กรมอนามัยจัดทีม SehRT ปฏิบัติการประเมินความเสี่ยงสุขภาพเหตุไฟไหม้โรงงานพลาสติก จ.ระยอง เผยภัยพิบัติจากสารเคมีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเสี่ยงต่อสุขภาพปชช. จี้หน่วยงานเร่งสำรวจมาตรฐานสถานประกอบการเกี่ยวกับสารเคมีให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
วันที่ 29 มีนาคม 2567 นายภิญญาพัชญ์ จุลสุข ผู้อำนวยการกองอนามัยฉุกเฉิน กรมอนามัย กล่าวว่า จากเหตุการณ์กรณีไฟไหม้โรงงานผลิตแปรรูปพลาสติก ในพื้นที่ตำบลมะขามคู่ อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดกลุ่มควันไฟสีดำพวยพุ่งลอยฟุ้งกระจายไปในอากาศโดยรอบพื้นที่โรงงาน เนื่องจากเป็นพลาสติกจึงทำให้เกิดการลุกไหม้อย่างรวดเร็ว พนักงานและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงสัมผัสได้ถึงกลิ่นเหม็นควันไฟจากการเผาไหม้ของพลาสติก เบื้องต้นหน่วยงานในพื้นที่สามารถระงับเพลิงไหม้ได้แล้ว ส่วนสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ในครั้งนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พนักงานของโรงงานได้รับบาดเจ็บ 1 คน มีอาการเจ็บเป็นรอยแดงช้ำพุพองที่ฝ่ามือจากการสัมผัสพาเลทพลาสติกที่ยังมีความร้อนอยู่ ส่วนประชาชนในพื้นที่โดยรอบไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรง มีเพียงการได้รับสัมผัสการสูดดมกลิ่นควันไฟที่เกิดจากการเผาไหม้ของพลาสติก ส่งผลให้เกิดอาการแสบตาแสบจมูก
นายภิญญาพัชญ์ กล่าวต่อไปว่า จากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานพลาสติกดังกล่าว กรมอนามัย มีความห่วงใยสุขภาพของประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบทางสุขภาพ จากการสูดดมควันไฟ เขม่า เถ้า ฝุ่นละออง เนื่องจากการเผาไหม้พลาสติก ทำให้เกิดสารเคมี เช่น สไตรีนโมโนเมอร์ ซึ่งสารตัวนี้มีอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาทระบบสร้างเลือด ตับ และระบบประสาทส่วนกลางของร่างกาย หากได้รับไอระเหยของสารนี้ทางการสูดดมส่งผลให้เวียนศีรษะ ง่วงซึม ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หมดสติได้ กรมอนามัย จึงได้มอบหมายให้ทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เฝ้าระวัง ประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด เบื้องต้น
โดยทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี ได้เน้นย้ำและประสานหน่วยงานในพื้นที่ให้มีการสื่อสารความเสี่ยงให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพและการปฏิบัติตนแก่ประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบดังกล่าว อย่างไรก็ตามโรงงานแห่งนี้มีการประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พลาสติก เช่น พาเลทพลาสติก ลังพลาสติก และภาชนะต่าง ๆ จากพลาสติก และมีกระบวนการล้าง บด หรือย่อยพลาสติก ซึ่งถือเป็นการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ที่ต้องได้รับการขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จากหน่วยงานราชการ
ส่วนท้องถิ่น
“ทั้งนี้ กรมอนามัย ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น สถานประกอบการในการควบคุม กำกับ และกำหนดมาตรการในการป้องกันความเสี่ยงจากการเกิดไฟไหม้ในพื้นที่ที่รับผิดชอบอย่างเคร่งครัด สถานประกอบการต้องมีการประเมินความเสี่ยงของกระบวนการผลิต กระบวนการจัดการและจัดเก็บวัสดุในพื้นที่โรงงานอย่างสม่ำเสมอ กำหนดมาตรการในการป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ภายในพื้นที่ และให้หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นในฐานะเจ้าพนักงานสาธารณสุขตามกฎหมาย ต้องมีการสำรวจ เฝ้าระวัง ควบคุม กำกับมาตรฐานความปลอดภัยของการกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และมีแผนรองรับภาวะฉุกเฉินที่สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการให้บริการคุ้มครองด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่ต่อไป” นายภิญญาพัชญ์ กล่าว
- 95 views