ผบ.ทร.มอบนโยบายด้านสาธารณสุขและหารือร่วมกับปลัดสธ. ผู้บริหารระดับสูง ชูแผนสร้างความสมานฉันท์คนในชาติเป็นวาระเร่งด่วน ดำเนินการใน 4 เดือน ให้สธ.ร่วมกับศูนย์ปรองดองฯ ด้านปลัดสธ.เผย งานในสธ. แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะสั้น เร่งบรรจุข้าราชการทั้ง 2 รอบ พัฒนา 12 เขตสุขภาพเท่าเทียมกัน การออกนอกก.พ. ซึ่งต้องมีพิจารณากฎหมายหลายฉบับ ระยะกลาง 1 ปี ปฏิรูปการเงินการคลังด้านสุขภาพ สร้างกลไกกำหนดนโยบายสุขภาพระดับประเทศ ระยะยาว 3 ปี แผนการลงทุนให้สอดคล้องเขตสุขภาพ และแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ

 

วันนี้ (31 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางมายังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อมอบนโยบายและหารือด้านสาธารณสุขร่วมกับ ปลัดสธ. ผู้บริหารระดับสูงของสธ. อธิบดีกรมต่างๆ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยช่วงเช้าได้เข้าสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร บริเวณหน้าอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก่อนขึ้นไปยังห้องประชุมเพื่อหารือ 

หลังจากนั้นเวลาประมาณ 11.30 น. พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังการหารือว่า วันนี้เป็นการประชุมรับฟังแนวทางการทำงานของสธ. ซึ่งจะมีการแบ่งงานออกเป็น 3 ระยะ คือ 1.ระยะสั้นที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 4 เดือน  หรือทำทันทีในปัจจุบันถึง 1 ต.ค. 2557 2.แผนการทำงานระยะกลางที่ต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2558 และ 3.แผนระยะยาว ที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี  โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.2558 - 30 ก.ย. 2561

ทั้งนี้ในส่วนของแผนการทำงานระยะสั้นคือการปรับปรุงพัฒนาขีดความสามารถของ 12 เขตบริการสุขภาพให้เกิดความเท่าเทียมกัน และเร่งดำเนินการตามแผนงานของปีงบประมาณ 2557 ที่คั่งค้างมาตั้งแต่เกิดวิกฤตทางการเมือง เช่น การบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการ 2 รอบ รอบละประมาณ 7,500 คน เป็นต้น รวมถึงปรับปรุงคุณภาพงานส่วนต่างๆ ที่ สธ.รับผิดชอบอยู่ นอกจากนี้ สธ.ยังได้เสนอแนวทางการทำงานเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ของของคนในชาติ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายนโยบายเร่งด่วนของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคน คือ 1. บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง 2. กลุ่มผู้อยู่ในที่ชุมนุม และ 3. กลุ่มประชาชนทั่วไป ส่วนรายละเอียดนั้นทางกระทรวงสาธารณสุขจะจัดทำมาเสนออีกครั้งในการประชุมหาแนวทางสร้างความสมานฉันท์ในวันจันทร์ที่ 2 มิ.ย.นี้ 

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาตินั้นในส่วนของ สธ.ซึ่งมีความพร้อมในเรื่องกำลังคน นักสังคมจิตวิทยา และเทคนิคทางด้านการแพทย์พร้อมทั่วประเทศ ดังนั้นจึงยินดีให้ความร่วมมือ โดยในส่วนของกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบทางการเมือง เช่น ผู้ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต รวมถึงญาติจะต้องได้รับการเยียวยา กลุ่มผู้ชุมนุม ผู้มีความคิดเห็นขัดแย้งกันนั้น ทางสธ.จะร่วมกับศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ในการวิเคราะห์พื้นที่ วิเคราะห์กลุ่มเสี่ยง และจัดเวทีรับฟังความเห็นอย่างรอบคอบ ครอบคลุมโดยใช้กลไกสังคมและจิตวิทยาเข้าไปช่วย ส่วนในกลุ่มของประชาชนทั่วไปก็จะต้องมีการรับฟังความเห็น และสร้างการรับรู้และเชื่อมั่นว่าประเทศไทยยังมีทางออก ทั้งนี้สื่อมีส่วนสำคัญในการเผยแพร่ความคิดเห็นได้อย่างรอบด้าน

 

“ยืนยันว่าสังคมสามารถมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ แผนการสมานฉันท์ของเราจะเน้นที่การอยู่ร่วมกันได้บนความคิดเห็นที่แตกต่างไม่เผชิญหน้าหรือแยกออกจากกัน” นพ.ณรงค์ กล่าว

สำหรับการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการนั้นคาดว่าน่าจะสามารถดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้ เช่นเดียวกับนโยบายที่จะพาข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขออกจากการดูแลของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นั้น ยังต้องมีการพิจารณากฎหมายหลายฉบับ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในระหว่างการประชุมนั้น ผบ.ทร.ได้ให้นโยบายด้านสาธารณสุขว่า หลังจากมีการประชุมคสช.ฝ่ายสังคมจิตวิทยา เมื่อ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา จากการนำเสนอของปลัดสธ. สามารถสรุปปัญหาหลักของการพัฒนาด้านสาธารณสุข ได้ 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

1.ปัญหาในระบบบริการสุขภาพ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์

2.ปัญหาการบริหารจัดการด้านสุขภาพ ที่สืบเนื่องมาจากการขาดกลไกระดับชาตที่สามารถกำหนดนโยบายและการบูรณาการเพื่อจัดการด้านสุขภาพในองค์รวม รวมถึงการขาดระบบบริหารจัดการบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้เพียงพอ และการขาดบูรณาการข้อมูลด้านสุขภาพ

3.ปัญหาการพัฒนาบุคลาการทางการแพทย์และสาธารณสุข นอกจากการขาดแคลนแล้ว ยังขาดการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้มีสมรรถนะเหมาะสมเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพอีกด้วย

พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ปลัดสธ.ยังได้เสนอทิศทางยุทธศาสตร์ของกระทรวงสธ. คือ

1.ยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพตามกลุ่มวัย

2.ยุทธศาสตร์การพัฒนาและจัดระบบบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ครอบคลุม และประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้

3.ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการจัดบริการ

ซึ่งกระทรวงสธ.ได้เสนอข้อเสนอนโยบายที่จัดแบ่งตามความสำคัฐเร่งด่วนดังนี้

1.นโยบายเร่งด่วนที่จะต้องปฏิบัติทันที

1.1 การพัฒนาระบบบริการให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มวัย

1.2 สนับสนุนการสร้างความสมานฉันท์และลดความขัดแย้งของบุคคลที่มีความเห็นต่างทางการเมืองโดยใช้กลไกของหน่วยบริการสาธารณสุข

1.3 การสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรสาธารณสุขเพื่อรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพไว้ในระบบบริการสุขภาพ

1.4 สร้างกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลในระบบสาธารณสุขให้เข้มแข็ง โดยยึดหลักคุณธรรม และลดการ แทรกแซงจากกลุ่ม ผลประโยชน์ที่หวังผลโดยมิชอบ

2.นโยบายระยะกลาง ซึ่งจะดำเนินการภายใน 1 ปี

2.1 การปฏิรูประบบบริการเป็นเขตบริการสุขภาพ โดยเน้นการสร้างเครือข่ายบริการให้ครอบคลุมประชากร กลุ่มเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ

2.2 ปฏิรูประบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เกิดประสิทธิภาพ และมีความโปร่งใส

2.3 ปฏิรูบระบบข้อมูลด้านสุขภาพ โดยมุ่งเน้นเรื่องความครบถ้วนของข้อมูล เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และจำเป็นต่อประชาชน ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสุขภาพแห่งชาติ

2.4 พัฒนากฎหมายและการบังคับใช้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนและกำกับดูแลด้านการสาธารณสุขของชาติ

2.5 พัฒนากลไกเพื่อสร้างเอกภาพในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการสาธารณสุข โดยให้ กระทรวงสาธารณสุข เป็นแกนหลักร่วมกับกระทรวงและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ

3.นโยบายระยะยาว ซึ่งจะดำเนินการใน 1 – 3 ปี ประกอบด้วย

3.1 การจัดทำแผนการลงทุนของกระทรวงสาธารณสุขให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดบริการแบบเขตสุขภาพและแผนบริการสุขภาพแบบบูรณาการ

3.2 จัดทำแผนผลิตและพัฒนาคน เพื่อรองรับระบบบริการและกระจายบุคลากรให้เกิดความเป็นธรรม รวมทั้งเพื่อพัฒนา ศักยภาพและลดผลกระทบในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า จากการนำเสนอของปลัดสธ. แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในปัญหาด้านสาธารณสุข ซึ่งแนวนโยบายของคสช.ฝ่ายสังคมจิตวิทยาด้านสาธารณสุข สนับสนุนและมีสิ่งที่ควรมุ่งเน้นและให้ความสำคัญดังนี้

1.การดำเนินงานของแผนงานตามนโยบายระยะยาว ควรมีการทบทวนและปรับปรุงแนวทางและเป้าหมายให้มีความทันสมัยอยู่เสมอและควรกำหนดดัชนีชี้วัดที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวเชื่อมโยงกับตัวเลขผลกระทบหรือปัจจัยเกื้อกูลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งจะมีส่วนช่วยสำคัญให้กับกระทรวง ในการพิจารณากำหนดมาตรการและแผนรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น และยังเป็นการเสริมสร้างเพื่อให้เกิดความยั่งยืน รวมทั้งยังเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่สำคัญในภาพรวมของประเทศอีกด้วย

2.การดำเนินงานของแผนงานตามนโยบายระยะปานกลางและระยะสั้น อันหมายถึงแผนงาน/โครงการในปีงบประมาณ 2557 และ 2558 นอกเหนือจากจะต้องมีความสอดคล้องกับนโยบายในระยะยาวแล้ว ควรเร่งพิจารณา และปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ที่หากไม่ดำเนินการแล้วจะส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพของชาติ ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน สนับสนุนการลดความขัดแย้ง และสร้างความสมานฉันท์โดยใช้กลไกทางสาธารณสุข รวมทั้งแผนงาน/โครงการที่เป็นการเสริมศักยภาพในเชิงการแข่งขันเพื่อรองรับ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เป็นหลัก ส่วนแผนงาน/โครงการที่เป็นข้อกังขาของสังคมโดยเฉพาะประเด็นที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่โปร่งใส และไม่ตอบโจทย์ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหา ก็สมควรจะต้องมีการทบทวน ทั้งนี้ ขอให้เร่งพิจารณาและเสนอผลการพิจารณาแผนงาน/โครงการ ของปีงบประมาณ 2557 เพื่อให้การดำเนินการเกิดขึ้นโดยเร็วในช่วง ปีงบประมาณที่เหลือนี้

3. สิ่งที่ต้องการฝากให้กระทรวงสาธารณสุขไปช่วยกันคิดพิจารณาและดำเนินการให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของฝ่ายสังคมจิตวิทยาและนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คือ “การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม การขจัดการคอรัปชั่นเวลาในการให้บริการของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข การพัฒนาระบบการแพทย์ทางเลือก การวิจัยพัฒนาทางการแพทย์และสาธารณสุขโดยมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพและการบริการในระบบสุขภาพ และการปรับกระบวนทัศน์ด้านสาธารณสุขให้เป็นไปในลักษณะเชิงรุก โดยการกำหนดมาตรการสุขภาพเพื่อการป้องกันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะได้ผลดีกว่าการแก้ไขปัญหาสุขภาพเมื่อเกิดขึ้นแล้วในภายหลัง อีกทั้งยังเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพโดยรวมของประเทศอีกด้วย”

และประการสุดท้ายเพื่อให้การปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างฝ่ายสังคมจิตวิทยากับกระทรวงเป็นไปอย่างคล่องตัว และสอดคล้องกับประกาศ/คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ การนี้ ขอให้กระทรวงเร่งพิจารณาจำแนกงานต่าง ๆ และเสนอแนวทางที่เหมาะสมตามอำนาจหน้าที่ของปลัดกระทรวง รัฐมนตรี และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา หรือขอหารือว่าหากกำหนดให้การเสนอหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยาให้ความเห็นชอบ ในอำนาจปลัดกระทรวงและรัฐมนตรี เป็นงานเฉพาะที่จะต้องใช้งบประมาณประเภทงบลงทุน จะเหมาะสม หรือไม่ รวมทั้งรวบรวมคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการระดับ กระทรวงที่แสดงรายละเอียด องค์ประกอบ ของคณะกรรมการ และขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ เสนอให้ผมทราบในโอกาสแรกเพื่อพิจารณา และกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมต่อไป