รมว.สาธารณสุข หารือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานพระพุทธศาสนา  เดินหน้าดูแลส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ หลังพบยังอาพาธด้วยโรคไม่ติดเรื้อรังสูง เตรียมจัดโครงการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ 72,000 รูป เทิดพระเกียรติในหลวง 72 พรรษา จัดตั้งกุฏิชีวาภิบาลอำเภอละ 1 แห่ง อบรมพระคิลานุปัฏฐาก 420 ชั่วโมง เป็น Care Giver ดูแลพระสงฆ์อาพาธติดเตียง พร้อมคิกออฟเชื่อมโยงระบบข้อมูลสิทธิการรักษา 5 ธ.ค.นี้

 

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน  ที่กระทรวงสาธารณสุข   นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นางพวงเพ็ชร ขุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ประชุมปรึกษาหารือพระคิลานุปัฏฐาก (พระอาสาสมัครอาสาธารณสุขประจำวัด หรือพระ อสว.) โครงการดูแลพระสงฆ์ สามเณร ผู้นำทางศาสนา

สำรวจสุขภาพระสงฆ์พบไขมันในเลือดผิดปกติ 55.4% อ้วน 44.3%

นพ.ชลน่านกล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายยกระดับ 30 บาท เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยดูแลสุขภาพทุกมิติ ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การดูแลรักษา และการฟื้นฟูสภาพร่างกาย โดยเฉพาะกลุ่มพระสงฆ์ต้องมุ่งส่งเสริมให้มีความรู้ความเข้าใจ และมีทักษะในการดูแลสุขภาพอนามัยตามหลักพระธรรมวินัย เนื่องจากรายงานการตรวจสุขภาพพระภิกษุ-สามเณรในกรุงเทพมหานคร ปี 2566 จำนวน 1,518 รูป พบมีไขมันในเลือดผิดปกติ 55.4% มีภาวะอ้วน 44.3% ความดันโลหิตสูง 18.5% ภาวะเสี่ยงอ้วน 17.3% และระดับน้ำตาลในเลือดสูง 15.6% และรายงานของโรงพยาบาลสงฆ์ ปีงบประมาณ 2566 พบว่า พระสงฆ์อาพาธเข้ารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกด้วยโรคไตเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต่อมลูกหมากโต และเข่าเสื่อม ส่วนผู้ป่วยในคือ ความดันโลหิตสูง การสูญเสียการเห็นปานกลาง-ข้างเดียว เบาหวานชนิดที่ 2 ต้อกระจกในผู้สูงอายุ และต่อมลูกหมากโต 

หนุนวัดส่งเสริมสุขภาพ 'พระคิลานุปัฎฐาก' ดูแลพระอาพาธ

นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า การอาพาธของพระภิกษุสงฆ์มีสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมสุขภาพ ทั้งการฉันอาหารที่ได้รับถวายจากญาติโยมที่ส่วนใหญ่หวานมันเค็มสูง ขาดผักและผลไม้ ฉันเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง และขาดการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำ “โครงการพระคิลานุปัฏฐาก” คือ ผู้ปฏิบัติดูแลพระสงฆ์อาพาธ รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การควบคุมโรคและการจัดการปัจจัยที่คุกคามสุขภาพพระสงฆ์ ตามธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ พ.ศ. 2560 ส่งผลให้ปี 2566 เกิดวัดส่งเสริมสุขภาพ 18,171 แห่ง มีพระคิลานุปัฏฐาก 13,114 รูป พระสงฆ์มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์เพิ่มมากขึ้น อันดับหนึ่งคือ การแปรงฟัน ร้อยละ 90.57 รองลงมาคือ ไม่ฉันเครื่องดื่มน้ำอัดลม ร้อยละ 89.06 และไม่ฉันเครื่องดื่มชูกำลัง ร้อยละ 87.12 ส่วนพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์และยังต้องส่งเสริมเพิ่มเติม อันดับหนึ่งคือ การฉันผักและผลไม้สด ร้อยละ  49.75 รองลงมาคือ การนอนหลับ ร้อยละ 39.12 และไม่ฉันเครื่องดื่มชา/กาแฟ ร้อยละ  36.29

6 โครงการดูแลพระสงฆ์

นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า ข้อสรุปจากการหารือในที่ประชุมในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ คือ 1.โครงการอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการสังฆาภิบาลเพื่อพระสงฆ์อาพาธ จะทำเป็นโครงการเทิดพระเกียรติในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ซึ่งสอดรับกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องโครงการเฉลิมพระเกียรติและโครงการในพระราชดำริฯ โดยจะดูแลสุขภาพพระสงฆ์ 72,000 รูป ในทุกมิติ มีโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเป็นฐาน และ พศ.ดูแลเรื่องเบิกค่าใช้จ่าย

2.การจัดทำวัดส่งเสริมสุขภาพและพระนักเทศน์ โดยให้วัดเป็นแหล่งสร้างองค์ความรู้ด้านสุขภาพ และพระนักเทศน์ให้องค์ความรู้สุขภาพแก่ประชาชน โดยทำหลักสูตรอบรม 1 วัด 1 รูป

3.การจัดทำระบบรักษาพระสงฆ์ที่คำนึงถึงพระธรรมวินัย เช่น การจัดอาคารสงฆ์อาพาธต่างๆ โดยดำเนินการในโรงพยาบาลที่มีความพร้อม

4.กุฏิชีวาภิบาล ดูแลพระสงฆ์อาพาธที่ติดเตียงหรือระยะสุดท้าย สอดรับกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขเรื่องสถานชีวาภิบาล โดยตั้งเป้าหมายเริ่มแรกอย่างน้อย 1 อำเภอ 1 วัด

5.จัดอบรมพระคิลานุปัฏฐาก เป็นผู้ดูแลพระสงฆ์อาพาธเสมือนเป็น อสม. ซึ่งที่ผ่านมามีการอบรม 70-75 ชั่วโมง จะปรับหลักสูตรเป็นอบรม 420 ชั่วโมง ให้เป็นผู้บริบาลพระสงฆ์ติดเตียงหรือ Care Giver ถือเป็นวิชาชีพ มีฐานค่าใช้จ่ายรองรับและมีการใช้ระบบเทเลเมดิซีนเข้าไปดูแล

6.การเข้าถึงบริการของพระสงฆ์ พศ.จะปรับข้อมูล Big Data เชื่อมโยงทั้งหมดเข้าสู่การดูแล จะมีการคิกออฟในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ เนื่องจากข้อมูลของ สปสช.ปัจจุบันมีพระสงฆ์ทั้งหมด 2.8 แสนรูป แต่อยู่ในทะเบียนระบบใช้สิทธิประมาณ 1 แสนกว่ารูป และหลายรูปไม่มีบัตรประชาชน โดยส่วนใหญ่จะแสดงหนังสือสุทธิของพระ จึงต้องเร่งเชื่อมข้อมูลระบบสุขภาพตามนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ให้พระสงฆ์ได้รับการรักษาทุกที่เช่นกันตามที่กฎหมายบัญญัติ และ 7.การดูแลพระสงฆ์ที่ไปในดินแดนพุทธภูมิและผู้ที่ไปแสวงบุญ เดิมกรมการแพทย์ดูแล จะเพิ่มกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อใช้การแพทย์ทางเลือกในการดูแลด้วย