25 องค์กรประกาศ ‘ประเทศไทยปักหมุด...หยุดเชื้อดื้อยา’ ตั้งเป้าลดผู้ป่วยจากเชื้อดื้อยา 50% ภายในปี 64 วางยุทธศาสตร์จัดการยาต้านจุลชีพ 6 ด้าน หวั่นหากทั่วโลกไม่จัดการจะเกิดผู้เสียชีวิตจากการดื้อยา 10 ล้านคนในปี 93 ขณะที่พฤติกรรมการใช้ยาคนไทยที่ส่งผลต่อเชื้อดื้อยา ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นใน 3 โรคยอดฮิต “หวัด-แผล-ท้องเสีย” ซื้อยาตามคนอื่นและหยุดยาเมื่ออาการดีขึ้น
เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2560 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์คอนเวนชั่น ในการประชุมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย โดยมี 25 องค์กรภาครัฐ ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมว่าด้วยการขับเคลื่อนงานเพื่อแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย และเปิดตัวพันธกิจ ‘ประเทศไทยปักหมุด...หยุดเชื้อดื้อยา’ โดยตั้งเป้าหมายลดผู้ป่วยจากเชื้อดื้อยา 50% ภายใน 4 ปี
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Resistance: AMR) เป็นวิกฤติร่วมของทุกประเทศทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งก่อให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจในวงกว้าง ซึ่งนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกลุ่ม G-77 ได้รับรองปฏิญญาทางการเมืองว่าด้วยการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 71 เรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ โดยย้ำความสำคัญของการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการดื้อยาต้านจุลชีพแก่ทุกภาคส่วน จึงเกิดการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 โดยมีเป้าหมายลดผู้ป่วยจากเชื้อดื้อลง 50% ลดการใช้ยาต้านจุลชีพในคนลง 20% และในสัตว์ 30% รวมถึงประชาชนมีความรู้มากขึ้น 20% และมีระบบการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพมีสมรรถนะตามสากล
พญ.มยุรา กุสุมภ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาระดับโลก เพราะเชื้อแบคทีเรียก่อโรคปรับตัวจนดื้อต่อยาต้านจุลชีพเกือบทุกชนิด หากไม่เร่งแก้ไข โลกจะกลับสู่ยุคที่คนจะตายจากโรคติดเชื้อแบคทีเรียอีกครั้งคาดว่าในปี 2593 ทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากปัญหาเชื้อดื้อยารวม 10 ล้านคน ในจำนวนนี้อยู่ในทวีปเอเชียมากที่สุดถึง 4.7 ล้านคน ยุทธศาสตร์จัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทยจึงมี 6 ด้านคือ การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการระบาดของเชื้อดื้อยา เร่งรัดออกประกาศให้ยาต้านจุลชีพบางรายการเป็นยาที่ต้องมีใบสั่งแพทย์และมีระบบควบคุมการกระจายยา การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในโรงพยาบาลอย่างบูรณาการทั้งในสถานพยาบาลรัฐและสถานพยาบาลเอกชน ลดการใช้ยาต้านจุลชีพในการเลี้ยงสัตว์ การประมง และการใช้ยาในพืช บูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ และพัฒนาระบบติดตามประเมินผลในภาพรวม
นายสัตวแพทย์ธนิตย์ เอนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาอย่างเหมาะสมในภาคเกษตรและสัตว์เลี้ยง กระทรวงเกษตรฯได้ให้ความสำคัญจึงมีมาตรการการควบคุมการใช้ยาในสัตว์โดยพัฒนามาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ คุณภาพยา อาหารสัตว์และวัคซีน เพื่อให้สัตว์ปลอดโรค มีการควบคุม ป้องกัน เชื้อดื้อยา และสารตกค้าง โดยมีหน่วยงานและคณะกรรมการที่เฝ้าระวังเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ มีการดำเนินการตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพยาปฏิชีวนะที่จำหน่ายในท้องตลาด และมีการประกาศห้ามการใช้ยาในวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตในทุกชนิดสัตว์ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการบริโภคและการส่งออกสินค้าทางการเกษตรของไทย
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการศึกษาของศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยาพบว่า พฤติกรรมการใช้ยาของคนไทยที่ส่งผลต่อเชื้อดื้อยา เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นใน 3 โรคยอดฮิตอย่างหวัด เป็นแผล และท้องเสีย รวมถึงการซื้อยาปฏิชีวนะกินตามคนอื่นและหยุดยาปฏิชีวนะเมื่ออาการดีขึ้น นอกจากนี้ในต่างจังหวัดยังพบการกระจายยาในร้านชำที่ขาดความรู้เรื่องยาปฏิชีวนะ จึงเน้นให้ความรู้แก่ประชากรกลุ่มเป้าหมายในโรงเรียน เกษตรกร และชุมชน รวมถึงการศึกษาข้อมูลการใช้ยาและพฤติกรรมการใช้ยาของคนไทยโดยร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์ ตลอดจนทำงานตรงไปที่บุคลากรทางการแพทย์และเภสัชกรในการจัดการเชื้อดื้อยาและการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด มากกว่า 30 จังหวัด เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลการใช้ยาอย่างถูกต้อง
สำหรับองค์กรที่ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมว่าด้วยการขับเคลื่อนงานเพื่อแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย 25 องค์กร ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์กรมหาชน) (สรพ.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) แพทยสภาเครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ทันตแพทยสภา สัตวแพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภาการพยาบาล สภาเทคนิคการแพทย์ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE)
- 69 views