กระทรวงสาธารณสุข จับมือสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ลงนามความร่วมมือด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ในหน่วยงานสาธารณสุขและโรงพยาบาล ยกระดับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ป้องกัน รับมือ ตอบโต้และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ 

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม 2566) ที่ โรงแรมอัศวินแกรนด์คอนเวนชั่น กทม. นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยพลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กับ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) พร้อมเสวนาประเด็น “สาธารณสุขรู้ทันภัยไซเบอร์”

 

นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริการสุขภาพ และพัฒนาไปสู่ระบบสุขภาพดิจิทัลที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้อย่างสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งที่ผ่านมา สกมช. ได้สนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข่าวสาร และเหตุการณ์การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่เกิดจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในวันนี้ ถือเป็นการยกระดับความสามารถในการป้องกัน รับมือ ตอบโต้และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนผู้ใช้บริการของกระทรวงสาธารณสุขยิ่งขึ้น

โดยตามบันทึกความเข้าใจฯ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ สกมช. จะร่วมกัน 1) เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงสร้างความตระหนักถึงสถานการณ์เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อให้มีการปฏิบัติที่มีลักษณะบูรณาการและเป็นปัจจุบัน 2) สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในการผลิตกำลังคนเฉพาะด้านพัฒนาทักษะ การปฏิบัติตามนโยบายและแผนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมาตรการป้องกัน รับมือและลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ และ 3) ประสานการเฝ้าระวังความเสี่ยง ติดตาม วิเคราะห์ ประมวลผลและแจ้งเตือนเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ทั้งนี้ อาจมีการจัดทำข้อตกลงรายละเอียดของการดำเนินงานเป็นแต่ละโครงการหรือกิจกรรมเพิ่มเติม เพื่อความครบถ้วนครอบคลุมในการดำเนินงานนั้นๆ ต่อไป

ปัจจุบันได้ดำเนินการนำร่องในโรงพยาบาล 13 แห่ง สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและกรมการแพทย์  ได้แก่ โรงพยาบาลลำปาง โรงพยาบาลพุทธชินราช โรงพยาบาลกำแพงเพชร โรงพยาบาลสระบุรี โรงพยาบาลราชบุรี โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลอุดรธานี โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลวารินชำราบ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช โรงพยาบาลหาดใหญ่ และสถาบันประสาทวิทยา