ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เป็นเวลาเกือบ 2 ปีที่กรมสุขภาพจิต ผลักดัน “ยาฉีดจิตเวช” สำหรับผู้ป่วยที่มีแนวโน้มก่อความรุนแรงต่อสังคม เพื่อเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์รักษาฟรี!  แม้เป็นกลุ่มยาราคาแพง แต่เป็นอีกหนทางสำหรับคนไข้ขาดยา ไม่ทานยาต่อเนื่อง เสี่ยงผลกระทบต่อครอบครัว สังคม

 

ตามที่มีการประชุมร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิต และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา โดยเป็นการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพ สอดรับและตอบสนองต่อความต้องการบริการของประชาชน ซึ่งหนึ่งในการหารือมีประเด็นการรักษาผู้ป่วยจิตเวช  โดยเห็นชอบเดินหน้ายาฉีดจิตเวช สำหรับผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงก่อความรุนแรงต่อสังคม (SMI-V) ซึ่งเป็นยาฉีดออกฤทธิ์ยาวคุณภาพสูง

โดยนพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลถึงความจำเป็นในการรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่มีแนวโน้มก่อความรุนแรง ว่า  ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตกำเริบ ส่วนใหญ่เป็นสาเหตุจากการขาดการกินยาต่อเนื่อง ซึ่งสามารถยับยั้งได้ หากได้รับการสนับสนุนผลักดันการนำยาฉีดชนิดออกฤทธิ์ยาวคุณภาพสูง เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ จะเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ยอมกินยา เพราะยาฉีดชนิดออกฤทธิ์ยาว ฉีดเพียงครั้งเดียวออกฤทธิ์ได้ 1 เดือน

นพ.พงศ์เกษม กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ได้มีการผลักดันกันมานาน ซึ่งจากการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิต และสปสช.  มีมติร่วมกันให้ดำเนินการผลักดันการใช้ยาฉีดจิตเวช สำหรับผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงก่อความรุนแรงต่อสังคม (SMI-V) โดยในระยะแรกมีงบประมาณจาก สปสช. จำนวน 32 ล้านบาท เพื่อใช้ในการซื้อยา และกรมสุขภาพจิตสมทบอีก 7 แสนบาท เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูล และกำกับ ติดตาม ผลการดำเนินงาน โดยขั้นตอนหลังจากนี้ต้องรอเข้าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) ต่อไป

ความจำเป็นของการใช้ยาฉีดจิตเวช

ผู้สื่อข่าวรายงานเกี่ยวกับ ยาฉีดจิตเวช สำหรับผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงก่อความรุนแรงต่อสังคม (SMI-V)  เป็นยาที่มีชื่อสามัญ ว่า    Aripiprazole  เพราะอะไรทำไมกรมสุขภาพจิตต้องผลักดันเรื่องนี้ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา กรมฯ มีการติดตามข้อมูลและพบว่า ผู้ป่วยจิตเวชอาการกำเริบจากการขาดยา ทานยาไม่ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าตัวเอง หรือญาติผู้ดูแล หลายครอบครัวอยู่อาศัยกับผู้สูงอายุ การจะถูกเตือนให้ทานยา หรือเชื่อตามนั้นค่อนข้างยาก  ทำให้เกิดข้อกังวลถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ตัวผู้ป่วย แต่ยังรวมถึงครอบครัว และสังคม

นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ Hfocus อธิบายถึงการผลักดันยาจิตเวชชนิดฉีดฯ เพื่อผู้ป่วย เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า  กรมสุขภาพจิต นำเสนอความสำคัญของการใช้ยาดังกลาวมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี  ผ่านกระบวนการขั้นตอนต่างๆ โดยผ่านการพิจารณาของคณะทำงานพิจารณาสิทธิประโยชน์ใหม่  ซึ่งที่ผ่านมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขณะดำรงตำแหน่งได้ให้นโยบายว่า ต้องรีบดำเนินการ กระทั่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ได้นำเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ คณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข ของ สปสช. ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ มีคำถามถึงกรมสุขภาพจิตหลักๆ 2 เรื่อง คือ 1.เหตุใดจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการเสนอเรื่องนี้ และ2.ความจำเป็นในการใช้ มีข้อมูลหลักฐานเชิงวิชาการเป็นอย่างไร  โดยทางกรมฯ ได้เสนอข้อมูลในวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ให้เหตุผลดังนี้ 1.ความจำเป็น เนื่องจากข้อมูลผู้ป่วยที่เข้าข่ายต้องใช้ยาดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และปีที่ผ่านมาพุ่งถึง 2 เท่าตัวในคนไข้ที่ขาดยาและก่อความรุนแรง และ2.ส่วนหลักฐานเชิงวิชาการ พบว่ายาฉีดชนิดออกฤทธิ์นานรุ่นที่ 2 ได้ผลดีกับผู้ป่วย ทั้งทำให้ผู้ป่วยขาดยาน้อยลง และนอนรักษาในรพ.จากอาการกำเริบน้อยลง รวมถึงผลข้างเคียงน้อยกว่ายากิน อีกทั้ง ออกฤทธิ์นาน ฉีดเพียงครั้งเดียวออกฤทธิ์ได้ 1 เดือน

“ทางคณะอนุกรรมการฯ รับทราบและเข้าใจ พร้อมทั้งรับปากว่า จะนำเรื่องนี้เข้าสู่บอร์ดสปสช.ชุดใหญ่ เพื่อให้รับทราบการของบประมาณใช้ในปีนี้ ซึ่งในปี 2567 เหลืออีก 5 เดือนใช้งบ 30 กว่าล้านบาท เรื่องนี้สำคัญมาก จะช่วยแก้ปัญหาคนไข้ที่ไม่ทานยา หรือขาดยาได้” นพ.ธิติ กล่าว

ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยา 1.2-1.4 หมื่น แต่ระยะยาวคาด 1,300 ราย

รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันผู้ป่วยจิตเวชที่ต้องใช้ยาชนิดฉีด จากข้อมูลพบว่า มีประมาณ 12,000-14,000 ราย แต่ความจำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้ระยะแรก ประมาณการณ์อยู่ที่ 1,300 รายที่ต้องใช้ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ขาดยาบ่อย และอาการกำเริบจนควบคุมตนเองไม่ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับปีนี้เหลือไม่กี่เดือน ตัวเลขอาจน้อย แต่จริงๆ ทางกรมสุขภาพจิตได้ทำเรื่องเสนอของบฯ รวม 2 ปี รวมปี 2568 อีก 80 ล้านบาท โดยรวมทั้งหมดทั้งโครงการ 110 ล้านบาท

สำหรับงบประมาณในการจัดซื้อยากลุ่มนี้ นพ.ธิติ กล่าวว่า มีการประเมินอยู่ที่ 80-100 ล้านบาท แต่ขึ้นกับจำนวนผู้ป่วยที่เข้าข่ายว่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง เพียงแต่ขณะนี้ตัวเลขเพิ่มขึ้น แต่ความจำเป็นจะอยู่ประมาณนี้

นพ.ธิติ กล่าวว่า ทางกรมสุขภาพจิตมีการวางแผนการใช้ยา โดยครั้งแรกจำเป็นต้องพบจิตแพทย์ก่อน เพื่อประเมินว่าต้องใช้จริงหรือไม่ และใช้อย่างไร จะมีข้อบ่งชี้ ซึ่งจะนำไปให้ตามจุดบริการที่ใกล้กับผู้ป่วย อำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย หรือญาติที่จะพาผู้ป่วยมารับบริการ หรืออาจส่งทีมไปบริการให้ถึงบ้าน ก็ต้องพิจารณาตามปัจจัยความจำเป็น อย่างไรก็ตาม การที่ครอบครัวพาผู้ป่วยมา รพ. หรือจุดบริการรับยาฉีดเพียงเดือนละ 1 ครั้ง ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับยารับประทานที่ต้องมารับยาต่อเนื่อง หรือต้องคอยดูแลผู้ป่วยให้ทานยาทุกวัน

“ช่วงแรกๆ ต้องประเมินกับจิตแพทย์เป็นระยะ แต่อย่างไรก็ตาม การให้ยาฉีดถือว่าจะช่วยป้องกันการลืม เนื่องจากไม่ต้องกินยาทุกวัน ดังนั้น กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นประโยชน์กับผู้ป่วย ทำให้ลดความเสี่ยงอาการกำเริบ และลดแนวโน้มก่อความรุนแรงได้” นพ.ธิติ กล่าว

เมื่อถามถึงข้อกังวลเรื่องยาฉีดจิตเวชที่เดิมมีคนกังวลผลข้างเคียงตาแข็ง น้ำลายไหล คล้ายซอมบี้ นพ.ธิติ กล่าวทิ้งท้ายว่า กรณีนี้เป็นยารุ่นเก่า แต่ตัวนี้เป็นรุ่นใหม่ ซึ่งการเกิดผลข้างเคียงมีได้ เพียงแต่รุ่นใหม่จะลดน้อยลง ก็ไม่แตกต่างจากยาชนิดอื่นๆ แม้แต่ยามะเร็งก็เช่นกัน

จึงนับเป็นอีกความหวังของผู้ป่วยจิตเวชที่มีแนวโน้มก่อความรุนแรงได้ ที่สำคัญขาดยา ไม่ทานยาต่อเนื่อง ซึ่งเดิมยาฉีดจิตเวชจะมีราคาหมื่นกว่าบาท แต่จากการต่อรองเจรจาเหลืออยู่ประมาณ 5,000 บาท จึงเป็นสัญญาณที่ดีของผู้ป่วย และสังคมจะที่ลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะอาการกำเริบและก่อความรุนแรงเหมือนในข่าวที่ผ่านมา