สธ.บึงกาฬ จัดหมอเฉพาะทางไปหาประชาชนตลอดปี 67 ดูแลปชช.ไปแล้ว 2.3 หมื่นคน ล่าสุด “หมอชลน่าน” เปิดโครงการที่ อ.เซกา ให้บริการอีก 3 พันคน 14 คลินิก หนึ่งในนั้นเป็นคลินิกตรวจโรคทั่วไป ด้วยนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว  

 

เมื่อวันที่ 7 เมษายน  ที่โรงเรียนเซกา อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิด “โครงการพาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” ของจังหวัดบึงกาฬ โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหารส่วนกลางและผู้บริหารในพื้นที่ ร่วมงาน

นพ.ชลน่านกล่าวว่า โครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ ของจังหวัดบึงกาฬ มีการวางแผนออกให้บริการหน่วยแพทย์เฉพาะทางและจิตอาสาในพื้นที่ห่างไกลทั้ง 8 อำเภอ ในวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ต่อเนื่องตลอดปี 2567 โดยโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัด ทำให้เพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการของประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และคัดกรองความเสี่ยงในโรคที่เป็นปัญหาสำคัญได้อย่างครอบคลุม โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 จนถึงปัจจุบัน มีประชาชนได้รับบริการรวมทั้งสิ้น 23,966 คน

ทั้งนี้ ผลคัดกรองที่สำคัญ อาทิ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มีประชาชนเข้ารับการคัดกรอง 1,006 ราย พบ ผิดปกติส่งต่อเพื่อวินิจฉัยยืนยัน 432 ราย, มะเร็งเต้านม คัดกรอง 1,756 รายพบ ผิดปกติส่งต่อเพื่อวินิจฉัยยืนยัน 72 ราย , สายตาเด็กและผู้สูงอายุ เข้ารับการคัดกรอง 1,474 ราย ผิดปกติส่งต่อเพื่อวินิจฉัยยืนยัน 814 ราย เป็นต้น สำหรับโครงการในวันนี้ มีการจัดบริการ 7 คลินิกหลัก คือ 1) คลินิกคัดกรองมะเร็งตับ/มะเร็งท่อน้ำดี 2) คลินิกคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 3) คลินิกคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง  4) คลินิกคัดกรองมะเร็งเต้านม 5) คลินิกตาในเด็กและผู้สูงอายุ 6) คลินิกทันตกรรม 7) คลินิกกระดูกและข้อ

นอกจากนี้ ยังมีบริการเสริมอีก 7 คลินิก ได้แก่ 8) คลินิกสุขภาพจิต 9) คลินิกแพทย์แผนไทย 10) คลินิกคัดกรองวัณโรค 11) คลินิกกายภาพบำบัด 12) คลินิกบริการเภสัชกรรม 13) ตรวจทางห้องปฏิบัติการ และ 14) คลินิกตรวจโรคทั่วไปด้วยนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่มารับบริการได้เข้าใจการยกระดับ ปรับระบบ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และจิตอาสา โดยมีประชาชนเข้ารับบริการในคลินิกต่างๆ รวม 3,000 คน