อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยกรณีลิ่มเลือดอุดตันจากวัคซีนแอสตร้าฯ เกิดขึ้นจริง แต่หลังฉีด 5-42 วันเท่านั้น ไทยฉีดกว่า 20 ล้านคน ฉีดเข็มสุดท้าย มี.ค.2566 มีรายงาน 23 ราย แต่เข้าข่ายจริง 7 ราย เสียชีวิต 2 ราย ส่วนแผนฉีดวัคซีนของไทยอิงตามองค์การอนามัยโลก ปัจจุบันไม่ได้จัดสรรให้ฟรี ต้องรอผลักดันเข้าชุดสิทธิประโยชน์
เมื่อวันที่ 2 พ.ค. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีผลข้างเคียงหลังรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดไวรัลเวคเตอร์ ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ที่พบภาวะลิ่มเลือดอุดตัน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต ว่า เรื่องของผลข้างเคียงจากวัคซีนแอสตร้าฯ เป็นสิ่งที่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยรับทราบมาก่อนอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาเรามี คณะกรรมการที่พิจารณาเรื่องของการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มที่เหมาะสมอยู่
อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปในช่วงที่มีการนำวัคซีนเข้ามาใช้ วัคซีนทุกชนิดที่ถูกนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยเป็นแบบ การใช้ในภาวะฉุกเฉิน (Emergency Use) เพื่อยับยั้งการระบาดของโรค ซึ่งวัคซีนตัวแรกที่ใช้คือ วัคซีนเชื้อตายของซิโนแวก ขณะที่ ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรปไม่ยอมรับวัคซีนดังกล่าว จะอนุญาตให้เฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ เท่านั้นที่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ ส่วนวัคซีน mRNA ก็ยังไม่ได้มีการผลิตออกมาใช้
ภาวะลิ่มเลือดจากวัคซีนโควิดแอสตร้าฯ เกิดขึ้น 5-42 วันหลังฉีด
"ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ทั้งหมด 48 ล้านโดส โดย 1 คน ฉีด 2 โดส ดังนั้นมีผู้รับวัคซีนประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งเข็มสุดท้ายที่ฉีดคือเมื่อเดือนมี.ค.2566 ขณะที่ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ จะเกิดขึ้นหลังการรับวัคซีน 5-42 วัน เท่านั้น หากภาวะลิ่มเลือดอุดตันเกิดขึ้นหลังจากนั้น ไม่น่าจะใช่อาการที่เกิดจากวัคซีน จึงขอให้ประชาชนที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ อย่ากังวล ซึ่งภาวะดังกล่าวหลังการฉีดวัคซีนนั้นเกิดขึ้นได้ทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทย ก็มีรายงานผู้เกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังการรับวัคซีนแอสตร้าฯ 23 ราย แต่คณะอนุกรรมการพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลักการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 พิจารณาแล้ว พบว่ามีผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันที่เข้าข่ายอาจเกิดจากวัคซีน 7 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 2 ราย" นพ.ธงชัย กล่าว
ปัจจุบันวัคซีนโควิดไม่ใช่ภาวะฉุกเฉิน ไม่มีจัดสรรฟรี
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในประเทศไทย ว่า การดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ดำเนินการตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยช่วงก่อนหน้านี้ ดำเนินการภายใต้ภาวะฉุกเฉินซึ่งขณะนั้นโรคโควิด 19 ถูกประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง การจัดหาวัคซีนจึงใช้งบประมาณของแผ่นดินและฉีดให้กับประชาชนฟรีเพื่อยับยั้งการระบาดของโรค อย่างไรก็ตามขณะนี้ สำหรับโรคโควิด 19 ในประเทศไทยถูกยกเลิกให้เป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว อีกทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ จึงไม่ได้มีการจัดสรรให้ฟรีประชาชน แต่ก็อยู่ระหว่างการพิจารณา ว่าจะมีการฉีดให้กับ กลุ่มที่มีความจำเป็น ได้หรือไม่เช่น บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มเสี่ยง ยากไร้ ในลักษณะของความสมัครใจ เพราะอยากรู้ผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง ยังมีข้อมูลพบว่า ผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด 19 เป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุด
"วัคซีนที่มีการใช้ในประเทศไทยก่อนหน้านี้เป็นแบบ Emergency Use รัฐต้องจัดหามาฉีดให้กับประชาชน แต่ตอนนี้สถานการณ์คลี่คลายโรคโควิด 19 ไม่ใช่โรคติดต่ออันตรายอีก การใช้วัคซีนจะต้องอยู่ในรูปแบบของวัคซีนในภาวะปกติคือจะต้องเป็นวัคซีนที่ผ่านกระบวนการ ศึกษา ผลดีผลเสีย ผลกระทบต่างๆ และนำมาขออนุญาตขึ้นทะเบียนใช้ กับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งขณะนี้มีวัคซีนเพียงตัวเดียวที่ขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะปกติในประเทศไทยก็คือ วัคซีน mRNA ของไฟเซอร์ ดังนั้น หากจะนำวัคซีนเข้าชุดสิทธิประโยชน์ก็จะต้องมีข้อมูลต่างๆ เป็นไปตามขั้นตอน มีสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ร่วมผลักดัน " นพ.ธงชัย กล่าว
เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ก็มีรายงานข่าวว่าวัคซีนmRNA มีผลกระทบ เกี่ยวกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเซลล์ในร่างกาย นพ.ธงชัย กล่าวว่า วัคซีนที่มีการนำเข้ามาใข้ก่อนหน้านี้ เป็นการใช้ภายใต้ภาวะฉุกเฉิน ก็มีผลกระทบ ผลข้างเคียง ตัวนี้ก็จะเจอผลกระทบมากแถวอเมริกา
ข่าวเกี่ยวข้อง : รอผู้เชี่ยวชาญชี้ “วัคซีนโควิด” เข้าสิทธิประโยชน์ฉีดฟรีหรือไม่ เหตุไม่ฉุกเฉินเหมือนอดีต
- 2500 views