การแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย แม้ว่าตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาจะถูกเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลิตเพิ่ม ทั้งแพทย์ พยาบาล และสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลน แต่จนถึงปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดและห่างไกล เรียกได้ว่า เป็นปัญหาด้านการขาดแคลน การกระจายตัว และการแก้ไขปัญหาที่ถูกมองว่าเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข
สำนักข่าว Hfocus ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) ซึ่งได้สะท้อนความเห็นว่า ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นสามารถแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ การขาดแคลนที่เกิดจากจำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอ และการขาดแคลนที่มาจากปัญหาการกระจายตัวของวิชาชีพ ซึ่งปัญหาการขาดแคลนเหล่านี้ไม่สามารถมองและแก้ไขปัญหาแบบภาพรวมได้ทั้งหมด เพราะเแต่ละวิชาชีพมีปัญหาขาดแคลนที่ไม่เท่ากันและยังแตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกัน กับการจะกำหนดว่า บุคลากรทางการแพทย์เท่าไหร่จึงจะเพียพอและพอดีนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการออกแบบระบบบริการทางการแพทย์ของประเทศนั้น รวมถึงระดับมาตรฐาน โดยแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน มีการจัดระบบบริการการแพทย์ที่ไม่เหมือนกัน ส่งผลให้ความต้องการบุคลากรทางการแพทย์ย่อมแตกต่างกันออกไปด้วย
เริ่มต้นกันที่ปัญหาขาดแคลนวิชาชีพแพทย์กันก่อน นพ.พงษ์พิสุทธิ์ บอกว่า เมื่อเปรียบเทียบจำนวนแพทย์ต่อประชากร เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่อยู่ในระดับเศรษฐกิจเดียวกัน พบว่าบ้านเรายังมีแพทย์ต่อจำนวนประชากรน้อยมาก แม้แต่เปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน พบว่าประเทศไทยมีแพทย์พอเพียงต่อประชารในระดับที่น้อย เกือบอยู่สุดท้ายของการจัดอันดับ แม้แต่พม่าและเวียดนามยังมีแพทย์ต่อประชากรที่มากกว่าไทย ชี้ให้เห็นว่าจำนวนแพทย์ของไทยยังเป็นปัญหา ซึ่งปัจจุบันเรายังคงมีแพทย์ประจำในระดับอำเภอ โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) เท่านั้น ขณะที่บางประเทศมีแพทย์ประจำลงถึงระดับตำบลหรือหมู่บ้าน
แต่ปัญหาขาดแคลนแพทย์ที่เกิดขึ้นนี้ กลับไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบบริการและคุณภาพการรักษามากนั้น เพราะจากงานศึกษาวิจัยพบว่า เรามีการใช้วิชาชีพพยาบาลปฏิบัติงานแทนแพทย์ในบางโอกาส เนื่องจากเรามีอัตราแพทย์ต่อพยาบาลจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่อัตราแพทย์ต่อพยาบาลมักมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ระบบสาธารณสุขไทยมีการใช้พยาบาลในการทำหน้าที่แทนแพทย์ เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนเบื้องต้น เรียกว่าเป็นกลไกทดแทน โดยเฉพาะในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และใน รพช. โดยเฉพาะ รพ.ที่มีแพทย์ประจำเพียงคนเดียว เรียกว่าเป็นการจัดระบบทดแทนที่ดีและมีประสิทธิภาพ
ถึงแม้กระนั้น ปัญหาแพทย์ไม่เพียงพอยังคงมีอยู่ นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ ที่ผ่านมาเราได้ใช้ระบบการใช้ทุนเป็นหลัก เนื่องจากในการเรียนเป็นแพทย์จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐส่วนหนึ่ง จึงต้องมีการทำงานเพื่อใช้ทุนทดแทน ด้วยเหตุนี้จึงมีการส่งแพทย์จบใหม่ไปทำงานใช้ทุนเพื่อดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ แต่ปัญหาขาดแคลนแพทย์ยังคงมีอยู่ เนื่องจากภายหลังจากที่แพทย์จบใหม่เหล่านี้ใช้ทุนครบ 3 ปีแล้ว ส่วนใหญ่เลือกที่จะลาออกหรือขอย้าย โดยจะยังคงมีแพทย์ที่ยังคงอยู่ในระบบและพื้นที่เพียงแค่ร้อยละ 20-30 ของแพทย์ที่จบในรุ่นนั้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมาจึงมีคำถามที่ว่าระยะเวลาการใช้ทุนเรียนแพทย์ 3 ปีนั้นเพียงพอหรือไม่ เนื่องจากมีคนจำนวนหนึ่งมองว่า แพทย์ถือเป็นวิชาชีพพิเศษที่ต้องทำงานเพื่อส่วนรวม เพราะเป็นวิชาชีพที่ได้ประโยชน์จากชีวิตคนในการเรียนและศึกษา จึงต้องคิดและทำงานเพื่อสังคมและส่วนรวม นอกจากนี้ยังมีแนวคิดการเพิ่มจำนวนเงินการชดใช้ทุน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 4 แสนบาท ซึ่งเป็นอัตราคงที่และกำหนดมานานนับสิบๆ ปี แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ
“ที่ผ่านมา สธ.เองมีความพยายามแก้ปัญหาการลาออกของแพทย์ แต่แนวคิดบรรจุตำแหน่งข้าราชการโดยเชื่อว่าจะทำให้แพทย์คงอยู่ในระบบได้นานนั้น เห็นว่าเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะแพทย์รุ่นหลังๆ ไม่ได้สนใจกับตำแหน่งข้าราชการแล้ว แต่ให้น้ำหนักงานที่ท้าทายและจำนวนรายได้เป็นหลัก ดังนั้นการบรรจุแพทย์เป็นข้าราชการจึงไม่ได้เป็นปัจจัยทำให้อยู่ในระบบ ส่วนการจูงใจด้วยเพิ่มค่าตอบแทนนั้น วิธีนี้พอมีผลอยู่บ้าง แต่ต้องเป็นการเพิ่มค่าตอบแทนในปีที่เป็นจุดหักเหคือ ปีที่ 4 หลังการใช้ทุนครบ 3 ปี เพราะเป็นช่วงที่แพทย์ตัดสินใจว่าจะคงทำงานอยู่ในระบบหรือเลือกที่ลาออกเพื่อไปทำงานยังเอกชน แต่ที่ผ่านมาทางชมรมแพทย์ชนบทเสนอให้เพิ่มค่าตอบแทนกับแพทย์ที่ทำงานครบ 10 ปี เป็นการเพิ่มค่าตอบแทนในปีที่ 10 ซึ่งจะไม่มีผลอะไร เพราะแพทย์ที่ทำงาน 10 ปี ย่อมมีแนวโน้มที่จะคงอยู่ในระบบต่อไปอยู่แล้ว” อดีต ผอ.สวรส. กล่าว
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังต้องเปิดโอกาสให้แพทย์ที่ทำงานในชนบทสามารถเรียนต่อเพิ่มเติมเพื่อสอบใบอนุมัติและวุฒิบัตรแพทย์เฉพาะทางได้ แบบทำงานไปด้วยและเรียนไปด้วยได้ หรือเปิดอบรมระยะเวลาสั้นๆ อย่าง แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เป็นการเพิ่มโอกาสให้แพทย์ที่ทำงานในชนบทมีโอกาสที่จะพัฒนาตนเอง
ส่วนการกระจายตัวของแพทย์ในแต่ละสาขาเชี่ยวชาญนั้น นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวว่า เราพบว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขา อาทิ ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์ กุมารแพทย์ และสูตินรีแพทย์ เป็นต้น ไม่ได้มีจำนวนตามความจำเป็น และปัจจุบันมีกระแสแพทย์ที่เทไปเรียนสาขาโรคผิวหนังกันมาก แม้แต่แพทย์ที่เรียนเฉพาะทางสาขาอื่นยังเลือกอบรบเป็นแพทย์ผิวหนังเพิ่มเติม เพื่อหันมารักษาตามคลินิกเสริมความงามแทน ส่งผลให้แพทย์เชี่ยวชาญด้านสาขาอื่นๆ ลดลง โดยเฉพาะแพทย์ศัลยกรรมที่เป็นสาขาขาดแคลน ด้วยสาเหตุนี้จึงส่งผลให้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในระบบเพิ่มมากขึ้นไปอีก กลายเป็นปัญหาการเข้าถึงการรักษาเช่นกัน
“ที่ผ่านมาเคยมีการศึกษาวิจัยถึงจำนวนแพทย์แต่ละสาขา โดยพิจารณาจากความต้องการในการรักษาและจำนวนแพทย์แต่ละสาขาที่มีอยู่ในระบบ ปรากฎว่าแพทย์ศัลยกรรมเป็นสาขาที่ขาดแคลนมากที่สุด ขณะที่กุมารแพทย์ และสูตินรีแพทย์เริ่มเพียงพอแล้ว เพราะอัตราเด็กเกิดใหม่ลดลง โดยข้อมูลเหล่านี้เพื่อให้ทางแพทยสภาผลิตแพทย์ในสาขาขาดแคลนให้เพียงพอ ลดปัญหาขาดแคลนแพทย์ แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้” นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ปัญหากำลังคนสุขภาพ และคำถามถึง ‘อนาคตรพ.สังกัดสธ.’
- 7137 views