มุ้งสู้ฝุ่น ลดปริมาณฝุ่นพิษ PM 2.5 ปกป้องประชาชนกลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ DIY ได้เอง เพื่อเพิ่มพื้นที่ปลอดฝุ่นให้คนในบ้านปลอดภัย 

จากกรณี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมออกมาตรการป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 รวมถึง การสนับสนุน "มุ้งสู้ฝุ่น" แก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว เพื่อให้มีพื้นที่ปลอดฝุ่นภายในบ้าน จึงช่วยไม่ให้อาการของผู้ป่วยแย่ลง ปกป้องสุขภาพของคนในครอบครัว 

มุ้งสู้ฝุ่น ลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ได้มากกว่า 80% 

มุ้งสู้ฝุ่น เป็นนวัตกรรมที่ดัดแปลงมุ้งผ้าฝ้ายธรรมดา ให้มีลักษณะคล้ายกับ "แอร์มุ้ง" แต่เปลี่ยนจากเครื่องปรับอากาศเป็นเครื่องฟอกอากาศ จึงสามารถลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่ปลอดฝุ่นภายในบ้าน โดยเฉพาะผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง และกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่มโรค ได้แก่ โรค COPD หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคผิวหนัง โรคเยื่อบุตา โรคหอบหืด และโรคมะเร็งปอด 

"มุ้งสู้ฝุ่น ลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ได้มากกว่า 80% "

จากการทดลอง “มุ้งสู้ฝุ่น” เบอร์4 (ขนาด 1.0×2.0x1.60 เมตร) ในห้องที่มีปริมาณฝุ่น PM2.5 เข้มข้น 41 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อเติมอากาศสะอาดจากเครื่องฟอกอากาศเข้าในมุ้งภายใน 2 – 3 นาที สามารถลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ได้มากกว่า 80% ซึ่งสามารถปกป้องประชาชนกลุ่มเปราะบาง และผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ ทั้งยัง DIY ได้เอง เพื่อเพิ่มพื้นที่ปลอดฝุ่นให้คนในบ้านปลอดภัย ใช้งบประมาณไม่สูง

"มุ้งสู้ฝุ่น ลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ได้มากกว่า 80% "

พญ.นงนุช ภัทรอนันตนพ ผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัย และผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวกับ Hfocus ถึงประโยชน์ของมุ้งสู้ฝุ่นว่า ช่วงวิกฤตฝุ่นควัน กระทบกับประชาชนทุกคน โดยมุ้งสู้ฝุ่นใช้ได้กับทุกบ้าน ช่วยปกป้องประชาชนทุกวัยจากฝุ่นพิษ PM 2.5 แต่กลุ่มหลักที่ต้องดูแล คือ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติฝุ่นควัน PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน  มากกว่า 100 ไมโครกรัม (มคก.) ต่อลูกบาศก์เมตร (ลบม.) ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ หรือระดับสีแดง จึงจำเป็นต้องมีพื้นที่ปลอดฝุ่นภายในบ้าน

การทำ "ห้องปลอดฝุ่น" หรือ "พื้นที่ปลอดฝุ่น" นั้นทำได้หลายรูปแบบ ประกอบด้วย

  • การป้องกันฝุ่นจากภายนอก เช่น การปิดประตู หน้าต่างเพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นเข้าไปในห้อง
  • การใช้ระบบฟอกอากาศ โดยเครื่องฟอกอากาศมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือเครื่องฟอกอากาศแบบประดิษฐ์เอง (DIY) แต่หากมีคนอยู่ในพื้นที่หลายคน จะทำให้เกิดการสะสมของคาร์บอนไดออกไซด์ในห้อง ผู้ที่อยู่ในห้องจะหายใจได้ลำบาก 
  • การใช้มุ้งสู้ฝุ่น เป็นระบบแรงดันบวกพร้อมระบบฟอกอากาศ โดยเครื่องฟอกอากาศภายนอกห้องจะเติมอากาศสะอาดเข้าในห้อง เมื่ออากาศสะอาดจะดันไม่ให้ฝุ่น PM2.5 เข้าสู่ห้อง รวมถึงช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในห้องได้ด้วย

"สำหรับความเชื่อที่ว่า เครื่องจะดันอากาศร้อนเข้ามาในมุ้งทำให้เกิดความเสี่ยงฮีทสโตรก หรือโรคลมร้อนนั้น ไม่เป็นความจริง ในมุ้งอากาศจะเย็นกว่าข้างนอก และยังเป็นอากาศสะอาด ทำให้ผู้ป่วยหายใจได้สบาย เพราะอากาศสะอาดจะเข้าไปในมุ้ง ฝุ่นข้างนอกเข้ามาไม่ได้ ลักษณะคล้ายกับบอลลูน"

แจกมุ้งสู้ฝุ่นชุดสาธิต 300 ชุด ปกป้อง ปชช.-ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง

พญ.นงนุช กล่าวด้วยว่า ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ได้นำนวัตกรรมมาจัดทำ มุ้งสู้ฝุ่น ชุดสาธิตจำนวน 300 ชุด มอบให้ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ หอบหืด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โดยจัดทำเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นอกจากนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 1 เชียงใหม่ ก็ได้สนับสนุนการใช้งบประมาณจากกองทุนตำบล ทำเป็นโครงการต้นแบบระดับตำบลเพื่อจัดทำ มุ้งสู้ฝุ่น ให้ประชาชนในพื้นที่ต่อไป ซึ่งจำนวนครัวเรือนจะมีการสำรวจกลุ่มเป้าหมายประชาชนของแต่ละพื้นที่ เช่น เขต 1 จำนวน 300 ชุดสาธิต และเขต 2 จำนวน 300 ชุดสาธิต 

ส่วนระยะเวลาการใช้งานมุ้งสู้ฝุ่นและวิธีการดูแลรักษา พญ.นงนุช อธิบายว่า มุ้งผ้าฝ้ายใช้งานได้ทั่วไป หากต้องการซักควรซักอย่างเบามือเพื่อถนอมคุณภาพของมุ้ง ไม่ควรขยี้หรือใช้เครื่องซักผ้า แต่เครื่องฟอกอากาศต้องคอยสังเกต ดูได้จากแผ่นกรอง HEPA ถ้ามีสีดำไม่ควรใช้งานอีกต่อไป ทั้งนี้ หากปริมาณฝุ่นในแต่ละพื้นที่สูง อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนแผ่นกรองหรือไส้กรองบ่อย ๆ เช่น เชียงใหม่ในช่วงที่ค่าฝุ่นเป็นสีแดงหรือสีม่วง อาจต้องเปลี่ยนไส้กรองหรือแผ่นกรองทุก 1 เดือน จึงควรมีสำรองไว้สัก 2-3 ชิ้น 

ข้อควรระวัง คนในครอบครัวที่มีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง หากใช้มุ้ง 2 ชั้นที่มีสีทึบ ควรสังเกตผู้ป่วยบ่อย ๆ และควรมีกริ่งฉุกเฉิน ให้ผู้ป่วยกดเมื่อต้องการความช่วยเหลือ

DIY มุ้งสู้ฝุ่น ทำได้เองด้วย 4 วัสดุอุปกรณ์

พญ.นงนุช เพิ่มเติมว่า มุ้งสู้ฝุ่น พัฒนาต้นแบบโดย ผศ.ดร.ภาสกร แช่มประเสริฐ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทดลองประยุกต์ใช้มุ้งผ้าฝ้ายมาเป็น “มุ้งสู้ฝุ่น” ซึ่งศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ได้พัฒนาต่อยอดให้มุ้งสู้ฝุ่น เป็นทางเลือกในการสร้างพื้นที่ปลอดฝุ่นที่บ้าน ใช้งบประมาณไม่สูง เหมาะกับบ้านทั่วไปที่มีข้อจำกัด ซึ่งประชาชนสามารถทำมุ้งสู้ฝุ่นเองได้ เพียงใช้ 4 วัสดุอุปกรณ์ ได้แก่ 

1.มุ้งผ้าฝ้าย ราคาประมาณ 200-300 บาท เพราะมุ้งไนล่อนจะมีรูตาข่ายใหญ่กว่าทำให้อากาศสะอาดที่จะเติมเข้าไปรั่วได้ สำหรับเป็นพื้นที่ปลอดฝุ่นเฉพาะที่สำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ติดเตียง และกลุ่มเสี่ยง 1 คน โดยเลือกมุ้งจากรูปร่างของผู้ป่วยจึงแบ่งเป็น 2 ขนาด ได้แก่

  • ใช้มุ้งผ้าฝ้ายเบอร์ 4 ขนาดกว้าง 1.2 เมตร × ยาว 2 เมตร× สูง 1.6 เมตร
  • ใช้มุ้งผ้าฝ้ายเบอร์ 6 ขนาด กว้าง 1.5 เมตร ×ยาว 2.1 เมตร ×170  เมตร 

2.เครื่องฟอกอากาศ หรือเครื่องฟอกอากาศ DIY เลือกซื้อที่มีปุ่มปรับลดและเพิ่มความแรงพัดลม ช่วยปรับปริมาณอากาศสะอาดเพิ่มเข้าไปในมุ้งได้ ซึ่งเครื่องฟอก DIY ราคาประมาณ 600-800 บาท

3.เครื่องวัดฝุ่นพกพา หรือเครื่องวัด PM 2.5 ราคาประมาณ 500-700 บาท เพื่อตรวจเช็คปริมาณฝุ่น ใช้วัดปริมาณ PM 2.5 ในมุ้งและนอกมุ้ง ปรับเพิ่มอากาศสะอาดเข้ามาหากพบว่ามีฝุ่นอยู่เยอะ ในมุ้งควรมีปริมาณต่ำกว่า 25 มคก./ลบม. เป็นคุณภาพอากาศที่เหมาะสมและปลอดภัย

4.กริ่งฉุกเฉิน กรณีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง จำเป็นต้องใช้กริ่งเพื่อกดเรียก เมื่อมีอาการเจ็บป่วยหรือต้องการความช่วยเหลือ 

ราคาต่อชุด มุ้งสู้ฝุ่น 1 ชุด DIY รวมทั้ง 4 วัสดุอุปกรณ์ ราคาประมาณ 1,600-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพของสินค้า

ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาวิธีทำ มุ้งสู้ฝุ่น ได้ที่เว็บไซต์ ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ เฟซบุ๊ก ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ หรือ กลุ่มพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ และสามารถชมคลิป DIY มุ้งสู้ฝุ่น สร้างพื้นที่ปลอดฝุ่นด้วยตนเอง 

สำหรับนวัตกรรม "มุ้งสู้ฝุ่น” ได้ทดลองและพัฒนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาสกร แช่มประเสริฐ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยศธนา คุณาทร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

สธ.ลุยแจก “มุ้งสู้ฝุ่น” หลังเชียงใหม่วิกฤต PM2.5

รู้จัก “ห้องปลอดฝุ่น” อีกมาตรการรองรับช่วยประชาชนกลุ่มเสี่ยงผลกระทบสุขภาพ