ป.ป.ส. ร่วมศูนย์พิษวิทยารามาฯ เผยข้อมูลหลังปลดล็อกกัญชา ออกจากยาเสพติด พบการใช้เพิ่มขึ้น หนำซ้ำสารเสพติด THC  สูงขึ้นทุกปี ล่าสุดปี 2020 มีฤทธิ์เข้มข้นถึง 20% เพิ่มขึ้น 5 เท่าจากอดีต เปิดข้อมูลผลกระทบกัญชา ทำร้ายตัวเองเพิ่ม2.5 เท่า วัยเรียนเสพติด 17% เสพติดกัญชา เสี่ยงภาวะนกเขาไม่ขัน ยังเจอกลุ่มอาการเรื้อรังคลื่นไส้อาเจียนรุนแรง เสี่ยงเสียชีวิต

 

ปัจจุบัน กัญชา ไม่ถูกควบคุมเป็นยาเสพติด

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม รศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ ศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลตอนหนึ่งเกี่ยวกับโทษของกัญชาผ่านเฟซบุกไลฟ์ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.)   ว่า ปัจจุบันกัญชา ไม่ได้ถูกควบคุมเป็นยาเสพติด แต่การจะนำมาจำหน่ายผ่านรูปแบบอาหาร เครื่องอื่ม ก็ต้องขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ซึ่งกัญชามีสาร THC และ CBD  โดยสาร THC จะมีฤทธิ์เมาเคลิม ประสาทหลอน ใช้แก้อาเจียน ฯลฯ ได้ ซึ่งสาร THC ทำให้เสพติดได้  แต่สาร CBD ต้านฤทธิ์เมาประสาทหลอนได้ ใช้ลดปวดได้บ้าง ทำให้สงบลดอาการวุ่นวาย ไม่มีฤทธิ์เสพติด ซึ่งตรงข้าม THC

อย่างไรก็ตาม การใช้เป็นยาต้องพิจารณาสัดส่วนและความเหมาะสม  เพราะอย่าง CBD มีฤทธิ์กระตุ้นอาการคลื่นไส้ อาเจียน หากนำไปใช้ในกลุ่มคนที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการรับเคมี ก็จะยิ่งได้รับผลกระทบหนักขึ้น จึงต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับกลุ่มโรค

ชี้ THC สารเสพติดในกัญชา ถูกทำให้เข้มข้นขึ้นทุกปี  

รศ.นพ.สหภูมิ กล่าวอีกว่า ข้อมูลในปี 1995 ความเข้มข้นของ THC อยู่ที่ 4% เฉลี่ยในตลาดสหรัฐ ปี 2014 ขึ้นมา 12% หรือ 3 เท่า และปี 2020 อยู่ถึง 20% ขึ้นมาถึง 5 เท่า ที่น่าสังเกตคือ  มีผู้ที่มักพยายามบอกว่า การสูบกัญชาไม่ได้เมาขนาดนั้น ก็ต้องย้อนถามว่า สูบปีอะไร และเด็กรุ่นนี้สูบปีอะไร ความเข้มข้นแตกต่างกัน ซึ่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เด็กสูบกัญชาพบว่า หัวเราะ ลงไปดิ้นกับพื้น ควบคุมตัวเองไม่ได้ เนื่องจากความเข้มข้นของ THC เพิ่มขึ้น 5 เท่า ทำให้หลอน เมา และเสพติดมากขึ้น อย่างในข่าว ที่มีการลงไปตรวจสอบตามร้านขายกัญชาจะเห็นภาพความเข้มข้นสูงถึง 18-22% ซึ่งสูงมาก

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องกัญชาที่นำไปใช้ในส่วน CBD มากขึ้น แต่เมื่อกลุ่มที่ต้องการใช้นันทนาการจะเน้น THC เมื่อปลูกเพื่อให้ได้สาร THC มาก ขณะเดียวกันสาร CBD จะน้อยลง ซึ่งที่ผ่านมามีการพัฒนาเป็นยาด้วยสาร CBD อย่างขององค์การเภสัชกรรม มีการพัฒนาและผลิตออกมาเพื่อเป็นการรักษาเสริมเพิ่มเติม ไม่ใช่การรักษาหลัก  โดยที่ผ่านมากรมการแพทย์ ออกข้อบ่งชี้ 6 ข้อ สำหรับการรักษาเสริม เมื่อการรักษาปกติไม่ได้ผลเท่านั้น ไม่ใช่ยาเริ่มต้น ประกอบด้วย  1.อาการคลื่นไส้อาเจียน จากการรับยาเคมีบำบัด 2.อาการเบื่ออาหารในผู้ป่วยเอดส์ที่น้ำหนักตัวน้อย  3.อาการปวดประสาท 4.กล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคเอ็มเอส 5.โรคลมชักที่ดื้อยา และ6. การเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง หรือระยะสุดท้ายของชีวิต

ไทยเริ่มเห็นกลุ่มอาการเรื้อรังจากกัญชา มีภาวะคลื่นไส้อาเจียนรุนแรง

รศ.นพ.สหภูมิ  กล่าวถึงอาการพิษจากกัญชา ว่า  อาการที่พบแรก คือ ปากคอแห้ง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง แต่หากใช้นันทนาการ จะมีปัญหาทำให้ความสามารถในการตัดสินใจลดลง ประสาทหลอน สับสน กระวนกระวาย  อย่างมีข่าวคนที่พี้กัญชา แล้วประสาทหลอน ทำร้ายตนเองและคนอื่น นอกจากนี้ ยังมีอาการมึนศีรษะ ง่วงซึม กล้ามเนื้อเกร็ง ชัก ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง เพิ่มความเสี่ยงหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดสมองตีบ

นอกจากนี้ ยังมีอีกกลุ่มที่เรียกว่า Cannabinoid hyperemesis syndrome เป็นกลุ่มที่ใช้ปริมาณมากเรื้อรังทำให้เกิดภาวะคลื่นไส้อาเจียนรุนแรง จนเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น หลอดอาหารฉีกขาด ขาดน้ำและเกลือแร่ผิดปกติรุนแรง ไตวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นยาว 2-3 สัปดาห์ และเมื่อกินอะไรไม่ได้เลยไม่ต้องรอถึงสัปดาห์ก็เสียชีวิตได้ ดังนั้น หากเริ่มมีอาการต้องรีบพบแพทย์ และแจ้งแพทย์ว่า ใช้กัญชาด้วย สิ่งสำคัญต้องหยุดใช้กัญชาก่อน ซึ่งเจอภาวะนี้เพิ่มขึ้นในประเทศไทย

ผลกระทบระยะยาวจากกัญชา วัยเรียนเสพติด 17%

“ผลกระทบจากการใช้กัญชาไม่เหมาะสมระยะยาว พบว่า โรคทางจิต เพิ่มขึ้น 3.9 เท่า การลงมือฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า การติดกัญชา 10% ถ้าเป็นวัยเรียนพบถึง 17%  ในบางประเทศกำหนดไม่ให้ใช้กัญชาอายุ 18 ปี บางประเทศกำหนดถึง 25 ปี เพราะเห็นว่า มีส่วนกระทบต่อการเรียนรู้ ความจำ เรื่องของสมอง เพราะเมื่อสแกนสมองพบว่า ผู้เสพกัญชายังสมองฝ่อ” รศ.นพ.สหภูมิ   กล่าว

เสพติดกัญชา เสี่ยงภาวะนกเขาไม่ขัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการติดตามคนที่หยุดใช้ พบว่าเริ่มดีขึ้น แต่การคิดอย่างมีเหตุผลยังไม่กลับคืน ดังนั้น เรื่องนี้สำคัญ หากความคิดที่มีเหตุมีผลใช้ไม่ได้ เด็กที่จะเป็นอนาคตของชาติจะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ เรายังพบปัญหาถุงลมโป่งพอง เส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดหัวใจตีบเพิ่มขึ้น 5 เท่า การเกิดลิ่มเลือดอุดกั้นในหลอดเลือดดำ ทำให้ขาบวม ขาอักเสบ บางส่วนเกิดลิ่มเลือดอุดกันในปอด และระยะยาวยังพบว่า เกิดภาวะนกเขาไม่ขันได้ด้วย  

ยกตัวอย่างกรณีผู้ป่วยชาย 16 ปี มีประวัติเสพกัญา ร่วมกับยาแก้ไอ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยานอนหลับ และยาความดันไม่ทราบชนิด ญาติพบหมดสติ เรียกรถพยาบาลมารับ เมื่อไปรพ. ต้องให้ยากันชัก เพราะมีอาการชักเกร็งกระตุก คนนี้ต้องใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ 12 วัน นอกจากนี้ ยังมีการนำกัญชาไปผสมในขนม ซึ่งเมื่อกินเข้าไปก็รับพิษทำให้หลอน เพราะอย่าลืมว่า ปัจจุบันความเข้มข้น THC สูงขึ้นมาก อย่างข้อมูลที่ผ่านมาเด็กเข้าถึงกัญชามากขึ้น ไม่ใช่แค่ไทย ในต่างประเทศเช่นกัน  นี่คืออนาคตของชาติที่ได้รับผลกระทบแล้ว เรายังอยากให้เกิดขึ้นแบบนี้อีกหรือ

“หากประเทศไทยจะใช้กัญชาทางการแพทย์และสุขภาพอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องทำรูปแบบเป็นขนมให้เข้าใจผิด อย่างที่ผ่านมายังมีกัญชาผสมในบราวนี่เพื่อไปหลอกคนก็มี” รศ.นพ.สหภูมิ   กล่าว

 

เปิดข้อมูลผู้รับผลจากกัญชาเข้าปรึกษาศูนย์พิษรามาฯ เพิ่มขึ้น 

รศ.นพ.สหภูมิ กล่าวถึงข้อมูลผู้ได้รับพิษกัญชาที่ปรึกษามายังศูนย์พิษวิทยาฯ ว่า ในปี 2561 กัญชายังเป็นยาเสพติด มีคนมาปรึกษา 64 คน  กระทั่งปี 2562 มาปรึกษา 475 คน ซึ่งในช่วงปี2562 เมื่อประกาศกัญชาใช้ทางการแพทย์เท่านั้น กลับพบว่ามีการใช้น้ำมันกัญชาใต้ดิน 81.3% สูบกัญชา 9.5%  โดยใช้เดี่ยวๆ ขณะที่ใช้ร่วมกับสารอื่นมีเพียง 9.4%  ส่วนใหญ่คนใช้ไม่ตรงตามข้อบ่งชี้ และบางส่วนเสียโอกาสการรักษาตามปกติ เช่น ผู้ป่วยมะเร็งหนีไม่รักษาแพทย์แผนปัจจุบัน จนกระทั่งโรคลุกลาม  ขณะที่ครึ่งปีหลัง 2562 มีคลินิกกัญชา มีการให้ข้อมูลก็ลดลง แต่ไม่กลับเข้าภาวะเดิม ยิ่งในปี 2563 มีผู้เข้ามาปรึกษา 253 คน ลดลงจริง แต่ก็ไม่เหมือนเดิมเช่นกัน อีกทั้ง ในปี 2564 เข้ามาปรึกษาเพิ่มถึง 348 คน   และในปี 2565 เพิ่มกว่า 500 คน

“ในปี 2565 พบว่า 29.2% ใช้ร่วมกับสารอื่นหรือใช้แบบคอมโบ และสูบกัญชาอย่างเดียว 46.8% ใส่อาหารและขนม 29.5%  ใส่เครื่องดื่มอีก 10.6% ส่วนน้ำมันกัญชาใช้ 10.8% เห็นได้ว่า น้ำมันกัญชาที่ทางการกำหนดใช้ทางการแพทย์กลับไม่ได้ใช้เยอะ กลายเป็นใช้อย่างอื่นมากขึ้น ตอนนี้การใช้กัญชาเพิ่มเกือบ 10 เท่าแล้ว ดังนั้น การจะใช้กัญชาทางการแพทย์ ขอให้ปรึกษาคลินิกกัญชาเท่านั้นจะปลอดภัยที่สุด” รศ.นพ.สหภูมิ กล่าว