รมว.สาธารณสุข ร่วม รมว.ดิจิทัลฯ เปิดโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขประเทศไทย รองรับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ประเดิมใช้งานระบบ ส.ค. 2567 ช่วงเฟส 3 มากกว่า 40 จังหวัด ตั้งเป้าเชื่อมข้อมูล รพ. 807 แห่ง รพ.สต. 4,507 แห่ง ส่วนงบจัดระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ร่วมกับดีทีเอส ป้องกันเต็มที่
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมกันเปิดโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย
นพ.ชลน่านกล่าวว่า นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาลที่ประกาศจะทำให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ครอบคลุมทุกระบบ ทุกจังหวัด ทุกเครือข่าย เนื่องจากเราต้องการเชื่อมระบบสุขภาพด้วยระบบดิจิทัลครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชนในการจัดบริการด้านสุขภาพ ซึ่งถ้าขาดความเชื่อมั่นในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีความปลอดภัย การจะไปหารือและร่วมกับ รพ.สังกัดมหาวิทยาลัย กลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หรือท้องถิ่นก็เป็นไปได้ยากหรือลำบาก โดยเฉพาะเขต 13 กทม. การมีระบบคลาวด์กลางจะช่วยสร้างความมั่นใจในเรื่องนี้และเป็นคำตอบ การจะทำให้สำเร็จภายในปีนี้จากมั่นใจร้อยละ 80 ก็เพิ่มเป็นร้อยละ 90
ต.ค.67 ตั้งเป้าเชื่อมข้อมูลทุกเครือข่ายด้วยระบบคลาวด์กลางของประเทศ
"ถ้ามีระบบคลาวด์กลาง หลายฝ่ายก็เริ่มสบายใจขึ้น ทั้งภาคเอกชน หรือ รพ.รัฐสังกัดอื่นๆ น่าจะถึงเป้าหมายได้ภายใน ต.ค. 2567 เป็นต้นไป จะเชื่อมทุกจังหวัดทุกเครือข่ายที่เหลือจากเฟส 1-3 ซึ่งเฟส 3 ภายในสิ้นเดือน ก.ย. เราจะมีอีก 6 เขตสุขภาพที่ให้บริการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ คือ
เขตสุขภาพที่ 1 เหนือตอนบน 8 จังหวัด
เขตสุขภาพที่ 3 เหนือตอนล่าง 5 จังหวัด
เขตสุขภาพที่ 4 ภาคกลาง 8 จังหวัด
เขตสุขภาพที่ 8 อีสานบน 7 จังหวัด
เขตสุขภาพที่ 9 อีสานล่าง 4 จังหวัด
เขตสุขภาพที่ 12 ใต้ตอนล่าง 7 จังหวัด
"เมื่อรวมทั้ง 3 เฟสมีให้บริการรวม 45 จังหวัด เกินครึ่งหนึ่งของประเทศ ที่เหลือแม้จังหวัดน้อยแต่ความซับซ้อนเชื่อมโยงข้อมูลยุ่งยาก ตรงนี้ดีอีเอสก็เข้ามาช่วย โดยมีการจัดทำงบประมาณรองรับ ซึ่งเฟส 4 จะใช้งบประมาณปี 2568" นพ.ชลน่านกล่าว
เปิดประโยชน์คลาวด์กลางของประเทศ ใครได้อะไรบ้าง...
นพ.ชลน่านกล่าวว่า การพัฒนาระบบคลาวด์กลางฯ ประโยชน์ที่ได้คือการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูล แม้ สธ.จะมีความพร้อมในระบบข้อมูลสุขภาพหลังบ้าน HIS ที่มี 29 บริษัท หรือระบบหน้าบ้านอย่างหมอพร้อมและไลน์ OA ก็มีความพร้อม แต่สำคัญสุดคือเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลจำเป็นต้องใช้คลาวด์กลาง ซึ่งปัจจุบันเราเช่าคลาวด์ภาคเอกชนอยู่ พอมีคลาวด์กลางก็จะปรับจูนระบบเข้ามาสู่คลาวด์กลาง วิธีการวางคลาวด์กลางด้านสาธารณสุข เรามีฐานข้อมูลใหญ่และกว้างก็จะวางเป็นส่วนตามเขตสุขภาพ คือ 12 เขตสุขภาพ และ 1 ส่วนคือ กทม. ก็จะวางตามลำดับแบบนี้และเชื่อมเข้าสู่ส่วนกลางอีกที ก็จะเป็นหลักประกันดูแลเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทั้งส่วนบุคคลและส่วนระบบ สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อไปเมื่อเราเชื่อมโยงได้ทั้งระบบ คือ การดูแลมิติสุขภาพด้วย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ จะเป็นจริงขึ้นมา เข้าบริการตรงไหนก็ได้ เพราะมีฐานข้อมูลเดียวกัน
"นอกจากสะดวกสบาย เข้าถึงสิทธิของประชาชนอย่างเต็มที่ ทั่วถึง เป็นธรรม ในเชิงระบบเมื่อฐานข้อมูลเชื่อมโยงอย่างนี้ สามารถปรับระบบการดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย Financial Data Hub ที่เราพัฒนาขึ้นมา ก้จะเป็นระบบท่อที่ทุกสิทธิเข้ามาตรงนี้แล้วกระจายไปทุกสิทธิ ก็จะอำนวยความสะดวกเรื่องการดูแลค่าใช้จ่าย ที่สำคัญจะเป็นฐานข้อมูลที่ดูว่าการใช้บริการที่เกิดขึ้นมีความจำเป็น ซ้ำซ้อน ไม่สมเหตุสมผลมากแค่ไหน ก็จะปรับปรุงระบบได้ ประชาชนจะยังประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะสามารถใช้เทเลเมดิซีน เทเลฟาร์มาซี เข้าถึงฐานราก และประหยัดค่าใช้จ่ายภาครัฐในการจัดบริการสุขภาพ" นพ.ชลน่านกล่าว
รมว.ดีอีเอสย้ำระบบคลาวด์กลางปลอดภัย คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ด้านนายประเสริฐกล่าวว่า โครงการพัฒนาคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขฯ เป็นความร่วมมือของดีอีเอสและ สธ. เป็นการทำงานร่วมกันในการสร้างโอกาสให้ประชาชนรับบริการที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่ายยิ่งขึ้น การนำระบบคลาวด์กลางภาครัฐมาใช้จะช่วยรองรับการบริการตามโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เพราะระบบนี้จะเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งโครงการนี้จะครอบคลุมไปถึง รพ.ชุมชน และ รพ.สต. ขอให้มั่นใจเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ เพราะการนำระบบคลาวด์มาใช้ หมายถึงเราม่ความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งมีระบบป้องกันอย่างดี เดิมที่ผ่านมาอย่าง รพ.สต.แห่งต่างๆ บันทึกข้อมูลในระบบธรรมดา เราเอามารวมศูนย์ข้อมูลกลางเก็บในที่ปลอดภัย เชื่อว่าจะเป็นการคุ้มครองและรักษาข้อมูลอย่างดี คลาวด์จะเป็นระบบที่ช่วยให้ระบบมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ดีกว่ากระจัดกระจายตามที่ต่างๆ ขณะนี้โครงการฯ อยู่ในระยะที่ 2 ยังไม่สามารถใช้ได้เต็มระบบ แต่จะใช้ได้ช่วง ส.ค. 2567
คกก.ดิจิทัลฯ ดูงบดำเนินการร่วม สธ.จัดระบบคลาวด์กลาง
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า โครงการระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย เกิดขึ้นตามข้อตกลงความร่วมมือเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2565 ระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯ และ สธ. เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบสารสนเทศแพลตฟอร์มกลางบนคลาวด์ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกการรับบริการสุขภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ได้มอบหมายให้ สดช.รับผิดชอบดำเนินระบบคลาวด์กลางภาครัฐขอรับงบประมาณและดำเนินงานร่วมกับสำนักงานปลัด สธ. มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 27 เดือน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 - 2569
เชื่อมข้อมูลสุขภาพปชช. รพ.807 แห่ง และรพ.สต.อีก 4,507 แห่ง
"วันนี้ถือว่าเริ่มโครงการได้สำเร็จ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อติดตั้งระบบสารสนเทศช่วยสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชน ได้แก่ รพ.จำนวน 807 แห่ง และ รพ.สต.จำนวน 4,507 แห่งในสังกัดสำนักงานปลัด สธ. รวมถึงพัฒนาระบบเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางเพื่อรองรับสถานพยาบาลนอกสังกัด สธ.ด้วย ซึ่งข้อมูลการให้บริการทางการแพทย์จาก รพ.จะถูกรวบรวมนำไปวิเคราะห์เป็นสารสนเทศต่างๆ เพื่อความแม่นยำในการรักษา เพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ป่วยมากขึ้น เช่นการนำข้อมูลแพ้ยาแจ้งเตือนช่วยป้องกันแพทย์จ่ายยาผิดพลาด ระบบที่พัฒนานี้จะถูกติดตั้งบนคลาวด์ที่ได้มาตรฐานสากล มีความมั่นคงปลอดภัย และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล" นายภุชพงค์กล่าว
เพิ่มงบบริหารรองรับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เพียง 53 ล้าน
ถามว่าต้องมีการเพิ่มงบประมาณในการบริหารจัดการด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า 30 บาทรักษาทุกที่ฯ มีนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นเยอะมาก เช่น ร้านยาเข้าร่วมโครงการไปรับยาร้านยา ส่งยาถึงบ้านโดยไปรษณีย์หรือ Health Rider ทันตกรรม แล็บ ที่เปิดบริการและเข้าร่วมโครงการ กิจกรรมเหล่านี้เพิ่มเติมเข้ามาก็ต้องเพิ่มงบประมาณด้านบริการเข้าไป ส่วนงบบริหารน้อยมากทั้งโครงการประมาณ 53 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงบบริการเพื่อให้เพิ่มความสะดวกเข้าถึงมากขึ้น เราวางงบประมาณไว้ทั้งงบปี 2567 และ 2568 ซึ่งที่เราจะขยายเพิ่มไปเป็นกว่า 40 จังหวัด 6 เขตุสุขภาพใช้งบวางไว้ในปี 2567 ซึ่งได้รับอนุมัติงบประมาณแล้ว ที่เหลือจะใช้งบปี 2568 อยู่ในขั้นตอนการเสนองบประมาณ
งบดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ร่วมกับก.ดีอีเอส
ถามถึงงบความปลอดภัยไซเบอร์ต้องกันไว้โดยเฉพาะหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ต้องแยกต่างหาก ไม่เกี่ยวกับงบบริการตรงนั้น เพราะเป็นงบดูแลระบบ ต้องประสานดีอีเอส
ถามต่อถึงกรณีที่จะเสนองบประมาณดูแลความปลอดภัยไซเบอร์ 2 พันล้านบาท นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นตัวคาดการณ์งบประมาณที่จะใช้ดูแลเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ก็ต้องประสานกับทางดีอีเอส
ขอให้มั่นใจความปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนบุคคล
ถามว่าที่ผ่านมามีเรื่องของแฮกเกอร์ตลอดจะสร้างความมั่นใจอย่างไรให้ประชาชน นพ.ชลน่านกล่าวว่า ขณะนี้ระบบที่วางไว้ดูแลเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ทำร่วมกับ สกมช. ดีอีเอส เราวางระบบเข้าไปดูแลทั้งบริหารส่วนกลาง ส่วนพื้นที่ หน่วยปฏิบัติด้วย เราวางอย่างนี้ เรามีประสบการณ์ขณะเปิดเฟสแรก 4 จังหวัด ถูกโจมตีที่ร้อยเอ็ด แต่เราสามารถตรวจจับได้และป้องกันระบบได้ ระบบก็รันต่อได้ เราเชื่อว่าสิ่งที่เราเตรียมพร้อมแบบนี้เรามั่นใจ แต่ไม่ได้ท้าทาย เพราะเรื่องระบบความปลอดภัยไซเบอร์คนมีความรู้ความสามารถหลากหลายมาก เราต้องพัฒนาตนเองให้ดีที่สุด เพราะมีการแข่งขันสูงมาก เหมือนสงครามอยู่ที่เราเตรียมความพร้อม ขอแจ้งด้วยความมั่นใจขณะนี้เรายังอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย
- 214 views