อย.ร่วมเครือข่าย ทั้งสสจ. เกษตรฯ ท้องถิ่น ทำ Mapping ส่องผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน ของดีแต่ละจังหวัด หวังยกระดับเข้าร้านสะดวกซื้อ ขึ้นห้าง Convenience Store และเข้าสู่ตลาดโลก ใช้เลข อย.เป็นใบเบิกทางสู่สากล ชูตัวอย่าง 2 วิสาหกิจชุมชนสงขลา ทั้ง “มะม่วงเบา-เครื่องแกงใต้”

 

“มีเลข อย.มั้ย..”  กลายเป็นคำถามแรกๆ ก่อนการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพ และหนึ่งในนั้น คือ อาหาร ไม่เว้นแม้แต่อาหารแปรรูปทางการเกษตร ที่ผลิตโดยคนในชุมชน ที่ปัจจุบันไม่เพียงมีเลขอนุญาตจาก อย. แต่ยังได้รับรางวัล อย. ควอลิตี อวอร์ด สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค หนำซ้ำยังเพิ่มยอดขาย และอนาคตยังเป็นใบเบิกทางสู่ตลาดต่างประเทศ

 

อย.ใบเบิกทางผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่ตลาดสากล

"ที่ผ่านมาหลายคนอาจมองว่า อย.เป็นหน่วยรับตรวจ อนุมัติ อนุญาต เราจึงปรับกระบวนการภายในและหลักคิดหลักปฏิบัติ มองว่าเป็นหุ้นส่วนสำคัญของกระบวนการให้ผลิตภัณฑ์ได้คุณภาพปลอดภัย เพื่อให้ได้เลข อย.และเข้าสู่ตลาดระดับต่างๆ ได้ ด้วยการยกระดับผลิตภัณฑ์สุขภาพจากพื้นที่ชุมชน เข้าสู่ชั้นวางจำหน่ายใน Convenience Store ร้านสะดวกซื้อ หรือส่งออกต่างประเทศ”

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวขึ้นระหว่างตรวจเยี่ยมวิสาหกิจชุมชนเครื่องแกงตายาย และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านนาออก หรือป้าติ้วแมงโก้ จ.สงขลา เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

ดันผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็น Soft Power 

นพ.ณรงค์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขในการนำสุขภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงเพิ่มโอกาสการแข่งขันของผู้ประกอบการสู่ระดับสากล ตามนโยบายรัฐในการส่งเสริม Soft Power  ดังนั้น อย.จึงแปลงตัวเองจากคนรอรับอนุญาต ไปสนับสนุนทุกขั้นตอนตั้งแต่ดูการผลิต โรงผลิต ช่วยออกแบบแปลน ให้คำปรึกษา จนถึงอนุญาต โดยบาลานซ์ทั้งคุ้มครองผู้บริโภค และส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีหลายระดับ ให้ได้รับโอกาสที่เหมาะสม ปรับกลไกการอนุมัติอนุญาตภายในให้เร็ว สะดวก แต่ไม่ลดคุณภาพและความปลอดภัย โดยเข้าไปช่วยตรวจสอบสถานที่ผลิต ซึ่งผลิตภัณฑ์สุขภาพแต่ละตัวมีความเข้มข้นไม่เหมือนกัน อย่างอาหาร จะดูความสะอาดปราศจากการปนเปื้อน โดยต้องได้มาตรฐานแหล่งผลิต ขั้นตอนบรรจุหีบห่อและขนส่ง ซึ่งจะเห็นว่าบางตัวส่งออกได้ อย่างชาไทยไปชาโลกก็มีหลายเจ้า เช่นนี้จะเติบโตเร็ว รายได้คนในชุมชนก็จะโตเร็ว

ทำ Mapping ส่องผลิตภัณฑ์ชุมชนทุกจังหวัด ยกระดับสู่ตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ อย. ยังเผยถึงแนวทางในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยจะประสานงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ทั่วประเทศ ที่ทำงานร่วมกับพื้นที่ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน เพื่อ Mapping ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนที่มีศักยภาพของแต่ละจังหวัด จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ไปวางแนวทางและให้คำปรึกษาในขั้นตอนการผลิต การวางแบบสถานที่ผลิต จนถึงการอนุมัติอนุญาตให้เลขทะเบียน อย. ส่วนผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนที่มีศักยภาพมาก ก็เข้าสู่ขั้นตอนพัฒนาจนได้  “อย.ควอลิตี้ อวอดร์ด” หรือหากมีส่วนประกอบเป็นไปตามเกณฑ์ของผลิตภัณฑ์ทางเลือกสุขภาพ ก็จะได้รับสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” หรือ Healthier Choice

“ที่สำคัญยังมีการหารือกับโครงการพระราชดำริ โครงการหลวง สมาคมแม่บ้านตำรวจ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนอยู่ทั่วประเทศ วางแนวทางส่งเสริมสนับสนุนร่วมกันให้สามารถเข้าสู่ตลาดโดยได้รับเลขอย.ด้วยเช่นกัน” นพ.ณรงค์ กล่าว และว่า อย่างผลิตภัณฑ์ของป้าติ้วแมงโก้ก็มองว่า หากมีการทำน้ำมะม่วงเบาแล้วมาขอเลข อย. ก็สามารถไปได้ไกลถึงขั้นส่งขึ้นสายการบินได้ ตรงนี้ก็จะเพิ่มมูลค่าและรายได้ รวมถึงการพิจารณาให้รางวัล อย.ควอลิตี อวอร์ด ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยการันตีว่าสินค้ามีคุณภาพและปลอดภัย และเป็นรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการ

ผลิตภัณฑ์ชุมชนป้าติ้วแมงโก้ “มะม่วงเบา”  

นางอุไรวรรณ หอมจันทร์  หรือป้าติ้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านนาออก หรือป้าติ้วแมงโก้ เล่าถึงที่มาก่อนจะมารวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน ว่า เกิดขึ้นจากการรวมตัวของสมาชิกกลุ่มแม่บ้าน จำนวน 22 คน เมื่อปี 2547 กิจกรรมช่วงแรกมีหลากหลาย เช่น ทำขนม ทำดอกไม้ประดิษฐ์ รับจัดดอกไม้และพวงหรีด เน้นสร้างรายได้เสริมให้กับสมาชิก และได้จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนในชื่อ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์บ้านนาออก” เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2549

ต่อมามีแนวคิดที่จะช่วยเหลือเพื่อนเกษตรกรในหมู่บ้าน เนื่องจากในพื้นที่เกษตรกรจะปลูกมะม่วงเบาไว้จำนวนมาก เป็นผลไม้ประจำถิ่นของอำเภอสิงหนคร เมื่อผลผลิตออกมามากราคาก็ตกต่ำ บางครั้งสินค้าล้นตลาดขายไม่ได้ พอสุกก็ต้องทิ้งไปเป็นปุ๋ย จึงต้องหาวิธีแปรรูป ทำให้มะม่วงเบามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น จึงได้ทดลองผลิตมะม่วงแช่อิ่มและน้ำมะม่วง ซึ่งใช้มะม่วงเบาผลอ่อนเป็นวัตถุดิบหลัก เมื่อมะม่วงสุกก็ทดลองแปรรูปเป็นแยมมะม่วงขาย แต่ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมและขึ้นชื่อ คือ มะม่วงเบาแช่อิ่ม เนื่องจากกระบวนการผลิตใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมา ทำให้ได้มะม่วงแช่อิ่มที่รสชาติกลมกล่อม กรอบ อร่อย ปลอดภัย ไม่มีการใส่สารเจือปน 

กำลังใจ รางวัล อย.ควอลิตี อวอร์ด

โดยขณะนั้นมะม่วงเบาราคากิโลละบาทก็เป็นกิโลละ 250 บาท จากนั้น 3 ปี ราคามะม่วงขึ้นเลย จนไม่มีมะม่วงสุกให้ดูอีกเลย รายได้ต่อเดือนประมาณ 2-5 หมื่นบาท บางเดือน 7 หมื่นถึงแสนบาท ซึ่งถ้าได้ออกบูธก็ได้เป็นแสนบาทต่อเดือน คนที่มาร่วมทำจริงๆ มีงานที่ทำอยู่แล้ว ตรงนี้เป็นรายได้เสริม ทุกวันนี้ก็ได้อยู่ที่ 2-3 พันบาทต่อเดือน

ป้าติ้วบอกอีกว่า ได้รับรางวัล อย.ควอลิตี้ อวอร์ด ปี 2561 ถือเป็นกำลังใจในการทำงาน เป็นอะไรที่สวยงาม เราไปยืนตรงนั้นก็ภูมิใจที่สุดตอนไปรับก็ตื้นตันใจมาก เหมือนกับกำลังใจของเรา เป็นของขวัญให้เรา รางวัลก็ช่วยเรื่องยอดด้วย แต่สิ่งที่ต้องทำมากคือต้องยึดไว้รักษาดูแล ต้องพัฒนาตัวเอง อะไรไม่อร่อย ไม่ดีก็ไม่ออกขาย อะไรผิดพลาดไม่ยอมขาย สิ่งที่ป้าติ้วยึดถือคือ เรารักในอาชีพของเรา ต้องรับผิดชอบงานที่เราทำทุกอย่าง

 

เครื่องแกงตายาย สืบทอดจากอดีตจนปัจจุบัน

 

สำหรับวิสาหกิจชุมชนเครื่องแกงตายาย  ก็เป็นอีกแห่งที่ได้รับรางวัล อย.ควอลิตี้ อวอร์ด เช่นกัน

นางณัฐธัญรดี คงชนะ หรือขวัญ ประธานวิสาหกิจชุมชนเครื่องแกงตายาย เล่าความเป็นมาว่า ประมาณปี 2548 มีการรวมตัวของสมาชิกในชุมชนเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่มีจิตสาธารณะ ช่วยกันทำเครื่องแกงในงานต่างๆ ของหมู่บ้าน เช่น งานวัด งานบวช งานแต่ง หรืองานบุญประเพณีต่างๆ โดยใช้สูตรเครื่องแกงที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นตายาย และได้รับการยอมรับในเรื่องรสชาติความอร่อย

ต่อมาจึงคิดจัดตั้งกลุ่มและทำกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง  โดยปี 2552 รวมกลุ่มสมาชิกในชุมชนเพื่อศึกษาตลาด และวัตถุดิบ ปี 2555 จัดตั้งกลุ่มผลิตเครื่องแกง ในนามกลุ่มเครื่องแกงตายาย ปี 2557 จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มผลิตภัณฑ์ OTOP “เครื่องแกงตายาย” ปี 2558 ได้การส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา กระทั่งได้รับเลขสถานที่ผลิตอาหารที่ไม่เข้าข่ายโรงงาน (สบ.1) ในนามกลุ่มเครื่องแกงตายาย และได้หนังสือสำคัญให้ใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาล จากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา

ปี 2559 - 2560 ได้รับเป็นภูมิปัญญาดีเด่นอำเภอคลองหอยโข่ง ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ ระดับสี่ดาว และห้าดาว ตามโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี พ.ศ. 2559 (OTOP Product Champion) ได้รับรางวัล Best of Songkhla ปี 2561 ได้รับคัดเลือกเป็นวิสาหกิจชุมชนดีเด่น ระดับจังหวัด และระดับเขต และได้รับรางวัลชมเชยระดับประเทศ และปี 2562 ได้รับรางวัล อย. ควอลิตี อวอร์ด ประเภทผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน

ผลิตภัณฑ์ตราเครื่องแกงตายายได้รับเลขสารบบอาหาร 3 ตัว คือ เครื่องแกงส้ม เครื่องแกงเผ็ด และเครื่องแกงกะทิ โดยกรรมวิธีการผลิตเครื่องแกงเน้นความสะอาดและได้มาตรฐาน ตัวอาคารโรงงานมีรั้วรอบขอบชิด ป้องกันสัตว์และแมลง คัดเลือกวัตถุดิบคุณภาพ ทั้งพริกสด พริกแห้ง กระเทียม หัวหอม ตะไคร้ ข่า พริกไทยดำ ต้องผ่านการล้างสะอาด 3 ครั้ง ก่อนตากแดดจนแห้งหรือสะเด็ดน้ำ เพื่อให้มีน้ำในวัตถุดิบน้อยที่สุด ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์เก็บได้นาน เข้าสู่กระบวนการชั่งน้ำหนักตามสูตร เพื่อให้ได้เครื่องแกงที่มีรสชาติคงที่ และนำเข้าสู่เครื่องบด เครื่องแกงที่ได้จะต้องตรวจสอบลักษณะทางกายภาพ เช่น สี กลิ่น ความละเอียด ก่อนจะนำมาตวงบรรจุถุงตามขนาด และซีลปากถุง 2 ชั้น ซึ่งเครื่องแกงจะมีหลายขนาดให้เลือก ทั้งแบบแกงครั้งเดียว หรือขนาดใหญ่ ครึ่งกิโลกรัม 

"เราทำเครื่องแกงเพราะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนใต้ สามารถกินได้ทุกวัน ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน หรือเจอสถานการณ์อะไรอย่างโควิด คนก็ยังกินเครื่องแกง ช่วงแรกๆ คนยังไม่เข้าร่วมเพราะยางแพงกิโลกรัม 110 บาท เราเริ่มกัน 7 คน ลงขันคนละ 2 หมื่นบาท จนตอนนี้ก็มาร่วมเยอะขึ้น เพราะช่วงกรีดยางไม่ได้ตรงนี้ก็เป็นรายได้เสริม ยิ่งพอได้เลข อย. รวมถึง อย.ควอลิตีอวอร์ด ระดับประเทศ ยอดขายก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเวลา 5 ปี ซึ่งตอนนี้รายได้กลุ่มก็อยู่ที่หลักล้านบาท ค่าแรงจากลงเวลา คิดเป็นวันวันละ 250 บาท ก็เป็นจนเป็น 350 บาท" นางณัฐธัญรดีกล่าว

เป็นอีกตัวอย่างของผลิตภัณฑ์แปรรูปโดยชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจาก อย. รอขึ้นสู่ตลาดสากล

 

อ่านเนื้อหาเกี่ยวข้อง

- ด่านอาหารและยา ยุคใหม่ "One ด่าน - One Lab - One Day" กับทิศทางปฏิรูปในอนาคต