ขบวนแรงงาน แถลงครบรอบ 31 ปีไฟไหม้โรงงานตุ๊กตา 10 พ.ค.วันความปลอดภัย ชีวิตคนงานตกอยู่ในความเสี่ยง ยังไร้มาตรฐานความปลอดภัย มีความเสี่ยงจากเครื่องจักรอันตราย และท่าทางการทำงานที่ซ้ำซาก งานหนักเกินกำลัง ทำให้เกิดโรคเรื้อรัง
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยได้จัดกิจกรรมรำลึก 31 ปี โศกนาฏกรรมไฟไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ ซึ่งกรณีดังกล่าวมีคนงานเสียชีวิต 188 คนบาดเจ็บพิการ 469 คน โดยมีการจัดทำบุญใส่บาตรและวางดอกไม้พร้อมกล่าวคำไว้อาลัยในช่วงเช้าที่อนุสรณ์เตือนใจคงามปลอดภัยในการทำงาน ที่ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย
จากนั้นได้มีการจัดเสวนา วาระวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ เรื่อง สุขภาพความปลอดภัย สภาพแวดล้อมในการทำงาน ภัยคุกคามที่รอการแก้ไข...ที่ห้องประชุมสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย โดยได้ร่วมกัน แถลง เนื่องในวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสสรท. แถลงว่า ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 เกิดเหตุการณ์เศร้าสลดเกิดขึ้น เมื่อไฟไหม้ที่โรงงานตุ๊กตาของ บริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ จำกัด ย่านนครปฐม เป็นเหตุให้มีคนงานเสียชีวิต 188 ราย และพิการ บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นขบวนการแรงงานได้เรียกร้อง ผลักดันให้รัฐบาลและสังคมได้ตระหนักเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน
จนคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2540 ได้กำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” 14 ปีต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550 กำหนดให้ “แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี (Safety Thailand) เป็นวาระแห่งชาติ” กำหนดให้มีแผนแม่บทด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานแห่งชาติ มีการตราพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 รวมทั้งการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559
แม้จะมีนโยบาย มีกฎหมาย และรับรองอนุสัญญา ซึ่งเป็นกติกาทางสากลแล้วก็ตามแต่ ในความเป็นจริงจากวันนั้นจนถึงปัจจุบัน ชีวิตคนงานก็ยังต้องเผชิญกับความ ไม่ปลอดภัยในการทำงาน สภาพแวดล้อมในการทำงาน ความเสี่ยงจากเครื่องจักรอันตราย และท่าทางการทำงานที่ซ้ำซาก งานหนักเกินกำลัง ที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรัง เช่น อาการปวดหลัง จากการต้องยกของหนักเป็นเวลานานทั้งวัน ทำให้ป่วยสะสมมีอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก และข้อ มีหลายรายที่เป็นโรคโครงสร้างกระดูก เออร์โกโนมิกส์ (Ergonomics) และการทรงตัว โรคเกี่ยวกับตา หู คอ จมูก เช่น ตาแห้ง ตาระคายเคืองเรื้อรัง ตาแพ้แสง เจ็บคอบ่อยหรือเรื้อรัง และยังมีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลแบบที่เรียกว่าภูมิแพ้ ปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับการได้ยิน การเจ็บป่วย และโรคจากการทำงานยังคงเป็นอัตราสูงอย่างน่ากังวล
สิ่งที่เลวร้ายนับตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน อุบัติเหตุจากการทำงานในการก่อสร้างเครน นั่งร้านถล่มทับคนงานเสียชีวิต บาดเจ็บ และที่เลวร้ายที่สุดคือเหตุการณ์ไฟไหม้รายวัน ในโรงงานสาหกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ เกิดการระเบิด สารเคมีรั่วกระจาย ในบางเหตุการณ์ร้ายแรง ถึงต้องอพยพผู้คน ประกาศภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ คนงานต้องเสียชีวิต บาดเจ็บ ประชาชน ชุมชนเดือดร้อน อยู่กันอย่างแบบผวา การขนย้ายสารพิษแคดเมียมจำนวนมหาศาลจาก อ.แม่สอด จ.ตาก มายังในเขตชุมชนเมือง ที่ไร้มาตรการดูแล และสารพิษเหล่านี้มีอีกจำนวนเท่าไหร่ กระบวนการในการกำจัดถูกต้องตามหลักหรือไม่ แล้วจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ในวันนี้และอนาคตอย่างไร
ในอีกด้านหนึ่งปรากฏการณ์อากาศพิษ จากการปล่อยสารพิษ ของโรงงานอุตสาหกรรมทุก ๆ วัน ฝุ่น PM 2.5 จากยวดยานพาหนะ ไฟป่า การเผาเศษวัสดุ ทั้งในประเทศ และฝุ่นควันข้ามแดน ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อสุขภาพของประชาชน คือ ความเป็นจริงที่บ่งชี้และย้ำเติมว่า “ชีวิตคนงานตกอยู่ในความเสี่ยง ยังไร้มาตรฐานความปลอดภัย” ผู้ใช้แรงงาน ก็ยังไม่สามารถเข้าถึง การวินิจฉัยโรค กับแพทย์เชี่ยวชาญทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ในคลินิกโรคจากการทำงานได้ ยังมีคนงานที่เจ็บป่วยและอุบัติเหตุจากการทำงาน ยังมีคนงานไม่รู้อีกจำนวนเท่าไหร่..ในแต่ละปี ที่เจ็บป่วย ได้รับอันตรายจากการทำงาน “ซึ่งเป็นตัวเลขที่หายไป” นโยบาย Zero accident กับการปกปิดข้อมูลที่เป็นจริงคือปัญหาหนึ่งที่ขบวนการแรงงานเห็นว่าควรยกเลิก แล้วมาทำเรื่องส่งเสริมความปลอดภัยฯ อย่างแท้จริง เพื่อเป็นการป้องกัน
วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ปี 2517 ขบวนการแรงงาน โดย สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้
1. รัฐต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงาน และอาชีวอนามัย ค.ศ. 1981 (พ.ศ.2524) และฉบับที่ 161 ว่าด้วยการบริการอาชีวอนามัย ค.ศ. 1985 (พ.ศ.2528) และให้ตรากฎหมายรองรับ ให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับข้อตกลงของนานาประเทศ และขอให้รัฐบาลมีความมุ่งมั่น ที่จะดำเนินงานเรื่องการบริการอาชีวอนามัยอย่างเต็มที่ จริงจัง
2. ให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งดำเนินการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวกับสารเคมี มลพิษ สิ่งแวดล้อม โรคมะเร็งจากการทำงานต่าง ๆ และให้ตั้งโรงพยาบาล คลินิกอาชีวเวชศาสตร์ในย่านนิคมอุตสาหกรรมเพื่อดำเนินการ ป้องกัน รักษาให้เพียงพอ
3. รัฐบาลต้องสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ อากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ (ฉบับประชาชน) พ.ศ. ….
4. ทำให้สังคมไทยปราศจากแร่ใยหิน โดยเฉพาะการรื้อถอน ต้องมีมาตรการกำจัดฝุ่นแร่ ใยหินที่ดี มีมาตรฐาน
5. แก้ไขพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ให้คนงานเข้าถึงสิทธิ์
ง่าย สะดวก รวดเร็ว
6. บังคับใช้กฎหมายความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างเข้มข้น เพื่อให้เกิดมาตรฐานความปลอดภัยที่ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม เร่งตรวจสอบ โรงงาน สถานประกอบการทุกแห่ง ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และมีมาตรการเอาผิดและลงโทษต่อผู้ประกอบการอย่างรุนแรงกรณีที่ก่อให้เกิดอันตราย ความไม่ปลอดภัยต่อคนงาน ประชาชน ชุมชน และจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยทุกแห่งเพื่อเป็นกลไกในสถานประกอบการทุกแห่งเพื่อบริหารจัดการเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานพร้อมทั้งให้องค์กรแรงงาน สหภาพแรงงาน
มีส่วนร่วม
7. การเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งการเข้าถึงบริการ มี 3 ด้าน คือ การป้องกัน การส่งเสริมความปลอดภัย การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และการวินิจฉัยโรค รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณ และ คลินิก บุคลากร อุปกรณ์ทางการแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมให้เพียงพอ
8. การออกกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับโรคเออร์โกโนมิกส์ โรคโครงสร้างกระดูก โดยเฉพาะต้องบังคับใช้อย่างจริงจัง เคร่งครัด เพื่อป้องกันปัญหาการใช้แรงงานที่เกินกำลัง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น กรณีนายจ้างไม่ส่งเรื่องคนงานประสบอุบัติเหตุและเจ็บป่วยจากการทำงานเข้าใช้สิทธิเงินทดแทน
9.เมื่อคนงานเจ็บป่วยเข้ารับการรักษา การสิ้นสุดการรักษาพยาบาลโรคที่เกี่ยวข้องจากการทำงานให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของแพทย์ที่รักษาไม่ใช่งบประมาณตามที่กำหนด
สุขภาพดี คือ ชีวิตที่มั่นคง ความปลอดภัย คือ หัวใจของการทำงาน Good Health is Stablelile Securty is Heart of Working
- 193 views