สภาเภสัชกรรม ร่วมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และอภัยภูเบศร จัดประชุมวิชาการหาแนวทางการวิจัยฟ้าทะลายโจร ผลักดันให้เป็น Soft Power สมุนไพรไทยของชาติ

สภาเภสัชกรรมโดยวิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมกันจัดเสวนาวิชาการ เพื่อถอดบทเรียนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากฟ้าทะลายโจรจากประสบการณ์ในไทยและต่างประเทศ  ในหัวข้อ “Lesson Learned from Development of Andrographis paniculata Health Products” ในวันเสาร์ที่ 16  ธันวาคม 2566 เวลา 8.30 – 16.30 น. ณ ศูนย์ประชุม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หลักสี่  

รศ.ภก.ชาลี ทองเรือง  ประธานวิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานดังกล่าวว่า เพื่อรวบรวม วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อเสนอประเด็นการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่หลากหลายออกสู่ตลาด  โดยการเสวนาครั้งนี้มีผู้ที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการวิจัยสู่การปฏิบัติจากหน่วยงานที่หลากหลาย ทั้งภาคนโยบาย อย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  หน่วยทุนวิจัยได้แก่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.  รวมถึงนักวิจัย ผู้ประกอบการและประชาชนด้วย ซึ่งในการประชุมมีการบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญที่คร่ำหวอดในการวิจัยและใช้ฟ้าทะลายโจร เป็นกูรูตัวจริงที่อยู่ในวงการสมุนไพร 

รศ.ภก.ชาลี ทองเรือง กล่าวต่อว่า การประชุมในครั้งนี้เราจัดขึ้นบนความร่วมมือของ 3 หน่วยงานที่มีประสบการณ์การวิจัยฟ้าทะลายโจร และยังได้รับความร่วมมือจากวิทยากรท่านอื่นๆ ที่มีความเชี่ยวชาญ  เรียกได้ว่า เป็นเสียงจริงในแวดวงฟ้าทะลายโจร  ตั้งแต่การปลูก เก็บเกี่ยว  การพัฒนาตำรับให้มีคุณภาพตลอดอายุการใช้งาน ศักยภาพของฟ้าทะลายโจรที่จะตอบสนองต่อความต้องการของตลาด รวมถึงการอัพเดตผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมฟ้าทะลายโจรในตลาดโลก  ที่ตอนนี้มีทั้งผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการอักเสบในโรคข้อเข่าอักเสบและข้อเสื่อม  ปรับการทำงานของภูมิคุ้มกันในโรคที่เกี่ยวกับการทำงานของภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ เช่น ลำไส้แปรปรวน  หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง  รวมถึงการใช้ภายนอกในกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ  นอกเหนือจากหวัดและภูมิแพ้ที่มีจำหน่ายอยู่ในอดีต  แต่ที่จะเป็นไฮไลต์ของการประชุมคือ การระดมสมอง ของผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อเสนอประเด็นการวิจัยต่อภาคนโยบายต่อไป  และขอให้มาร่วมฟังกันให้เยอะ ๆ 

“ในขณะที่ประเทศกำลังพูดถึง soft power กันอย่างกว้างขวาง ในส่วนของสมุนไพรเองนั้นก็นับว่าเป็น soft power หนึ่งที่นักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจ  หากสังเกตให้ดี จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์สมุนไพร อย่าง ยาดม  ยาหม่องสมุนไพรเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมากเป็นอันดับต้นๆ มีการรีวิวในช่องทางออนไลน์ว่าเป็นหนึ่งในของฝากจากไทย  หรือแม้กระทั่ง นอกจากนี้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 มีสื่อต่างประเทศนำเสนอการใช้สมุนไพร โดยเฉพาะ “ฟ้าทะลายโจร” อย่างกว้างขวาง  ทำให้ต่างประเทศรับรู้ถึงการนำสมุนไพรมาใช้ควบคุมการระบาดของโรค สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสมุนไพรไทย  ที่รอการต่อยอดเป็น soft power สมุนไพรไทยก่อเกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางของสังคมไทยในระดับนานาชาติ” ประธานวิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย