สะเทือนวงการแพทยศาสตร์ศึกษาระดับโลก พบรับทุนธุรกิจบุหรี่ ชี้ให้ทุนกว่า 110 ล้าน หนุนคอร์สการเรียนสำหรับแพทย์ แต่แฝงโปรโมทบุหรี่ไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2567  พญ.นภารัตน์ อมรพุฒิสถาพร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยข้อมูลจากวารสารการแพทย์ BMJ และ the Examination ที่เผยถึงกรณีบริษัทบุหรี่ เข้ามาในวงการแพทยศาสตร์ศึกษาโดยให้ทุนสนับสนุนหลักสูตรการเรียนสำหรับแพทย์เพื่อเก็บแต้มการศึกษาต่อเนื่องของแพทย์ หรือ CME (Continuing Medical Education) เพื่อใช้เป็นเครดิตในการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ใน Medscape ซึ่งเป็นฐานข้อมูลทางการแพทย์ที่ใหญ่ของโลก เป็นจำนวนเงินสูงถึง 3 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 110 ล้านบาท หลักสูตรดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ไปแล้วในช่วงเดือน ก.พ.- มี.ค. 2567 รวม 5 หลักสูตร

วงการแพทย์ไม่ควรรับทุนบริษัทบุหรี่

พญ.นภารัตน์ กล่าวต่อว่า บริษัทบุหรี่มีแผนจะสนับสนุนให้ Medscape จัดทำหลักสูตรการเรียนออนไลน์รวมทั้งหมด 13 หลักสูตร และสื่อช่องทางอื่น ๆ เช่น พอดแคสต์ เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นแพทย์และบุคลากรการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิก Medscape มากถึง 2.8 ล้านคนทั่วโลก โดยตั้งเป้าว่าจะมีแพทย์อย่างน้อย 65,000 คน รวมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด 8,000 คนเข้ามาเรียนหลักสูตรนี้ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับนิโคติน และการลดอันตรายจากยาสูบ แต่แอบแฝงไปด้วยเนื้อหาที่ส่อไปในทางบิดเบือน พยายามโปรโมทบุหรี่ไฟฟ้า โดยพยายามสร้างภาพว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ลดอันตราย ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์การตลาดของบริษัทบุหรี่ เช่น คำแนะนำที่ปรากฏในหลักสูตรการเรียนหนึ่งแนะนำให้คนสูบบุหรี่ที่ต้องการลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งปอด เปลี่ยนไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า แทนที่จะแนะนำวิธีที่ถูกต้องตามหลักการแพทย์คือ “ให้เลิกบุหรี่ทุกประเภท”

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่การให้ทุนนี้ถูกตีแผ่โดย BMJ และ the Examination ทาง Medscape ก็ได้ยกเลิกหลักสูตรการเรียนทั้งหมด และประกาศว่าจะไม่รับการสนับสนุนใด ๆ จากบริษัทบุหรี่อีก

“การที่วงการแพทย์ศาสตร์ศึกษายอมรับทุนสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่ เป็นสิ่งไม่เคยเกิดมาก่อน และเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ๆ เพราะชัดเจนว่าขณะนี้บริษัทบุหรี่พยายามทำทุกทางเพื่อโปรโมทบุหรี่ไฟฟ้า โดยหวังว่าจะใช้ความน่าเชื่อถือของแพทย์ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสิ่งที่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทยต้องตระหนักรู้แผนลักษณะนี้ และสร้างให้เป็นบรรทัดฐานทางสังคมว่าวงการแพทย์ต้องไม่รับการสนับสนุนใด ๆ จากบริษัทบุหรี่ อีกทั้ง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มาตรา 35 ยังห้ามบริษัทบุหรี่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ทุนสนับสนุนบุคคลหรือองค์กรด้วย” พญ.นภารัตน์ กล่าว

อันตรายบุหรี่ไฟฟ้า ไม่แตกต่างบุหรี่ธรรมดา

ด้าน ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแอบแฝงสนับสนุนหลักสูตรการเรียนออนไลน์สำหรับแพทย์ของบริษัทบุหรี่นี้เป็นกลยุทธ์ระดับโลก เพราะไม่ใช่แค่ Medscape เท่านั้นแต่บริษัทบุหรี่ยังสนับสนุนหลักสูตรการเรียนและการสัมมนาโดยเฉพาะเรื่องการลดอันตรายจากยาสูบ (harm reduction) ในอีกหลายประเทศ ซึ่งบริษัทบุหรี่มักจะใช้วาทกรรม “ลดอันตราย” เพื่อสนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลยุทธ์การตลาดอันหนึ่ง และมักจะนำวาทกรรมนี้มาใช้ล็อบบี้ทางการเมืองเพื่อให้รัฐบาลสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าด้วย แต่ล่าสุดมีงานวิจัยออกมายืนยันแล้วว่า บุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ลดอันตรายตามที่บริษัทบุหรี่อ้าง เพราะอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าไม่แตกต่างจากบุหรี่ธรรมดา และหากมองในแง่การเสพติด บุหรี่ไฟฟ้ามีฤทธิ์เสพติดสูงกว่า ยิ่งไปกว่านั้นการที่เด็กเล็กระดับประถมศึกษาเข้ามาเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าแบบนี้ มันต้องเรียกว่า “เพิ่มอันตราย” ไม่ใช่ “ลดอันตราย” ตามคำลวงบริษัทบุหรี่

อ้างอิง

Medscape severs ties with tobacco industry after backlash over $3M Philip Morris International deal: https://www.theexamination.org/articles/medscape-severs-ties-with-tobacco-industry-after-backlash-over-3m-philip-morris-international-deal