กระทรวงสาธารณสุข ขยายผล “มุ้งสู้ฝุ่น” ในเขตสุขภาพที่ 1 ครอบคลุม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 แนะประชาชนใช้มุ้งผ้าฝ้ายมาประยุกต์สร้างพื้นที่ปลอดฝุ่นที่บ้าน โดยเฉพาะบ้านที่มีรูรั่วหรือผนังห้องไม่มิดชิด ใช้งบไม่ถึง 2 พันบาท แต่ช่วยลดมลพิษทางอากาศได้ดี
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมขยายผลการใช้งาน “มุ้งสู้ฝุ่น” ในกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยง และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงฝุ่นควัน เขตสุขภาพที่ 1 พร้อมมอบวัสดุสาธิตการใช้งานมุ้งสู้ฝุ่นแก่สำนักงานสาธารณสุจังหวัด 8 จังหวัด ในเขตสุขภาพที่ 1 รวม 300 ชุด
"ชลน่าน" สั่งดูแลกลุ่มเปราะบางรับผลกระทบฝุ่น PM2.5
นพ.โอภาส กล่าวว่า ปัญหาวิกฤติฝุ่นควันในภาคเหนือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทุกปีจะพบว่าค่าฝุ่น PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานในระดับมากกว่า 75.0 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรทำให้คุณภาพอากาศอยู่ในระดับสีแดง และพบค่าฝุ่น PM2.5 สูงสุดถึง 209.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ รวมทั้งเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และประชาชนทั่วไป ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีความห่วงใย โดยได้มอบแนวทางสำหรับดูแลกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ คือ การจัดตั้งคลินิกมลพิษและจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ซึ่งขณะนี้ดำเนินการแล้วใน 44 จังหวัด แบ่งเป็น คลินิกมลพิษ 225 แห่ง คลินิกมลพิษออนไลน์ 179 แห่ง และห้องปลอดฝุ่นในสถานบริการสาธารณสุข 6,715 ห้อง มีผู้รับบริการสะสม ตั้งแต่ 22 พฤศจิกายน 2566 - ปัจจุบัน รวม 112,238 ราย รวมทั้งสนับสนุนการจัดทำห้องปลอดฝุ่นในศูนย์พัฒนาเด็ก โรงเรียน สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ รวมถึง สถานที่เอกชน ซึ่งมีกว่า 1,500 ห้อง
ชูนวัตกรรม มุ้งสู้ฝุ่น ราคาประหยัด
“นอกจากเข้าใช้บริการห้องปลอดฝุ่นในสถานบริการแล้ว กรมอนามัยยังได้นำนวัตกรรม “มุ้งสู้ฝุ่น” ซึ่งเป็นการต่อยอดความรู้จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อให้ประชาชนนำมาปรับปรุงพื้นที่ปลอดฝุ่นที่บ้าน โดยใช้มุ้งผ้าฝ้ายร่วมกับเครื่องฟอกอากาศ สามารถประยุกต์ใช้กับบ้านหรือ ห้องที่มีลักษณะโล่ง มีรูรั่ว หรือผนังห้องไม่มิดชิดได้อย่างดี ขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายไม่ถึง 2,000 บาท แต่ช่วยลดมลพิษทางอากาศได้ผลดี ช่วยให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางได้เข้าถึงพื้นที่ปลอดฝุ่นที่บ้านได้มากขึ้น” ปลัดสธ.กล่าว
พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อขยายผลการสร้างพื้นที่ปลอดฝุ่นที่บ้าน โดยมีกิจกรรมสำคัญ อาทิ การสาธิตวิธีทำ “มุ้งสู้ฝุ่น” ของศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ นิทรรศการระบบเฝ้าระวังสุขภาพหนึ่งเดียว “ผ่อดีดี” โดยศูนย์เฝ้าระวังสุขภาพหนึ่งเดียว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่การสาธิตเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก Dust Boy โดยหน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- 333 views