มติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ปรับสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบ 2 พิจารณาตามรายพื้นที่และประเภทกิจการ สภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เห็นชอบ 10 จังหวัดพื้นที่ท่องเที่ยว ส่วนจะเพิ่มถึง 400 บาทหรือไม่ต้องดูเหตุผลเหมาะสม
เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 2/2567 ว่า การประชุมคณะกรรมการค่าจ้างฯ วันนี้มีมติให้มีการปรับสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ โดยคำนวณตามรายพื้นที่และประเภทกิจการ ซึ่งต้องพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันรวมถึงอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้ 10 จังหวัดพื้นที่ท่องเที่ยว ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ สงขลา พังงา ประจวบคีรีขันธ์และระยอง ยกตัวอย่างพื้นที่ กทม. ในเขตปทุมวัน เขตสาทร จ.พังงา ในพื้นที่ อ.เขาหลัก จ.สงขลา อ.หาดใหญ่ หรือ จ.ชลบุรี ใน ต.แสนสุข โดยให้สำรวจอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ตามมาตรฐาน ค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจำเป็นของลูกจ้าง และข้อเท็จจริงของสังคมเศรษฐกิจ ตลอดจนความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก (SME)
พร้อมกันนี้ ให้ทางอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด สำรวจในจังหวัดของตนเองว่ามีพื้นที่ใดที่ควรได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และควรปรับเพิ่มในอัตราเท่าไหร่ โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ จากนั้นให้ส่งผลการสำรวจกลับเข้าที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างฯ ในวันที่ 26 มี.ค.นี้
นายไพโรจน์กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าการพิจารณาสูตรค่าจ้างครั้งนี้ เป็นมิติใหม่ของการคิดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยครั้งนี้มีการคำนวณจากรายพื้นที่หรือคิดตามประเภทกิจการ อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างครั้งนี้จะพยายามทำให้เสร็จตามไทม์ไลน์ คือประกาศใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ในเดือนเมษายน
เมื่อถามว่ามีพื้นที่เป้าหมายใน 10 จังหวัดเท่านั้นหรือไม่ที่จะได้รับการปรับค่าจ้างครั้งที่ 2 ในเดือนเม.ย.นี้ นายไพโรจน์กล่าวว่า ก็จะเป็นแนวทางนี้แต่อาจจะมากกว่านี้หรือไม่ก็ต้องดูการพิจารณาของ 10 จังหวัดนี้ก่อน ส่วนจะได้ถึง 400 บาทต่อวันหรือไม่นั้น เราจะพยายามทำให้ดีที่สุดแต่ไม่ขอพูดไปก่อน ซึ่งจะต้องทำตามข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการสำรวจ ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่มีแรงกดดันจากรัฐบาลแต่อย่างใด พร้อมย้ำว่า การพิจารณาครั้งนี้มีการระดมสมองจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
ด้าน นายอรรถยุทธ ลียะวณิช ผู้แทนฝ่ายนายจ้างในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 กล่าวว่า วันนี้เป็นการพิจารณาพิจารณาสูตรใช้ในปี 2567 ซึ่งมีการปรับสูตรมาโดยตลอด จนวันนี้อนุการพิจารณามื้อเช้าได้สูตรใหม่ขึ้นมาซึ่งปรับปรุงให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่ายมากขึ้น เพื่อที่จะใช้ในปี 2567 นี้
เมื่อถามว่า หากจะต้องมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้ถึง 400 บาทจะต้องมีการเพิ่มอย่างน้อย 30 บาท ทางฝ่ายนายจ้างมีความเห็นเรื่องนี้อย่างไร นายอรรถยุทธ กล่าวว่าการจะปรับขึ้นจะต้องมีเหตุและผล โดยปกติจะมีการปรับขึ้นปีละ 1 ครั้ง นอกจากมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นเช่นเงินเฟ้อขึ้นมากกว่า 5% และเป็นข้อมูลที่ทางจังหวัดส่งเข้ามาว่าควรจะปรับหรือไม่ ดังนั้นหากมีเหตุปัจจัย ที่สามารถทำให้ค่าจ้างขึ้นเราก็รับได้ ซึ่งตั้งแต่ที่ตนอยู่ในคณะกรรมการค่าจ้างก็ยอมรับการปรับค่าจ้างถ้ามีเหตุและผล ทั้งนี้ หากมีการปรับค่าจ้างขึ้นถึงวันละ 400 บาทนั้น ทางธุรกิจเอสเอ็มอี ก็มีความกังวลอยู่ แต่การจะขึ้นหรือไม่ขึ้นนั้น ก็ต้องมีเหตุปัจจัยว่าสามารถทำได้หรือไม่
ขณะที่ นายวีรสุข แก้วบุญปัน ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 กล่าวว่า จากการพิจารณาหลักสูตรค่าจ้างรอบนี้ ถือว่ามีความเป็นธรรมกับท่านนายจ้างและลูกจ้าง ครั้งแรก ที่มีการจัดพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่ได้เท่ากันทั้งจังหวัด.
- 983 views