รมว.สาธารณสุข มอบกรมควบคุมโรคประสานงานกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR) ขอข้อมูลเพิ่มเติมกรณีพบ “ไข้นกแก้ว” ระบาดหลายพื้นที่แถบยุโรป ชี้เป็นเชื้อติตด่อจากสัตว์สู่คนคล้าย "หวัดนก"  ยังไม่พบติดจากคนสู่คน มียารักษา แต่ยังไม่มีวัคซีน พบอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรง

 

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพบการระบาดของโรคซิตตาโคซิสหรือโรคไข้นกแก้วในหลายประเทศแถบยุโรป มีผู้เสียชีวิต 5 ราย โดยพบเชื้อในนก สัตว์ปีกในป่า และสัตว์เลี้ยงหลายชนิด ว่า โรคไข้นกแก้ว (Psittacosis) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่พบได้ยาก แต่ไม่ใช่โรคติดต่ออุบัติใหม่ และมียาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาได้ เชื้อโรคนี้มักจะก่อโรคในนกที่เป็นสัตว์เลี้ยง เช่น นกแก้ว เป็นต้น ในอดีตเคยมีการระบาดในนกแก้วในหลายประเทศ เช่น เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ คอสตาริกา ออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทย เคยมีการรายงานจากการวิจัยสำรวจในสัตว์ปีก ว่าพบเชื้อแบคทีเรียนี้เช่นกัน

โรคไข้นกแก้ว คือ

"โรคนี้เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน คล้ายๆ ไข้หวัดนก แต่ยังไม่มีหลักฐานการติดต่อจากคนสู่คน รวมถึงโรคนี้ไม่แพร่กระจายโดยการกินสัตว์ที่ติดเชื้อ การติดเชื้อในคนส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากนกที่ติดเชื้อ ผ่านทางการหายใจเอาเชื้อที่ขับออกมาจากปัสสาวะ อุจจาระ หรือสิ่งคัดหลั่งที่มีการปนเปื้อนของนกที่ติดเชื้อ ผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และทำให้เกิดอาการปอดอักเสบรุนแรงได้ บางรายอาจมีอาการเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ  ปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าพบผู้ป่วยโรคนี้ในระบบเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค" นพ.ชลน่านกล่าว

มอบกรมควบคุมโรคติดตามสถานการณ์

ทั้งนี้ สธ.โดยกรมควบคุมโรค ได้ประสานไปยังจุดประสานงานกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR) เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมในกรณีที่พบการระบาดหรือการติดเชื้อของโรคดังกล่าว และประสานไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมปศุสัตว์ และเครือข่ายมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความร่วมมือกันเรื่องสุขภาพหนึ่งเดียว (One health) เพื่อประสานข้อมูล และร่วมมือกันเฝ้าระวังโรคทั้งในคนและในสัตว์ โดยโรคนี้อยู่ในระบบเฝ้าระวังแบบ Event base surveillance หรือการเฝ้าระวังเหตุการณ์ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ติดตามอย่างใกล้ชิดทุกวัน เพื่อเฝ้าระวังว่ามีโอกาสแพร่กระจายมาสู่เมืองไทยได้หรือไม่ ทั้งกรณีนกแก้วอพยพ หรือด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศก็จะเฝ้าระวังการเอาสิ่งที่เป็นต้นเหตุ ทั้งตัวนกแก้วหรือคนที่เป็นโรคที่จะเข้ามาประเทศไทย ซึ่งสัตวแพทย์สามารถวินิจฉัยลักษณะอาการของสัตว์ป่วยได้

กลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง

นพ.ชลน่านกล่าวว่า กลุ่มเสี่ยงที่ต้องให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังการติดเชื้อ ได้แก่ ผู้เลี้ยงนก สัตวแพทย์ หรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนก การป้องกันคือเริ่มจากให้ความรู้ความเข้าใจระบาดวิทยาของโรคติดต่อ และโอกาสการติดต่อเป็นอย่างไร ให้ระมัดระวัง ถ้าสามารถเฝ้าระวังได้ว่า ไม่มีการเอานกแก้วที่เป็นแหล่งแพร่เข้ามาก็น่าจะเป็นการป้องกันได้ ถ้ามีอาการแล้วต้องดำเนินการอย่างไร เข้าสู่ระบบการรักษาอย่างไร อย่างไรก็ตาม แม้โรคนี้จะยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่สามารถป้องกันเบื้องต้นได้ โดยเลือกซื้อนกเลี้ยงจากร้านขายสัตว์เลี้ยงที่น่าเชื่อถือและมีสุขอนามัยที่ดี ผู้เลี้ยงต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันการติดเชื้อในนก เช่น การรักษาความสะอาด ไม่ให้นกอยู่กันอย่างแออัด แยกสัตว์ป่วยออกจากสัตว์ปกติ เป็นต้น ส่วนประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงใกล้ชิดกับสัตว์ป่วย หากจำเป็นต้องสัมผัสต้องป้องกันตนเอง สวมถุงมือ และหมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ บุคลากรที่มีความเสี่ยงในการสัมผัสใกล้ชิดกับนก ต้องหมั่นคอยสังเกตอาการตนเองและอาการของสัตว์อยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติ ให้รีบปรึกษาแพทย์และแจ้งประวัติเสี่ยง