ปลัดสธ. เผยความก้าวหน้าโครงการดูแลสุขภาพพระสงฆ์และผู้นำศาสนา คัดกรองสุขภาพเบื้องต้น 42,536 รูป พบมีความเสี่ยง 21% และป่วย 12% เดินหน้าตรวจคัดกรองตามเป้าหมาย 72,000 รูปภายในเดือนก.ค.67 พร้อมส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพให้เป็นผู้นำสุขภาพประจำศาสนสถาน และจิตอาสาประจำอำเภอสร้างเสริมสุขภาพ
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินโครงการถวายการดูแลสุขภาพให้กับพระภิกษุสงฆ์ สามเณรและผู้นำทางศาสนา 72,000 รูป/ท่าน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ว่า โครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพื่อค้นหาความเสี่ยงและลดความรุนแรงของโรคในพระสงฆ์ สามเณรและผู้นำทางศาสนา ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้นำศาสนาเป็นผู้นำด้านสุขภาพ เป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นที่พึ่งของชุมชนและสังคม ประกอบด้วยกิจกรรมย่อย 4 กิจกรรม ซึ่งข้อมูลล่าสุด วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 มีผลการดำเนินงาน ดังนี้
กิจกรรมที่ 1 พัฒนาผู้นำด้านสุขภาพประจำศาสนสถาน 1 ตำบล 1 ผู้นำด้านสุขภาพ มีกรมอนามัยรับผิดชอบ ตั้งเป้า 2,400 ตำบล ดำเนินการแล้ว 2,007 ตำบล คิดเป็น 83.6% มีผู้นำด้านสุขภาพจำนวนทั้งสิ้น 4,725 รูป/ท่าน และยังจัดอบรมพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพสำหรับพระคิลานุปัฎฐาก 500 รูป/ท่าน
กิจกรรมที่ 2 จิตอาสาสร้างเสริมสุขภาพ 1 อำเภอ 10 กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ มีกรมควบคุมโรครับผิดชอบ ตั้งเป้า 305 อำเภอ ดำเนินการแล้ว 80 อำเภอ คิดเป็น 26.2% โดยใช้หลักการ “1 ปลอด, 2 กําจัด, 3 ถวาย/มอบ, 4 ส.” คือ เขตวัดปลอดบุหรี่และปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, กําจัดลูกน้ำยุงลาย ป้องกันโรคไข้เลือดออก/มาลาเรีย กําจัดขยะ หนู และแมลงวันป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ, ถวายอาหารลดเกลือ/ไม่เค็ม ถวายอาหารสุก ร้อน สะอาด ปราศจากโรคภัย และถวาย/มอบวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่, สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ส่งเสริมสุขภาพจิต ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย สํารวจสุนัข/แมว เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์
กิจกรรมที่ 3 ตรวจสุขภาพพระภิกษุ สามเณรและผู้นำศาสนา มีสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ รับผิดชอบ ตั้งเป้าตรวจคัดกรองสุขภาพ 72,000 รูป/ท่าน กำหนดแนวทางดำเนินงาน 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ตรวจคัดกรองสุขภาพ 4 แพ็คเกจ ประกอบด้วย โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) สุขภาพจิต ภาวะเสื่อมถอยผู้สุงอายุ และสุขภาพช่องปาก และสามารถเพิ่มเติมการตรวจอื่นๆ ได้ตามความเหมาะสมของบริบทพื้นที่ ระยะที่ 2 ติดตามดูแลต่อเนื่อง Home Visit เยี่ยมทุก 3-6 เดือน และระยะที่ 3 ขยายพื้นที่การดำเนินงานนอกอำเภอที่ตั้งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่ง โดยจากการตรวจคัดกรองไปแล้ว 42,536 รูป/ท่าน คิดเป็น 59.1% พบพระภิกษุ สามเณรและผู้นำศาสนาที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 21% และกลุ่มป่วย 12% ซึ่งได้ส่งต่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว
กิจกรรมที่ 4 พัฒนาโรงพยาบาลจัดบริการสำหรับพระสงฆ์อาพาธที่เอื้อต่อพระธรรมวินัย มีกรมการแพทย์รับผิดชอบ นำร่องในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่ง ได้ดำเนินการครบทุกแห่งแล้ว โดยผ่านเกณฑ์การประเมินระดับดีเยี่ยม 9 แห่ง และระดับดีมาก 12 แห่ง ซึ่งจะมีการตรวจประเมินมาตรฐานซ้ำทุก 3 ปี พร้อมจัดทำคู่มือมาตรฐานการประเมินให้เขตสุขภาพนำไปใช้ในการประเมินตนเอง ส่วนโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่เหลือจะดำเนินการประเมินให้ครอบคลุมทุกแห่งภายในปี 2568
- 249 views