สธ.เผยข้อมูลถึงวันที่ 5 ก.ย. ยอดการฉีดวัคซีนสะสมกว่า 35 ล้านโดส มีผู้เสียชีวิต 628 ราย คณะกรรมการรับพิจารณาแล้ว 416 ราย สรุปเป็นไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน 249 ราย ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 32 ราย มีเพียง 1 ราย ที่สรุปว่าเป็นการเสียชีวิตเกี่ยวข้องกับวัคซีน ส่วนผลการฉีดไฟเซอร์ พบเด็กชาย 13 ปี กล้ามเนื้อหัวใจอีกเสบเฉียบพลัน 1 ราย แต่รักษาหายแล้ว
เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข เวลา 13.30 น. นพ.จักรรัฐ วงศ์พิทยาอานนท์ ผอ.กองระบาด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการแถลงข่าวรายงานผลการเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัควัคซีน ป้องกันโรคโควิด -19 ว่า ขณะนี้ทั้งประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนไปทั้งหมด 37,461,284 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 25,954,106 คน เข็ม 2 จำนวน 10,900,001 คน และเข็ม 3 จำนวน 607,177 คน โดยวัคซีนที่ใช้มี 4 ชนิดคือซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ และซิโนฟาร์ม ทั้งนี้ ย้ำว่าทุกยี่ห้อ หากยังมีพฤติกรรมเสี่ยง ความเสี่ยงก็ยังสามารถติดเชื้อได้ แต่ช่วยลดความรุนแรง และเสียชีวิตได้
สำหรับคนที่กังวลอาการไม่พึงประสงค์นั้น กรมควบคุมโรคมีระบบเฝ้าระวังการฉีดวัคซีนเอาไว้ ซึ่งที่ต้องนำเข้าคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณา ทั้งนี้จากข้อมูลสรุปถึงวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมาซึ่งมียอดการฉีดสะสมที่ 35,912,894 โดส มีผู้เสียชีวิต 628 ราย คณะกรรมการรับพิจารณาแล้ว 416 ราย สรุปเป็นไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน 249 ราย ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 32 ราย มีเพียง 1 ราย ที่สรุปว่าเป็นการเสียชีวิตเกี่ยวข้องกับวัคซีน โดยเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ จากการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนกา 15,419,603 โดส ซึ่งที่จริง มีผู้เกิดลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ 5 ราย เป็นชาย 2 ราย หญิง 3 ราย อายุระหว่าง 26 -76 ปี อยู่ใน กทม. 3 ราย นนทบุรี 1 ราย และนราธิวาส 1 ราย รักษาหายเป็นปกติ 2 ราย เสียชีวิต 3 ราย แต่สรุปว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน 2 ราย 1 รายเกี่ยวข้อง ส่วนผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ 3,004 ราย คิดเป็น 19.48 ต่อแสนประชากร ในจำนวนนี้แพ้รุนแรง 6 ราย แต่หายเป็นปกติ
“ใน 1 ราย ที่เสียชีวิตจากวัคซีนนั้นเป็นหญิงอายุ 28 ปี จ.นนทบุรี เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับวัคซีนอยู่แล้ว หลังฉีดแอสตร้าฯ 6 วัน มีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ เข้ามารับการรักษาช้า จึงทำให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา” นพ.จักรรัฐ กล่าว และว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน อุดตันตรงไหนก็ทำให้เกิดอาการตรงนั้น เช่น อุดตันที่ขาก็ทำให้เกิดแขนขาอ่อนแรง อุดตันที่สมองก็อัมพาต ปาก หรือหน้าเบี้ยว เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด ปวดท้องรุนแรง ดังนั้นอาการไม่ได้ตรงไปตรงมา ส่วนเกล็ดเลือดต่ำจะเกิดพร้อมๆ ลักษณะเป็นจุดเลือดออกคล้ายไข้เลือดออก แต่ไข้เลือดออกจะมีไข้ร่วมด้วย เพราะฉะนั้นหากเกิดอาการเหล่านี้หลังฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ ในระยะ 4-30 วัน ขอให้รีบมาพบแพทย์ แจ้งประวัติการฉีดวัคซีนให้แพทย์ทราบ เพราะการตรวจบางอย่างต้องส่งต่อรพ.อื่น หากไม่ทราบประวัติเหล่านี้ หรือไม่นึกถึงมาก่อนจะทำให้พลาดโอกาสในการรักษา ซึ่งภาวะนี้รักษาหายได้ ทั้งนี้เมื่อเทียบกับประเทศอังกฤษ ถือว่าอัตราการเกิดในประเทศไทยต่ำกว่ากว่า 30 เท่า
ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ฉีดไปทั้งหมด 869,811 โดส มีอาการไม่พึงประสงค์ 90 ราย คิดเป็น 10.35 ต่อแสนโดส ในจำนวนนี้พบว่ามีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน 1 ราย คิดเป็น 0.11 ต่อแสนประชากร โดยรายนี้เป็นเด็กชายอายุ 13 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับวัคซีนคืออ้วน ค่าดัชนีมวลกายสูงมาก หลังฉีดไฟเซอร์ 2 วัน มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน มีไข้ เจ็บหน้าอกรุนแรง แต่รักษาหายแล้ว ทั้งนี้ จากข้อมูลการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในสหรัฐอเมริกา พบว่ามีอาการไม่พึงประสงค์ ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันได้ โดยพบในเด็กชาย อายุ 12-17 ปี อยู่ที่ 32.4 ต่อการฉีด 1 ล้านโดส ส่วนหญิง พบอัตรา 4.2 ต่อการฉีด 1 ล้านโดส แต่ไม่ค่อยพบในคนอายุมาก ดังนั้นจึงแนะนำประชาชนว่าหากใครเคยมีประวัติกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือหัวใจล้มเหลวแล้วจะฉีดวัคซีน mRNA ไม่ว่าจะเป็นไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นาที่กำลังจะเข้ามานั้น ขอให้แจ้งบุคลากร และเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ด้วย
นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อว่า ส่วนวัคซีนซิโนแวคฉีดแล้ว 15,292,644 โดส พบอาการไม่พึงประสงค์ 2,667 โดส หรือคิดเป็น 17.44 ต่อแสนโดส แต่มีแพ้รุนแรง 24 ราย หรือ 0.16 ต่อแสนโดส วัคซีนซิโนฟาร์ม ฉีดทั้งหมด 4,330,836 โดส เกิดอาการไม่พึงประสงค์ 193 ราย คิดเป็น 4.46 ต่อแสนโดส อาการที่พบคลื่นไส้ เวียนศีรษะ อาเจียน ไข้ เป็นต้น
“เมื่อเทียบอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน กับประโยชน์ที่ได้รับในการป้องกันโรค ลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตแล้ว ผู้เชี่ยวชาญยังคงแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนต่อไป จึงขอให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงไปรับวัคซีนด้วย” นพ.จักรรัฐ กล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 96 views