข้างหน้าเราจะผลิตแพทย์ได้ปีละ 5 พันคน ในช่วงระยะ 6-10 ปีข้างหน้า ทำให้จำนวนบุคลากรต่อประชากรมีความเพียงพอที่จะรองรับเรื่องระบบสาธารณสุขที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศ ทั้งเรื่องสังคมผู้สูงอายุ เมดิคัล ฮับ เทคโนโลยีขั้นสูงต่างๆ ซึ่งขณะนี้กำลังทำยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสุขภาพระดับประเทศ โดยจะไม่ใช่แค่ของกระทรวงสาธารณสุข แต่จะรวมทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง” ปลัดสธ.กล่าว
(ข่าวเกี่ยวข้อง : ครม.มีมติเห็นชอบโครงการผลิตแพทย์ฯ 9 สาขาวิชาชีพ 10 ปี 62,000 คน)
รมว.สธ.ให้ความสำคัญกำลังคนด้านสุขภาพ
เมื่อถามถึงแผนยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสุขภาพระดับชาติ นพ.โอภาส กล่าวว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้เร่งรัดในเรื่องนี้ สังเกตได้จากการการผลักดันกฎหมายต่างๆ มีเรื่องที่รมว.สธ. ให้ความสำคัญคือ ร่าง พ.ร.บ.บุคลากรด้านสาธารณสุข ยุทธศาสตร์นี้จะเป็นตัวตั้งต้นที่จะไปผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.การบริการงานบุคคลด้านสาธารณสุขต่อไป ซึ่งร่างแรกเสร็จแล้ว ถือเป็นร่างปรับปรุง เพราะต้องสอบถามหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเมื่อทำยุทธศาสตร์ จะไม่ได้มองเฉพาะของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เท่านั้น แต่มองกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งตัวแทนของทั้งมหาวิทยาลัย กทม. เอกชน และนักกฎหมายต่างๆ มาช่วยกันพิจารณา ที่สำคัญไม่ใช่แค่แพทย์ แต่เรื่องกำลังคนจะรวมถึงสายวิชาชีพอื่นๆ ทั้งพยาบาล เทคนิคการแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร แพทย์แผนไทย
เป้าหมายยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสุขภาพ
ผู้สื่อข่าวถามว่าแผนยุทธศาสตร์นี้ในอนาคตจะทราบได้เลยหรือไม่ว่า สธ.จะได้แพทย์เข้าระบบสัดส่วนเท่าไหร่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ยุทธศาสตร์แปลว่าเรากำหนดเป้าหมายของเรื่องนั้นๆ ว่าต้องการเป้าหมายเท่าไร และวิธีการที่จะไปถึงเป้าหมายจะต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง เช่น การผลิต การกระจาย การคงอยู่ การมีค่าตอบแทน ภาระงานที่เหมาะสม ทั้งหมดจะเป็นรายละเอียดที่อยู่ในยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์จะเป็นภาพกว้างเพื่อตอบสนองต่อนโยบาย ซึ่งนโยบายเป้าหมายเราไม่ได้มองแค่ความต้องการในประเทศ แต่มองเรื่องการแข่งขันในเชิงอุตสาหกรรมการแพทย์ชั้นสูงตามนโยบายนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาสาธารณสุข อย่างการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ และอิกไนท์ ไทยแลนด์ (IGNITE THAILAND) ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว อาหาร เมดิคัลฮับหรืออุตสาหกรรมการแพทย์ชั้นสูง เมดิคอลเซอร์วิสฮับ ซึ่งมีความต้องการบุคลากรในการขับเคลื่อน
เมื่อถามว่า ยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสุขภาพจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ร่างแรกเสร็จแล้ว หลังฟังความคิดเห็นก็จะเสนอร่างสองในเร็วๆ นี้ บอกไม่ได้ว่าจะมีกี่ร่าง แล้วแต่ความคิดเห็น จะไม่เหมือนกฎหมาย ยุทธศาสตร์ไม่ได้ผูกพันทางกฎหมาย แต่จะเป็นแนวทางไกด์ไลน์ว่า ประเทศไทยเราจะผลักดันไปในแนวนี้ แต่รัฐมนตรีก็อยากให้เสร็จโดยเร็ว ถ้าเป็นไปได้ก็วางกรอบเดือนหน้าน่าจะเสร็จ แต่ไม่ได้ตายตัว เพราะไม่ได้เป็นข้อบังคับเชิงกฎหมาย
ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.ร่วม 16 โรงเรียนแพทย์ - เอกชนอีก 3 แห่ง ผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท
- 1133 views