ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายลูกจ้างหนุนปรับค่าแรง 400 บาท ส่วนภาคอุตสาหกรรม ตบเท้ายื่นหนังสือคัดค้านขึ้นค่าจ้างทั่วประเทศ ชี้ขึ้นค่าจ้างทุกจังหวัดจะกระทบหลายกิจการ

 

 

กลุ่มสมาพันธ์สมานฉันท์ฯ หนุนปรับค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศ

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 13 พ.ค. ที่หน้าอาคาร 15 ชั้น กระทรวงแรงงาน กลุ่มสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สสรท. เข้ายื่นหนังสือกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน สนับสนุนให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ โดยนำสินค้า อาหาร และพืชผักที่ใช้ในชีวิตประจำวันติดป้ายราคามากองไว้พร้อมประกาศว่า ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นทั่วประเทศค่าจ้างจึงต้องปรับอัตราเดียวกันทั้งประเทศ ขอให้กำลังใจนายพิพัฒน์ ที่จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท แม้จะไม่ถึง 492 บาทตามที่ สสรท.เคยเรียกร้องแต่ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี ถือว่านายพิพัฒน์ เดินมาถูกทางแล้วขอให้กำลังใจให้ทำให้สำเร็จ โดยนายพิพัฒน์ได้ยืนยันจะทำตามที่ประกาศไว้ด้วยการใช้สากกะเบือตำลงในครกที่มีข้อความ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ที่กลุ่ม สสรท. จัดเตรียมมา เรียกเสียงเฮลั่น พร้อมทั้งเซ็นชื่อกำกับลงบนครก เพื่อการันตีว่าจะเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ยืนยันถึงเจตนารมย์ในการปรับค่าจ้าง 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศแต่ต้องเข้าใจว่ามันจะปรับค่าแรง 400 ทั่วประเทศไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ตามที่คิดและตั้งใจทั้งหมดแต่ก็จะเดินหน้าไปพร้อมกันตนและปลัดกระทรวงข้าราชการจะสู้เพื่อชาวแรงงานอย่างเต็มที่ เพราะมีการปรับค่าจ้าง 300 บาทตั้งแต่ปี 2554 ผ่านมากกว่า 10 ปีวันนี้ค่าจ้างยังก้าวไปไม่ถึง 400 บาท นายกรัฐมนตรีไม่ให้กระทรวงแรงงานไปพิจารณากับค่าจ้างซึ่งได้มีการหารือกันแล้วคิดว่าถึงเวลาที่ต้องปรับ 400 บาท เพื่อเป็นก้าวแรกก่อนที่จะมีการปรับค่าจ้างในอัตรา 600 บาทในปี 2570 โดยกระทรวงพาณิชย์จะต้องช่วยควบคุมราคาสินค้าไม่ให้สูงขึ้นเมื่อมีการปรับค่าจ้าง ส่วนกระทรวงแรงงานจะหารือสภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯและ sme เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือในด้านต่างๆ อาทิ ด้านภาษี และการอัพสกิล รีสกิล ให้กลุ่มลูกจ้าง โดยยืนยันจะทำให้เร็วที่สุดตามที่ได้รับมอบหมาย

ภาคอุตฯค้านการขึ้นค่าจ้างขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ

 

จากนั้นเวลา 10.00 น. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ สภาหอการค้าไทย และกลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดเล็กและขนาดย่อม (SME) เข้ายื่นหนังสือถึงนายพิพัฒน์เพื่อแสดงจุดยืนในการคัดค้านการขึ้นค่าจ้างขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ จากนั้นทั้งนายพิพัฒน์ และกลุ่มผู้ประกอบการได้เข้าไปหารือกันในห้องประชุม โดยนายพิพัฒน์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก และครั้งสุดท้ายที่จะได้มีการคุยกัน แต่ยังต้องหารือร่วมกันอีกหลายครั้งกว่าจะถึงวันที่ 1 ต.ค. ตามที่มีการประกาศว่าจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท อย่างไรก็ตาม ตนจะนำข้อเสนอ ข้อห้วงใยไปหารือกับนายกรัฐมนตรี 

 

ต่อมาเมื่อเวลา 12.30 น. นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์หลังการหารือว่า จากการหารือ ผู้แทนแต่ละท่านเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท แต่ไม่เห็นด้วยให้ขึ้นทั้งประเทศพร้อมกัน เพราะบางกิจการจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจนทำให้ธุรกิจมีปัญหาได้ อย่างเอสเอ็มอี ร้านขายของชำต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ หรือไตรภาคี ในวันที่ 14 พ.ค.นี้ โดยจะโฟกัสเป็นบางประเภทกิจการ และจะให้ทางอนุกรรมการจังหวัดไปพิจารณากรอบแนวทางการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดเพื่อนำเข้าสู่คณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อพิจารณาต่อไป จากมติดังกล่าวตนฟังแล้วก็ดีใจแทนลูกจ้าง ทั้งนี้ ขอย้ำว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งที่ 3 ในวันที่ 1 ต.ค.2567 แน่นอน ต้องมาโฟกัสบางกินการต่อไป

ชี้ขึ้นค่าจ้างทุกจังหวัดจะกระทบหลายกิจการ

 

ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ สภาหอการค้า กล่าวว่า เรายินดีที่ให้รัฐบาลยกระดับรายได้แรงงาน แต่ขอให้ฟังหลายๆ ฝ่าย เพราะถ้าขึ้น 400 บาท ทั้งประเทศจะกระทบกับหลายกิจการ เช่น ตลาดสด เอสเอ็มอี แรงงานภาคเกษตร ซึ่งใช้แรงงานเป็น 10 ล้านคน ควรให้เวลาเขาปรับตัว ใครพร้อมก็ค่อยๆ ปรับ และวันนี้ ที่คุยกับปลัดกระทรวแรงงาน ก็ยังต้องคุยกันอีกหลายครั้ง  ซึ่งหากถามผู้ประกอบการหากขึ้น 400 บาท ทั้งประเทศ กว่า 80% จะอยู่ไม่ได้ คนที่กระทบหนักจริงคือชาวบ้าน พ่อค้า แม่ค้า ก่อสร้าง ค้าปลีก ค้าส่ง เป็นต้น นี่เป็นครั้งแรกที่หอการค้าทั้ง 76 จังหวัด สมาคมการค้า 92 สมาคม เป็นเจ้าของโรงงาน และผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 1.5 แห่งยื่นค้านพร้อมกัน เราขอให้ปรับยกระดับรายได้ตามกรรมการไตรภาคี และอนุฯ จังหวัด หากเห็นพ้องต้องกันตามสภาพแต่ละจังหวัด เราพร้อมสนับสนุน แต่ก็ต้องเห็นใจผู้ประกอบการายย่อยด้วย

นายสุชาติ จันทรานคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้เรากำลังมีปัญหาเรื่องการส่งออก จากที่พยากรณ์อยู่จะอยู่ที่ 2-3% ตอนนี้เหลือแค่ 1.5% ที่สำคัญคือเรื่องอัตราเงินเฟ้อ เคยพยากรณ์ว่าจะอยู่ที่ 0.7-1 % ซึ่งตอนนี้ที่เกิดขึ้นจริงคือ  0.7% และยังประมาณการณ์ว่าจะเหลือ 0.5-1% และเมื่อพิจารณาดัชนีทางเศรษฐกิจ ก็มีข้อถกเถียงกันก่อนหน้านี้ ซึ่งมีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ มาที่ 330 บาท หรือขึ้นมามา 21% และขึ้นมาจาก 370 บาทอีก คิดเป็นการเพิ่มค่าจ้างฯ 8.1%  และถ้าเพิ่มจากยอดที่ต่ำสุดขณะนี้มาเป็น 400 บาท เท่ากับว่า ขึ้นมากว่า 40% คำถามคือ ตอนนี้ ความสามารถของเราตอนนี้ก็ถือว่าย่ำแย่ อะไรต่างๆ ถาโถมขึ้นมา ผู้ประกอบการจะรองรับอัตาค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นกว่า 40% ได้อย่างไร

 “ถ้าขึ้นมาเป็น 400 บาท แล้วรัฐบาลจะช่วยเหลือเราอย่างไร มาตรการต่างๆ ที่ออกมา เช่น การลดภาษี การอัพสกิล รีสกิล แรงงาน ก็ถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลทำอยู่แล้ว อย่างเรื่องลดภาษี ผมก็ยังสงสัยว่า จะเอาที่ไหนไปลด เพราะเมื่อขึ้นค่าจ้างมากขนาดนั้น ต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น กิจการขาดทุน ไม่มีเงินที่จะไปลดภาษีได้อยู่แล้ว ดังนั้นไม่ต้องมาบอกว่าจะช่วยด้วยการลดภาษี มันไม่มีประโยชน์” นายสุชาติ กล่าว

ทั้งนี้  เห็นด้วยในการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ในปีนี้ปรากฎว่ามีการปรับค่าจ้างแล้วครั้งแรกในวันที่ 1 ม.ค.2567 ครั้งที่ 2 ปรับวันที่ 13 เม.ย. ผ่านมา แล้วจะมาปรับอีกเป็นครั้งที่ 3 ในเดือนต.ค. ซึ่งตนคิดว่า เป็นการปรับค่าจ้างที่ไม่สมเหตุผล ตามดัชนีชี้วัด แต่เราก็ให้ความร่วมมือ ในการหารือว่าจะทำอย่างไรใหมีการปรับค่าจ้างมีความเป็นธรรมทั้งต่อฝ่ายลูกจ้าง และนายจ้าง ต้องอยู่ได้ทั้ง 2 ฝ่าย ถ้าผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้ ลูกจ้างก็อยู่ไม่ได้ นายจ้างจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายให้ลูกจ้าง ถ้าผู้ประกอบการล้มหายตายจากไปก่อน